posttoday

สปสช.จับมือไปรษณีย์ส่งยาถึงมือผู้ป่วย ขยายโครงการรับยาใกล้บ้าน

21 เมษายน 2563

บอร์ดสปสช.เห็นชอบ 7 มาตรการเชิงรุกป้องกันเชื้อโควิด-19 ร่วมกับไปรษณีย์ไทยส่งยาให้ผู้ป่วยถึงบ้าน พร้อมขยายโครงการรับยาใกล้บ้าน

เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 63 นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด สปสช. ได้เห็นชอบ 7 มาตรการเชิงรุก ในการควบคุมและป้องกันการติดเชื้อ โควิด-19 ดังนี้

1.ร่วมกับไปรษณีย์ไทย ในการส่งยาให้ผู้ป่วยทางไปรษณีย์ ใช้งบกองทุนบัตรทองปี 63 อัตราไม่เกิน 50 บาท/ครั้ง มีหน่วยบริการเข้าร่วม 349 แห่งทั่วประเทศ

2.ขยายโครงการรับยาใกล้บ้าน เพิ่มระบบ โรงพยาบาลจัดสำรองยาที่ร้านยา/ระบบเติมยาให้ผู้ป่วยที่ร้านยา ซึ่งขณะนี้มีร้านยาเข้าร่วมโครงการ 1,071 ร้าน เป็นร้านที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน มีเภสัชกรประจำร้านยา 8 ชั่วโมงขึ้นไป

3.ผู้ป่วยเรื้อรังรับยาหรือบริการทางการแพทย์ที่จำเป็นนอกหน่วยบริการประจำได้ ถือเป็นกรณีฉุกเฉินภายใต้สถานการณ์โรคระบาด

4.จ่ายชดเชยค่าบริการกรณีโรคโควิด-19 ให้หน่วยบริการนอกระบบบัตรทอง ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตราย ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อกรณีโรคติดเชื้อโควิด

5.จ่ายชดเชยค่าบริการกรณีโควิด-19 โรงพยาบาลสนาม/หน่วยงานอื่นที่ผ่านการรับรองเกณฑ์ประเมิน และขึ้นนทะเบียนเป็นหน่วยบริการที่รับส่งต่อเฉพาะ

สปสช.มีมาตรฐานเดียวกันในการจ่ายเงินชดเชยให้ โรงพยาบาลเอกชน และ โรงพยาบาลรัฐจากการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในราคา 3,000 บาท/เคส

6.เสนอแก้ไขประกาศ สธ.เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การรับเงิน การจ่ายเงิน การรักษาเงิน และรายการของค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องฯ พ.ศ.2559 ให้รายการค่าใช้จ่ายชดเชยค่าเสื่อมสิ่งก่อสร้าง/ครุภัณฑ์ ปีงบ 2563 ใช้ชื่อครุภัณฑ์ใหม่กรณีโควิด-19 ได้ และเพิ่มอัตราจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผูให้บริการที่ได้รับความเสียหายกรณีโควิด-19 เป็น 2 เท่าจากเดิม

7.มอบเลขาธิการ สปสช.และประธานบอร์ด สปสช.พิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข อัตราค่าใช้จ่าย และการจ่ายค่าใช้จ่ายให้แก่หน่วยบริการ เพื่อทันต่อสถานการณ์แพร่ระบาด

ส่วนการคัดกรองผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามสิทธิประโยชน์กองทุนบัตรทองที่ให้กับคนไทยทุกคน ที่ผ่านมา สปสช.ได้เพิ่ม"หน่วยบริการเอกชนร่วมคัดกรองเชิงรุกในชุมชน" ตามประกาศเรื่องแนวทางการให้บริการตรวจคัดกรองและตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) นอกสถานพยาบาล

โดยสปสช.ได้ขึ้นทะเบียนหน่วยแล็บโควิด-19 จำนวน 92 แห่ง แบ่งเป็นหน่วยแล็บของรัฐ 74 แห่ง และหน่วยแล็บของเอกชน 18 แห่ง หน่วยบริการส่งเบิกค่าตรวจคัดกรองแล้ว 16 แห่ง เป็นการเบิกจ่ายค่าตรวจจำนวน 3,100 ราย 3,147 ครั้ง เป็นเงิน 7,989,500 บาท