posttoday

คนแห่โทรปรึกษาเลิกเหล้าอื้อ หลังสั่งห้ามขายสุราช่วงโควิด

21 เมษายน 2563

ผอ.ศูนย์ปรึกษาปัญหาสุรา เผยคนแห่โทรปรึกษาเลิกเหล้าช่วงโควิด เกือบเท่าช่วงรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา ด้านรองผอ.รพ.น่าน เผยตัวเลขผู้ป่วยภาวะถอนพิษสุราน้อยกว่าที่คาด

เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 63 พ.อ.(พิเศษ) นพ.พิชัย แสงชาญชัย ผู้อำนวยการศูนย์ปรึกษาปัญหาสุรา 1413 สายด่วนเลิกเหล้า สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในช่วงที่มีการประกาศภาวะฉุกเฉินและมีการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า มีประชาชนโทรเข้ามาขอรับคำปรึกษาเพื่อให้สามารถหยุดการดื่มได้อย่างปลอดภัยจำนวนมาก โดยเกือบเท่ากับช่วงที่ สสส. มีการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาตลอด 3 เดือน

โดยภาวะการติดเหล้า จะมีข้อบ่งชี้ 7 ข้อ คือ 1.มีภาวะดื้อแอลกอฮอล์ ต้องดื่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้เมาเท่าเดิม 2.มีภาวะถอนแอลกอฮอล์หลังงดดื่มหรือลดการดื่มลง 3.ดื่มมากกว่าหรือนานกว่าที่ตั้งใจไว้ 4.พยายามลดลงหรือเลิกดื่มแต่ก็ไม่สำเร็จ 5.หมกมุ่นและใช้เวลาหมดไปกับการดื่ม 6.เสียงานเสียการเนื่องจากปัญหาการดื่ม 7.ยังคงดื่มอยู่ แม้ว่าเกิดผลกระทบอย่างมากแล้ว

“หากใครที่มีอาหาร 3 ข้อขึ้นไป จาก 7 ข้อ เรียกว่าอยู่ในภาวะติดเหล้า หากหยุดหรือลดการดื่มกะทันหัน บางรายอาจมีภาวะถอนแอลกอฮอล์ที่รุนแรงตามมา ระดับความรุนแรงหลังการหยุดดื่มขึ้นอยู่กับปริมาณและความยาวนานของการดื่มในอดีตที่ผ่านมา ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการเลิกดื่ม หรือมีภาวะถอนแอลกอฮอล์ สามารถโทรปรึกษาได้ที่ 1413 สายด่วนเลิกเหล้า หรือ Line ID: 1413helpline หรือ facebook fanpage: ศูนย์ปรึกษาปัญหาสุรา Alcohol Help Center จะมีผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาการดูแลตัวเองในเบื้องต้น และให้คำปรึกษาการส่งต่อไปยังสถานพยาบาล เพื่อหยุดดื่มอย่างปลอดภัย การให้คำปรึกษาเหมือนเป็นการให้กำลังใจ สร้างพลังให้ผู้ที่อยากเปลี่ยนแปลงตัวเองทำได้สำเร็จจริงๆ” ผู้อำนวยการศูนย์ปรึกษาปัญหาสุรา กล่าว

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน เปิดเผยถึงมาตรการควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ว่า สถานการณ์ผู้ที่มีปัญหาจากการดื่มสุราในประเทศไทย คาดว่ามีจำนวน 1,800,000 คน โดยการประกาศห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วประเทศ จะส่งผลให้คนที่มีปัญหาจากการดื่มประมาณ 2% หรือ 36,000 คนทั่วประเทศ จะได้รับผลกระทบเนื่องจากอาจเกิดอาการถอนแอลกอฮอล์หรืออาการลงแดงจากการขาดสุรา ซึ่งกลุ่มนี้จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่พบว่า หลังจากประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า จำนวนผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้

นพ.พงศ์เทพ กล่าวว่า ในจังหวัดน่าน ประเมินว่าจะมีผู้เข้ารับการรักษา 259 คน แต่จากการเก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 9 -16 เมษายนที่ผ่านมา มีผู้ป่วยภาวะถอนพิษสุราเข้ารักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งในจังหวัดน่าน 40 คน โดยเป็นผู้ป่วยที่รักษาแบบนอนค้าง 18 คน และรักษาแบบผู้ป่วยนอก 22 คน โดยรับไว้รักษาที่โรงพยาบาลน่าน 5 คน และโรงพยาบาลชุมชนแห่งละ 1-4 คน

ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการถอนพิษสุราหลังจากหยุดดื่ม 2-3 วัน อาการจะมีตั้งแต่ อาการมือสั่น หงุดหงิด จนถึงอาการประสาทหลอนและชักเกร็ง แต่อาการดังกล่าวสามารถควบคุมได้ด้วยยา ซึ่งขณะนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการดีขึ้น รู้ตัวและพูดคุยได้ บางรายกลับบ้านไปแล้ว

ทั้งนี้ สาเหตุที่มีผู้ป่วยน้อยกว่าคาดการณ์เนื่องจากทีมจิตแพทย์โรงพยาบาลน่าน ได้ค้นหาผู้ป่วยพิษสุราเรื้อรังที่เคยเข้ารักษาในโรงพยาบาลมา และกระจายให้พยาบาลจิตเวชชุมชนทุกอำเภอ โทรศัพท์ติดตามผ่านโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และอสม. ในพื้นที่ หากผู้ป่วยเริ่มมีอาการนอนไม่หลับ มือสั่นให้มารับยาที่โรงพยาบาลทันที ซึ่งระบบลักษณะนี้โรงพยาบาลทุกแห่งในกระทรวงสาธารณสุขได้วางเครือข่ายสุขภาพในทุกชุมชนอยู่แล้ว

“มาตรการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีข้อดีที่สำคัญคือ อุบัติเหตุทางถนนในจังหวัดน่านลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วมีผู้ป่วยที่นอนรักษาที่โรงพยาบาล 65 ราย เหลือ 15 รายในปีนี้ ซึ่งลดลง 76.9% ผู้เสียชีวิตลดลงจาก 5 ราย เหลือเพียง 1 ราย ลดลง 80% และไม่มีผู้ป่วยอุบัติเหตุที่ต้องใส่ท่อช่วยใจ ซึ่งเท่ากับช่วยเก็บเครื่องช่วยหายใจไว้ในกรณีที่มีผู้ป่วยโควิดได้ ซึ่งตนขอสนับสนุนให้เทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ในปีต่อไป ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะช่วยให้คนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุน้อยลงได้ ตามคำกล่าว พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ว่าสุขภาพนำเสรีภาพ” นพ.พงศ์เทพ กล่าว

ด้านนพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีว่าที่ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดพร้อมใจกันห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ส่งผลให้สามารถช่วยชีวิตคนให้รอดจากอุบัติเหตุทางถนนได้ประมาณ 300 กว่าคน และที่สำคัญสามารถลดเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่แล้วเมาแล้วขับจากปีแล้ว 20.0% เหลือเพียง 5.5% ในปีนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่ครอบครัวและชุมชนได้ช่วยบุคคลอันเป็นที่รักได้เข้าสู่ระบบการบำบัดรักษาดีกว่ารอให้เจ็บป่วยจากโรคตับแข็ง เลือดออกในทางเดินอาหาร หรือเป็นมะเร็งตับแล้วค่อยมารักษา

ทั้งนี้ สสส. มูลนิธิเมาไม่ขับ ภาคีเครือข่ายที่ทำงานรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนน ตลอดจนหมอและบุคลากรทางการแพทย์จะได้นำประเด็นเรื่องการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไปศึกษาเพื่อถอดบทเรียน เสนอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา เป็นนโยบายสำคัญเพื่อลดการเสียชีวิตและบาดเจ็บของประชาชนจากสาเหตุการดื่มแล้วขับให้เป็นรูปธรรมต่อไป