posttoday

สธ.เตรียมออกมาตรการความปลอดภัย ก่อนชงปลดล็อคบางกิจกรรม นำร่องใน3-4จังหวัด

20 เมษายน 2563

สธ.เตรียมออกมาตรการคุ้มครองด้านความปลอดภัยป้องกันโควิดแพร่ระบาด ก่อนเสนอปลดล็อคกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่ำนำร่องใน 3-4 จังหวัดที่ไม่มีการแพร่เชื้อในรอบ 2 สัปดาห์

เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 63 นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ อดีตนายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค ในฐานะที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตรียมออกมาตรการคุ้มครองด้านความปลอดภัยเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก่อนเสนอปลดล็อคกิจกรรมบางส่วนโดยเฉพาะที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยอาจจะทดลองนำร่องตั้งแต่ปลายเดือน เม.ย.ใน 3-4 จังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อ

ขณะนี้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กำลังร่วมกันวางแผนที่จะหาแนวทางในการเปลี่ยนผ่านหลังสถานการณ์คลี่คลาย

"การเปลี่ยนผ่านแบบระมัดระวัง ไม่ฉับไว พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ จนทำให้เกิดการแพร่ระบาดระลอกที่สอง ระลอกที่สาม ทำให้เกิดความสมดุลในการดำรงชีวิตและการดำเนินธุรกิจ แต่คงไม่สามารถกลับไปเหมือนเดิมทุกอย่าง เช่น จะไปนั่งรอตัดผมเหมือนเดิมไม่ได้ ต้องโทรจอง หรือการนัดกินข้าวร่วมกันเป็นสิบคน" นพ.คำนวณ กล่าว

นพ.คำนวณ ขณะนี้ภาคธุรกิจกำลังร่วมกันประเมินสถานการณ์ว่ามีกิจการใดที่มีความเสี่ยงสูงหรือเสี่ยงต่ำ เพื่อดำเนินแก้ไขก่อนที่จะมีมาตรการผ่อนคลาย สำหรับกิจการที่มีความเสี่ยงต่ำ ยกตัวอย่าง ร้านอาหาร ร้านตัดผม สวนสาธารณะ

ส่วนกิจการที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งอาจต้องปิดยาว คือ สถานบันเทิง ผับ คลับ บาร์ คาราโอเกะ สถานประกอบการที่มีกิจกรรมทางเพศทั้งทางตรงทางอ้อม รวมถึงสถานเล่นพนัน สนามมวย สนามบอล และสถานที่ที่มีความคับแคบแออัด

การผ่อนคลายมาตรการจะพิจารณาจากจังหวัดที่มีสถานการณ์คลี่คลายก่อน เริ่มจากกลุ่มแรก 32 จังหวัดที่ไม่มีการแพร่เชื้อในรอบ 2 สัปดาห์ โดยจะดำเนินการเป็นการนำร่อง 3-4 จังหวัดในช่วงปลายเดือน เม.ย.

หลังจากนั้น 2 สัปดาห์จะดำเนินการกับกลุ่มต่อมาอีก 38 จังหวัดที่มีการติดเชื้อประปรายในช่วงกลางเดือน พ.ค. และที่เหลืออีกจะผ่อนปรนมาตรการในช่วงต้นเดือน มิ.ย.

หลักเกณฑ์การพิจารณาผ่อนคลายมาตรการนั้นจะดูจากองค์ประกอบหลายอย่างเช่น ความหนาแน่นของคน เพราะหากมีความหนาแน่นมากก็จะมีความเสี่ยงสูง, กิจกรรมที่มีคนเข้าไปตะโกนเชียร์ที่ทำให้มีการแพร่กระจายเชื้อจากสารคัดหลั่ง, สถานที่ที่มีความแออัด คับแคบ อากาศถ่ายเทไม่ดี และการจัดระยะห่างทางสังคม ทั้งนี้ภาคธุรกิจจะไปพิจารณาแนวทางแก้ไข หากกิจกรรมใดที่มีความเสี่ยงสูงก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

"ทุกขณะจะมีการเฝ้าระวังอย่างเรียลไทม์ทันเหตุการณ์ ในระดับประเทศ จังหวัด อำเภอ เพื่อให้รู้ว่าสถานการณ์เป็นอย่างไรบ้าง ถ้าเมื่อไหร่สถานการณ์ปกติก็จะเดินหน้าไป แต่ถ้าเมื่อไหร่สถานการณ์ไม่ดีก็จะมีการเตือน ชะลอ ไม่ใช่จะเดินหน้าต่อไป ถ้ามีอันตรายก็จะหยุด หรือถอยกลับมาให้คนระมัดระวังตัวอยู่กับบ้าน ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัด"

นพ.คำนวณ กล่าวว่า จากการประชุมร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ/นักวิชาการ จากใน-นอกกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งผู้แทนคณบดีจากคณะแพทย์ ทุกฝ่ายเห็นตรงว่าควรมีการเปลี่ยนผ่านจากวิกฤตโควิด-19 ในปัจจุบัน ไปสู่มาตรการสร้างความสมดุลทางการประกอบอาชีพและความปลอดภัยในการใช้ชีวิต โดยมีเงื่อนไขที่สำคัญ คือ

1. หน่วยงานด้านสาธารณสุข ต้องเพิ่มความเข้มข้นมาตรการตรวจคัดกรองคนติดเชื้อในประเทศ เข้มงวดกับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ มีการกักเฝ้าสังเกตอาการ 14 วันในสถานที่ที่กำหนด การค้นหาผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยงเพิ่มเติม เช่น ในชุมชนแออัด

2. คนไทยทุกคน ทุกชุมชน ทุกสังคม ต้องร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการสุขลักษณะ ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเมื่อออกจากบ้าน การมีระยะห่างทางกาย งดการชุมนุม กลุ่มเสี่ยงยังควรหลีกเลี่ยงการออกจากบ้าน

3. ภาคธุรกิจ ต้องประเมินความเสี่ยง และปรับการดำเนินการให้มีความเสี่ยงต่ำ เช่น มาตรการตรวจวัดไข้ เว้นระยะห่างทางกาย การทำความสะอาดมือ การลดจำนวนผู้คนที่มาติดต่อใช้บริการ

4. การปิดบริการหรือกิจการที่มีความเสี่ยงสูง เป็นแหล่งแพร่ระบาดได้แก่ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานบริการทางเพศทั้งตรงและแฝง สนามการพนัน ต้องปิดในระยะยาว สำหรับการปิดกิจการในอนาคต ควรใช้วิธีปิดแบบจำเพาะที่เป็นปัญหา และคงความเข้มข้นของการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด

5. มีระบบเฝ้าระวังตรวจจับและคาดการณ์ความรวดเร็วของการแพร่ระบาดในระดับพื้นที่และระดับประเทศ เป็นการเตือนและเพิ่มมาตรการหรือผ่อนคลายมาตรการตามบริบทของแต่ละจังหวัดและมีการเฝ้าระวังโดยภาคประชาชน อสม. ซึ่งทั้งหมดเป็นเพียงมาตรการเบื้องต้นที่สามารถปรับได้