posttoday

เผยงานวิจัยสธ.อังกฤษ ชี้ ความกลัวแบบผิดๆ ทำให้ผู้สูบบุหรี่ไม่เปลี่ยนไปใช้บุหรี่ไฟฟ้า

13 มีนาคม 2563

เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า เผย สาธารณสุขอังกฤษ ออกรายงานการศึกษาล่าสุด ยืนยัน บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่เผาไหม้ ไม่มีหลักฐานใดแสดงว่าการได้รับละอองบุหรี่ไฟฟ้าก่อให้เกิดอันตรายอย่างรุนแรง และระบุว่าคนอังกฤษจำนวนมากยังมีความกลัวที่ผิดๆ เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า

นายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า “กลุ่มลาขาดควันยาสูบ (ECST)” เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขอังกฤษ (Public Health England) ได้ออกรายงานการศึกษาล่าสุดชื่อ “Vaping in England: 2020 evidence update” ซึ่งเป็นการศึกษาล่าสุดเกี่ยวกับการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศอังกฤษซึ่งยังคงยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่เผาไหม้ “รายงานวิจัยนี้ระบุว่าการใช้อุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้าแบบมีนิโคตินที่มีการควบคุมอย่างเหมาะสม มีความเสี่ยงเพียงเสี้ยวเดียวเมื่อเทียบกับการสูบบุหรี่มวน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าปลอดภัย 100% และผู้สูบบุหรี่ควรจะได้รับการส่งเสริมให้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าแบบมีนิโคตินร่วมกับการได้รับการรักษาตามขั้นตอนกระบวนการเลิกบุหรี่และการรักษาเชิงพฤติกรรม ซึ่งจะช่วยเพิ่มอัตราการเลิกบุหรี่ให้กับพวกเขาเหล่านั้นได้เป็นอย่างมาก” นายมาริษ กล่าว

ประเทศอังกฤษถือเป็นประเทศชั้นนำที่มีมาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพและรัฐบาลอังกฤษได้มีการรณรงค์ส่งเสริมให้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นตัวช่วยเลิกบุหรี่มวน ทำให้ประเทศอังกฤษมีอัตราการสูบบุหรี่มวนลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์และยังมีแนวโน้มที่จะลงลดอย่างต่อเนื่องมาตลอด ล่าสุด สาธารณสุขอังกฤษยังได้ออกคำแนะนำแก่หน่วยบริการสุขภาพจิต ระบุให้สนับสนุนให้ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษาใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อการเลิกบุหรี่ รวมถึงกำหนดพื้นที่บางส่วนในสถานบริการให้เป็นพื้นที่สำหรับการใช้บุหรี่ไฟฟ้า

นอกจากนี้การศึกษาของสาธารณสุขอังกฤษนี้ ยืนยันว่าอัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ในขณะที่ผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่หันมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นตัวช่วยเลิกบุหรี่กันมากขึ้น ทำให้อัตราการสูบบุหรี่ในอังกฤษลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นประวัติการณ์ (14.4%) ซึ่งตรงข้ามกับสิ่งที่ศจย.พยายามนำเสนอมาตลอดว่าบุหรี่ไฟฟ้าล่อลวงเด็กและเยาวชน และบุหรี่ไฟฟ้าไม่ช่วยให้เลิกบุหรี่มวน

นายมาริษ กล่าวอีกว่า กว่าครึ่งของผู้สูบบุหรี่ในอังกฤษมีความเชื่อแบบผิดๆ ว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายเท่ากับการสูบบุหรี่ และความกลัวแบบผิดๆ นี้ทำให้ผู้สูบบุหรี่ไม่ยอมเปลี่ยนไปใช้บุหรี่ไฟฟ้าแทน ขณะที่ประเทศไทยก็มีการประโคมข่าวอย่างรุนแรงว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายร้ายแรง และมีการแบนบุหรี่ไฟฟ้ามากว่า 5 ปี แต่กลับพบเห็นคนใช้ได้ทั่วไป ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการปิดกั้นการเข้าถึงและการบิดเบือนข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐไทยไม่ได้ผล เพราะคนไทยควรมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลที่เป็นจริง ครบถ้วน และถูกต้อง ในขณะที่ผู้สูบบุหรี่ควรมีโอกาสเข้าถึงทางเลือกที่อันตรายน้อยกว่าเช่นเดียวกับใน 66 ประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศอังกฤษที่ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงขอเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานต่างๆ รับฟังความเห็นของประชาชนและศึกษาข้อมูลจากต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จเป็นตัวอย่างด้วย