posttoday

พยุหยาตราทางชลมารค มรดกคู่แผ่นดินไทย หนึ่งเดียวในโลก

12 ธันวาคม 2562

เรือแต่ละลำมีประวัติการสร้างมาแต่โบราณ ปัจจุบันพัฒนาทั้งศาสตร์และศิลป์ เป็นขบวนที่งามเลิศอย่างยิ่ง

โดย สมาน สุดโต

วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2562 เป็นวันที่พสกนิกรไทย รอคอยด้วยความกระตือรือร้น ที่จะได้เฝ้ารับเสด็จ และถวายพระพรชัยมงคลพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมราชินี และพระบรมราชวงศ์ ที่จะเสด็จเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค โดยขบวนเรือพระราชพิธี 52 ลำ จากท่าวาสุกรี ถึงท่าราชวรดิฐ ระยะทาง 3.4 กิโลเมตร

พยุหยาตราทางชลมารค มรดกคู่แผ่นดินไทย หนึ่งเดียวในโลก

การที่ทุกคนรอคอยเฝ้ารับเสด็จด้วยความปลื้มปีติเป็นล้นพ้นนั้น ก็เพื่อชื่นชมพระบารมีปกเกล้าในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเครื่องราชบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ สายสะพายนพรัตนรัตนราชวราภรณ์ สวมสายสร้อยจุลจอมเกล้า พร้อมด้วยพระบรมราชินี และพระบรมราชวงศ์ที่ประทับในเรือพระที่นั่งยิ่งใหญ่ โอฬาร และเป็นครั้งแรกในรัชกาลนี้

การจัดขบวนขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งนี้ เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดขึ้นเป็นพระราชพิธีเบื้องปลาย เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตามโบราณราชประเพณี เรือแต่ละลำมีประวัติการสร้างมาแต่โบราณ ปัจจุบันพัฒนาทั้งศาสตร์และศิลป์ เป็นขบวนที่งามเลิศอย่างยิ่ง

สมัยโบราณนั้น เรือเหล่านี้จัดเป็นเรือรบ เมื่อว่างจากการศึกสงคราม ก็โปรดฯให้นำเรือทั้งนั้นมาจัดเป็นขบวนในพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐิน ซึ่งสมด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพฯ ทรงอธิบายไว้ในตำนานรือรบไทยว่า ถึงฤดูน้ำเป็นเวลาราษฎรว่างการทำไร่ไถนา จึงเรียกระดมพลมาฝึกซ้อมกระบวนทัพเรือ อาศัยฤาดูกาลประจวบกับทอดกฐิน พระเจ้าแผ่นดินจึงเสด็จพระราชดำเนินไปทอดกฐินโดยกระบวนเรือรบ แห่แหนให้ไพร่พลรื่นเริงในการกุศล ขบวนแห่แหนนี้ถ้าจัดเต็มตามตำราต้องใช้ผู้คนจำนวนมาก อย่างขบวนเรือพยุหยาตราเพชรพวง ที่จัดขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมัยกรุงศรีอยุธยานั้น ใช้เรือ 113 ลำ ใช้คนถึง 10,000 คน

พยุหยาตราทางชลมารค มรดกคู่แผ่นดินไทย หนึ่งเดียวในโลก

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน ในเรื่องพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในรัชกาลที่ 10 คณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ได้มอบหมายให้คณะกรรมการฝ่ายพิธีการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จัดนิทรรศการองค์ความรู้เกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ที่ท้องสนามหลวง ระหว่างวันที่ 24 ตุลาคม ถึง 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ผู้เขียนไปชมมาแล้ว ได้รับความประทับใจหลายประการ เพราะทางคณะจัดงาน จัดเหมือนรู้ใจว่า ประชาชนอยากรู้อะไรเกี่ยวกับพระราชพิธีที่ยิ่งใหญ่นี้ จึงแบ่งงานออกเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย 1.อาคารนิทรรศการเถลิงถวัลยราชสมบัติ สยามรัฐสีมา 2.การแสดงเรือพระราชพิธีจำลองและการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย ศรีศุภยาตรา ปวงประชาร่วมใจถวาพระพร 3.การแสดงม่านน้ำ ประกอบแสงสี เสียง สื่อผสม ม่านธาราลือขจร เฉลิมราชย์องค์ราชัน และ 4.วิถีไทยและสุดยอดอาหารไทยเลิศรส เอมอิ่มสุขสันต์ ครบครัยสำรับไทย

แต่ละส่วนจัดแสดงมีขนาดใหญ่ เช่น ห้องมหามงคลสมัยพระขวัญไผทเถลิงรัช ห้องนิรมิตเรืองนทีเถลิงหล้า จัดแสดงแสง สี เสียง สื่อผสม โดยการฉายภาพ 3 มิติ  และห้องสุดท้ายคือขบวนนาวาอารยศิลป์แผ่นดินสยาม ห้องนี้สาธิตเรื่องขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน รวมทั้งงานประณีตศิลป์ที่เกี่ยวข้องเช่น เจ้าหน้าที่จากสำนักช่างสิบหมู่ มาสาธิตการถักทองานผ้าลายทองแผ่ลวดเพื่อเป็นผ้าม่านและหลังคาเรือพระราชพิธี ที่ต้องใช้ความสามารถพิเศษเท่านั้นจึงจะผลิตงานออกมาได้

พยุหยาตราทางชลมารค มรดกคู่แผ่นดินไทย หนึ่งเดียวในโลก

นอกจากนั้น ได้จัดแสดงเรือพระราชพธีจำลอง 4 ลำ ได้แก่ พระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรรณรัชกาลที่ 9 เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ ที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 โปรดเกล้าฯให้สร้างเพื่องานอุ่นไอรัก คลายความหนาว สายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์ ณ พระราชวังดุสิต สนามเสือป่า 9 ธันวาคม 2561ถึง 19 มกราคม 2562 พร้อมทั้งสาธิตการเห่เรือ

ในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ เชื่อว่า ประชาชน 2 ฝากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากจะเฝ้ารับเสด็จแล้ว จะต้องชมขบวนเรือทั้ง 52 ลำ ที่มีความงดงาม จนเรียกว่าเป็นศิลปะแห่งสายน้ำทีเดียว ในจำนวนเรือพระราชพิธีนั้น ที่โดดเด่น น่าจับตามองที่สุดได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ คำว่า "สุวรรณหงส์" แปลว่าหงส์ทอง ซึ่งหงส์ในปกรณัมและคัมภีร์ศาสนาพราหมณ์ - อินดู เป็นพาหนะของเทพเจ้าและเทพี เช่น พระอัศวิน พระวรุณ พระพรหม พระนางสรัสวดี ฯลฯ อีกทั้งยังป็นสัญลักษณ์ของเทพเจ้าสำคัญ เช่น พระนารายณ์ พระศิวะ และพระสุริยเทพ ส่วนในพุทธศาสนา หงส์เป็นสัญลักษณ์ของจิตวิญญาณบริสุทธ์ หรือจิตอันเที่ยงแท้ดังปรากฎในชาดก กล่าวถึงพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นหงส์

เรือพระที่นั่งสุพรณหงส์ ลำปัจจุบัน สร้างขึ้นในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้เจ้าอยู่หัว เพื่อทดแทนเรือลำเดิมที่สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สร้างแล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพุทธศักราช 2454 และทำพิธีปล่อยลงน้ำมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2454

พยุหยาตราทางชลมารค มรดกคู่แผ่นดินไทย หนึ่งเดียวในโลก

อนึ่ง ปรากฏชื่อเรือพระที่นั่งในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยาว่า "เรือศรีสุพรรณหงส์" และ "เรือพระที่นั่งชัยสุพรรณหงส์" ในสมัยอยุธยาตอนปลายปรากฏชื่อ "เรือพระที่นั่งสุรรณหงส์" ครั้นในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ปรากฏชื่อ "เรือพระที่นั่งสุวรรณหงส์" และรัชกาลที่ 3 ปรากฏชื่อ "เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์"

หัวเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ มีโขนเรือเป็นรูปหัวของหงส์ ลำตัวเรือทอดยาวคือส่วนตัวหงส์จำหลักไม้ลงรักปิดทองประดับกระจกมีพู่ห้อย ปลายพู่เป็นแก้วผลึก ภายนอกทาสีดำท้องเรือทาสีแดง ตอนกลางลำเรือทอดบัลลังก์กัญญา เป็นที่ประทับของพระบาทสมด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือพระบรมวงศ์ เรือมีความยาว 46.15 เมตร กว้าง 3.17 เมตร ลึกจนถึงท้องเรือ 94 เชนติเมตร กินน้ำลึก 41 เชนติมตร น้ำหนัก 15 ตัน ใช้กำลังพลประกอบด้วย ฝีพาย 50 นาย นายเรือ 2 นาย นายท้าย 2 นาย คนถือธงท้าย 1 นาย พลสัญญาณ 1 นาย คนถือฉัตร 7 นาย คนขานยาว 1 นาย คนขานยาวทำหน้าที่ในการร้องขานพลงเรือโดยฝีพายจะร้องเห่เรือพร้อมกันไปตามจังหวะร่มกับเรือลำอื่น ๆ

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ได้รับรางวัลมรดกโลกทางทะเล (The World Ship Trust Maritime Heritage Award) จากองค์การเรือโลกแห่งสหราชอาณาจักร (The World Ship Trust) เมื่อพุทธศักราช 2535

พยุหยาตราทางชลมารค มรดกคู่แผ่นดินไทย หนึ่งเดียวในโลก

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณรัชกาลที่ 9 เป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง มีชื่อเดิมว่า มงคลสุบรรณ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ต่อขึ้นตามแบบอย่างสมัยอยุธยาเพื่อ “ไว้เป็นเกียรติยศสำหรับแผ่นดิน” เรือลำนี้มีความยาว 17 วา 3 ศอก กว้าง 5 ศอก 5 นิ้ว ลึก 1 ศอก 6 นิ้ว กำลัง 6 ศอก 6 นิ้ว พื้นท้องเรือภายนอกสีแดง กำลังฝีพาย 65 คน โขนเรือแต่เดิมจำหลักไม้รูปพญาสุบรรณ หรือพญาครุฑยุดนาคเท่านั้น

มีช่องกลสำหรับติดตั้งปืนใหญ่ที่หัวเรือใต้ตัวครุฑ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีพระราชดำริให้เสริมรูปพระนารายณ์ประทับยืนบนหลังพญาสุบรรณ เพื่อความสง่างามของลำเรือ และเพื่อให้ต้องตามเทพปกรณัมของศาสนาพราหมณ์ว่า พญาสุบรรณนั้นเป็นเทพพาหนะของพระนารายณ์ เทวรูปพระนารายณ์ที่สร้างขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ 4 นั้น สร้างด้วยไม้จำหลักปิดทองประดับกระจกองค์พระนารายณ์ทรงเครื่องภูษิตาภรณ์และมงกุฏยอดชัย พระพักตร์และพระวรกายประดับกระจกสีขาบมี 4 พระกร ทรงเทพศาสตราในพระกรทั้ง 4 คือ ตรี คฑา จักร สังข์

ในสมัยรัตนโกสินทร์ มีการนำเรือพระที่นั่งมงคลสุบรรณเข้าร่วมในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งสำคัญ 2 ครั้ง คือ กระบวนพยุหยาตราในการเสด็จเลียบพระนครของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เนื่องในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2394 ครั้งหนึ่ง และในการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในการพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฏราชกุมาร เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2429 ในรัชกาลที่ 5 อีกครั้งหนึ่ง

พยุหยาตราทางชลมารค มรดกคู่แผ่นดินไทย หนึ่งเดียวในโลก

ต่อมาตัวเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณคงเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา คงเหลือแต่โขนเรือซึ่งเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ตราบจนในมหามงคลวโรกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษก กองทัพเรือได้ต่อเรือพระที่นั่งซึ่งมีรูปโขนเรือเป็นรูปนารายณ์ทรงสุบรรณ น้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเรือพระที่นั่งที่ต่อใหม่นี้ว่า “เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9”

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช คำว่า “อนันตนาคราช” หมายถึง ราชาแห่งนาคหรืองูทั้งหลาย ในฮินดูปกรฌัม “อนันตะ” หมายถึง งูเทพ หรือ งูทิพย์ ผู้มีพลังยิ่งใหญ่ รู้จักในชื่อ เศษะ หรือ อาทิเศษะ เป็นผู้ที่มีเศียรหนึ่งพัน ซึ่งประดับด้วยอัญมณีส่องประกายสว่างจ้าไปทุกหนแห่ง ส่วนในคัมภีร์ปุราณะ กล่าวว่า อนันตะอาศัยอยู่ลึกลงไปกว่าโลกบาดาลทั้ง 7 ชั้น และแบกโลกทั้งหมดไว้บนเศียร คราใดที่อนันตะหาว โลกก็สั่นไหว บางคัมภีร์อธิบายว่า อนันตะมีชื่ออีกอย่างว่า วาสุกรี ซึ่งมีเจ็ดเศียรและอยู่ในโลกบาดาลชั้นที่ 7 อนันตะปกครองนาคทั้งหลาย

ส่วนในคติไตรภูมิ เชื่อว่า มีปลาอานนท์แบกโลกมนุษย์ไว้ คราใดปลาอานนท์ขยับตัวโลกจะสั่นคลองเกิดแผ่นดินไหว นอกจากนี้ยังมีความเชื่ออีกว่า พญานาคเจ็ดเศียรบันดาลให้เกิดฝน และยังมีความเชื่อที่ว่าพระเจ้าแผ่นดินของไทยเป็นอวตารของพระวิษณุลงมาเกิดบนโลกมนุษย์ ดังนั้น เรือพระที่นั่งซึ่งเป็นพระราชพาหนะที่สร้างเป็นรูปพญาอนันตนาคราชจึงสอดคล้องกับเรื่องราวที่ว่าพระวิษณุประทับบรรทมบนพญาอนันตนาคราชในเกษียณสมุทร

พยุหยาตราทางชลมารค มรดกคู่แผ่นดินไทย หนึ่งเดียวในโลก

หัวเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชจำหลักเป็นรูปพญานาคเจ็ดเศียร ลงรักปิดทองประดับกระจก ท้องเรือภายในทาสีแดง ภายนอกทาสีเขียว กลางลำเรือเป็นบุษบกประดิษฐานพระพุทธรูป หรือผ้าพระกฐิน เรือมีความยาว 45.85 เมตร กว้าง 2.58 เมตร ลึกถึงท้องเรือ 87 เซนติเมตร กินน้ำลึก 31 เซนติเมตร ใช้กำลังพลประกอบด้วย ฝีพาย 54 นาย นายเรือ 2 นาย นายท้าย 2 นาย คนถือธงท้าย 1 นาย พลสัญญาณ 1 นาย คนถือฉัตร 7 นาย คนถือบังสูรย์-พัดโบก-พระกลด 3 นาย และคนเห่เรือ 1 นาย

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราชลำปัจจุบันสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2457 แทนลำเดิมซึ่งสร้างขึ้นในรัชสัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ คำว่า “อเนกชาติภุชงค์” หมายถึง งูหลากหลายชนิด สอดคล้องกับรูปโขนเรือที่ลงรักปิดทอง มีลายรูปงูตัวเล็กๆ จำนวนมาก คำว่า “ภุชงค์” มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า “นาค” ในภาษาไทยซึ่งเป็นเทพในฮินดูปกรฌัม และปรากฏในพระพุทธศาสนา เป็นตัวแทนแห่งพลังอำนาจ ความรอบรู้และความอุดมสมบูรณ์ เทพเจ้าหลายองค์ของศาสนาฮินดูสัมพันธ์กับนาคหรือที่ปรากฏในรูปร่างของงู หรืองูเทพ (งูทิพย์) เช่น พระวิษณุบรรทมบนพญานาคอนันตะหรือเศษะนาคทอดตัวอยู่เหนือแผ่นน้ำ

รูปแบบของงูหรือนาคตัวเล็กๆ จำนวนมากที่หัวเรือเช่นนี้ น่าจะหมายถึงนาคที่มีจำนวนนับพันซึ่งเป็นเหล่าบรรดานาคที่กำเนิดจากมหาฤษีกัศยปะและนางกัทรุนาคเหล่านี้อาศัยอยู่ในโลกบาดาล

พยุหยาตราทางชลมารค มรดกคู่แผ่นดินไทย หนึ่งเดียวในโลก

เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เป็นเรือพระที่นั่งศรี สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลำเรือภายนอกทาสีชมพู ท้องเรือภายในทาสีแดง หัวเรือลงรักปิดทองลายรดน้ำเป็นรูปนาคตัวเล็กๆ จำนวนมาก ตอนกลางลำเรือมีบัลลังก์กัญญา เรือมีความยาว 45.67 เมตร กว้าง 2.91 เมตร ลึกถึงท้องเรือ 91 เซนติเมตร กินน้ำลึก 46 เซนติเมตร น้ำหนัก 7.7 ตัน กำลังพลประกอบด้วยฝีพาย 61 นาย นายเรือ 2 นาย นายท้าย 2 นาย คนถือธงท้าย 1 นาย พลสัญญาณ 1 นาย คนถือฉัตร 7 นาย คนขานยาว 1 นาย คนขานยาวทำหน้าที่ในการ้องขานเพลงเรือโดยฝีพายจะร้องเห่เรือพร้อมกันไปตามจังหวะร่วมกับเรือลำอื่นๆ

บทเห่เรือประพันธ์โดย นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย อดีตนายทหารกองทัพเรือเรื่องที่โอ่อ่าให้บรรยากาศแบบโบราณราชประเพณีกลับคืนมาในท้องน้ำในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค คือการเห่เรือ

ในอดีต หรือเมื่อ 16 ต.ค. 2530 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวราราม ได้จัดขบวนเรือตามแบบเมื่อครั้งสมโภชกกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี 5 เม.ย. 2525 โดยใช้บทเห่เดิมของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (สมัยออยุธยา) เป็นบทเห่ชมขบวนเรือ ชมทิวทัศน์ ชมนก ชมปลาและชมไม้ โดยมี นาวาตรี มงคล แสงสว่างเป็นเจ้าหน้าที่เห่ และมีผู้ช่วยอีก 2 ท่านคือ พันจ่าเอก สุจินต์ สุวรรณ์ และ พันจ่าเอกทวี นิลวรวงษ์

พยุหยาตราทางชลมารค มรดกคู่แผ่นดินไทย หนึ่งเดียวในโลก

ส่วนบทเห่เรือ ขบวนพยุยาตราทางชลมารค วันที่ 12 ธ.ค.นี้ ใช้บทเห่เรือใหม่ ประพันธ์โดย นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย (ป.ธ. 9) อดีตนายทหารกองทัพเรือ
ประกอบด้วย บทที่ 1 สรรเสริญพระบารมี แต่ละวรรคสื่อถึงความจงรักภักดีบุญคุณของพระเจ้าแผ่นดินที่ทำให้ประชาชนอยู่สุขสบาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงราชย์สืบสันติวงศ์จากรัชกาลที่ 9 ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด ให้บ้านเมืองสงบสุข บทที่ 2 ชมเรือ ก็ยังใช้บทเดิม ขบวนเรือ 52 ลำ เสริมสีสันจัดรูปขบวนให้มีชีวิต เป็นประเพณีหนึ่งเดียวในโลกที่ลูกหลานต้องหวงแหนรักษา

รัชกาลที่ 9 ทรงจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค 17 ครั้ง
เนื่องจากการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เป็นโบราณราชประเพณี และเป็นมรดกของแผ่นดิน สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา บางช่วงบางสมัยอาจขาดตอนไปบ้างเพราะเกิดสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือสงครามใหญ่ขนาดสงครามโลก ทำให้เรือพระราชพิธีเสียหาย แต่เนื่องจากวิสัยทัศน์ หรือโลกทัศน์ ในพระเจ้าอยู่หัวนับแต่รัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา จึงโปรดเกล้าฯให้สร้างเรือขึ้นมาแทนลำที่ชำรุด หรือ เมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา อู่เรือพระราชพิธีที่คลองบางกอกน้อยถูกลูกระเบิดถล่ม จนเรือเสียหายไปหลายลำ จากนั้นมาจึงมีการซ่อมแซมเรือและโอนเรือพระราชพิธี 36 ลำ ให้กรมศิลปากรดูแลเก็บรักษาไว้ที่อู่เรือพระราชพิธีปากคลองบางกอกน้อย

ส่วนที่เหลืออีก 32 ลำ เป็นพวกเรือดั้ง เรือตำรวจ เรือแซง กองทัพเรือคงเก็บรักษาไว้ จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปที่โรงเก็บเรือพระราชพิธีในคลองบางกอกน้อย ทอดพระเนตรเห็นเรืออยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม จึงทรงพระราชดำริว่า ถ้าจะโปรดให้มีการฟื้นฟูประเพณีการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคขึ้น ก็จะเป็นประโยชน์ในด้านบำรุงรักษาสมบัติอันมีค่า และรักษาขนบประเพณีอันดีงามของชาติไว้ด้วย จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการฟื้นฟูประเพณีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

พยุหยาตราทางชลมารค มรดกคู่แผ่นดินไทย หนึ่งเดียวในโลก

พล.ต.หม่อมทวีวงศ์ ถวัลย์ศักดิ์ ได้สรุปไว้ในเรื่อง “พระราชพิธีประจำปีในรัชกาลปัจจุบัน” (รัชกาลที่ 9) ตอนหนึ่งว่า “แต่เนื่องจากรือพระราชพิธีของเราชำรุดเสียหายมากแล้ว และเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ถูกระเบิดเสียหายซ่อมไม่ได้หลายลำ ดังนั้น การจัดกระบวนเสด็จพระราชดำเนินจึงจัดเพียงเท่าที่จะทำได้ จะเป็นพยุหยาตราใหญ่ก็ไม่ใช่ เพราะไม่มีเรือจะจัดเป็นกระบวน 4 สายได้ จะเป็นขบวนพยุหยาตราน้อยก็ไม่ใช่ เพราะไม่ได้ใช้เรือรูปสัตว์เข้าขบวนต่อเรือดั้งตามตำแหน่ง กลับเอาไปใช้ในตำแหน่งเรือคู่ชัก ด้วยเหตุนี้แหละ ในหมายกำหนดการพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน สำนักพระราชวังจึงไม่เรียกว่าเป็นขบวนพยุหยาตราใหญ่หรือน้อยดังหมายกำหนดการครั้งก่อน แต่เรียกว่า ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เท่านั้น”

การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 นั้น มีทั้งสิ้น17 ครั้ง คือ

1.พุทธพยุหยาตราทางชลมารค ในการฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2500 ได้ใช้เรือเพียง 39 ลำ ทั้งๆ ที่ให้ความมุ่งหมายในการจัดกระบวนเรือในคราวนั้นว่า “จัดเรือรบหลวง (โบราณ) เท่าที่สามารถนำลงน้ำได้ทุกลำ”

2.ขบวนพยุหยาตรา( น้อย) ทางชลมารค ในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม วันที่ 15 พ.ย.2502

3.ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม วันที่ 2 พ.ย.2504

4.ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม วันที่ 22 ต.ค.2505

5.ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม วันที่ 30 ต.ค.2507

6.ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม วันที่ 19 ต.ค.2508

7.ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม วันที่ 27 ต.ค.2510

8.ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เสด็จพระราชดำเนินไปบวงสรวงสมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ณ พลับพลาพระราชพิธีท้องสนามหลวง ในการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี วันที่ 5 เม.ย.2525 รัฐบาลได้ซ่อมแซมเรือพระที่นั่งและเรือพระราชพิธีได้ทั้งหมด 51 ลำ จัดเป็นกระบวนพยุหยาตราใหญ่ และจัดเรือพระที่นั่งแปลกกว่าทุกคราว คือ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราชตั้งบุษบกเชิญพระชัยหลังช้างครั้งรัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ประทับเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์

พยุหยาตราทางชลมารค มรดกคู่แผ่นดินไทย หนึ่งเดียวในโลก

9.ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคแห่พระพุทธสิหิงค์ วันที่ 12 เม.ย.2525

10.ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม วันที่ 16 ต.ค.2530

11.ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม วันที่ 7 พ.ย.2539 นั้น เป็นการจัดกระบวนพยุหยาตราใหญ่ตามแบบอย่างเมื่อครั้ง พ.ศ. 2530 ทุกประการ กล่าวคือ กระบวนเรือประกอบไปด้วยริ้วกระบวน 5 ริ้ว ใช้เรือรวมทั้งสิ้น 52 ลำ ระยะต่อระหว่างลำ 40 เมตร เว้นระหว่างเรือพระที่นั่ง 50 เมตร ระยะเคียงระหว่างริ้ว 20 เมตร ความยาวของกระบวน 1,110 เมตร กว้าง 90 เมตร กำลังพลทั้งหมด 2,082 นาย เรือพระที่นั่งซึ่งจัดว่าเป็นเรือสำคัญที่สุดและสง่างามที่สุดในกระบวนเรือพระที่นั่งทรง ได้แก่ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เรือพระที่นั่งรองได้แก่ เรือสุพรรณหงส์ มีเรืออนันตนาคราชเป็นเรือทรงผ้าไตร และเรืออเนกชาติภุชงค์เป็นเรือทรงผ้าไตรสำรอง

12.ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค(ใหญ่)ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2539

13.ขบวนพยุยาตราทางชลมารค(ใหญ่) ในกาเสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ร วัดอรุณราชวรราม วันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ.2542

14.ขบวนเรือพระราชพิธีในการจัดประชุมใหญ่การค้าเสรีประจำภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก หรือ เอเปค 2003 เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2546

15.ขบวนพระราชพิธีในงานฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปี วันที่ 12 มิ.ย.2549

16.ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ใหญ่ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม วันที่ 5 พ.ย.2550

17.ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (ใหญ่) ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ 9 พ.ย.2555

อย่างไรก็ตาม การจัดขบวนพยุหยาตราชลมารคครั้งนี้ ประชาชนจะได้สัมผัสบรรยากาศงดงามตระการตาของริ้วขบวนเรือพระราชพิธี ที่มีมรดกวัฒนธรรมยิ่งใหญ่ เมื่อผนวกกับท่าทางการพายของฝีพาย 2,200 นาย ที่มียูนิฟอร์มแบบโบราณ ละกาพย์เห่เรือที่ถูกร้อยเรียงด้วยถ้อยคำสำนวนโวหารสละสลวย ขับขานดังกังวานไปทั่วคุ้งน้ำเจ้าพระยา จากท่าวาสุกรี ถึงท่าราชวรดิฐ ทั้งหมดนี้เป็นพลังแห่งความจงรักภักดีและรวมดวงใจเป็นหนึ่งด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

พยุหยาตราทางชลมารค มรดกคู่แผ่นดินไทย หนึ่งเดียวในโลก

พยุหยาตราทางชลมารค มรดกคู่แผ่นดินไทย หนึ่งเดียวในโลก

 

พยุหยาตราทางชลมารค มรดกคู่แผ่นดินไทย หนึ่งเดียวในโลก

พยุหยาตราทางชลมารค มรดกคู่แผ่นดินไทย หนึ่งเดียวในโลก

พยุหยาตราทางชลมารค มรดกคู่แผ่นดินไทย หนึ่งเดียวในโลก

พยุหยาตราทางชลมารค มรดกคู่แผ่นดินไทย หนึ่งเดียวในโลก

พยุหยาตราทางชลมารค มรดกคู่แผ่นดินไทย หนึ่งเดียวในโลก