posttoday

5,897 ก้าว...ของโพสต์ทูเดย์

29 มีนาคม 2562

"5,897 ฉบับ" คือ ตัวเลขสุดท้ายที่จะหยุดนิ่ง เมื่อ "โพสต์ทูเดย์" จะเลิกผลิตเป็นหนังสือพิมพ์ในวันที่ 31 มี.ค.2562 นี่คือเรื่องราว16 ปีเศษของพวกเราที่ก้าวเดินด้วยวิถีตั้งมั่นในความสุจริตต่อหน้าที่

"5,897 ฉบับ" คือ ตัวเลขสุดท้ายที่จะหยุดนิ่ง เมื่อ "โพสต์ทูเดย์" จะเลิกผลิตเป็นหนังสือพิมพ์ในวันที่ 31 มี.ค.2562 นี่คือเรื่องราว16 ปีเศษของพวกเราที่ก้าวเดินด้วยวิถีตั้งมั่นในความสุจริตต่อหน้าที่

***************************

โดย... ณ กาฬ เลาหะวิไลย อดีตบรรณาธิการข่าว และ อดีตบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์

5,897 ฉบับ คือตัวเลขที่จะหยุดนิ่ง จากการที่โพสต์ทูเดย์ จะเลิกผลิตเป็นหนังสือพิมพ์ในวันที่ 31 มี.ค. 2562

มองย้อนกลับไป เส้นทาง 16 ปีเศษ มีสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย

กองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์ ก่อตัวขึ้นใหม่ นักข่าวเกินครึ่ง เพิ่งก้าวออกจากรั้วมหาวิทยาลัย

ระบบการผลิต การส่งข่าว จัดหน้า ใช้เทคโนโลยีทันสมัยล่าสุดแต่ยังไม่มีเสถียรภาพ หลายครั้งระบบหยุดลง คามือ ไม่รู้สาเหตุ เป็นข้อผิดพลาดที่ล่องหน จับทิศทางได้ยาก เป็นปัจจัยเสี่ยงเกือบทุกวันนานนับปี

ความพยายามเปิดตัวตามกำหนด ไม่ต่างจากการเทกออฟของเครื่องบินรุ่นใหม่ ทันสมัย แต่ยังไม่ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพ 100% เมื่อวิ่งขึ้นจากรันเวย์ด้วยความเร็วสูง เชิดหัว สภาพเครื่องก็สั่นสะเทือน ราวกับจะมีชิ้นส่วนใดหลุดกลางอากาศ

ข่าวชิ้นแรก เป็นปัญหาใหญ่ หนังสือพิมพ์ 7 ก.พ. 2546 ฉบับเปิดตัว จะเอาอะไรเป็นข่าวพาดหัว

นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น เคือง กลุ่มบางกอกโพสต์ ปฏิเสธไม่ให้สัมภาษณ์ ส่งผลถึงรัฐมนตรีคนอื่นๆ

แต่ด้วยความที่ไม่ยอมแพ้ ไม่ถอย สุดท้ายพวกเราได้เวลา 30 นาที สัมภาษณ์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น นำมาลงตีพิมพ์ ก่อนถึงเส้นตายปิดหน้าเฉียดฉิว

ใกล้เที่ยงคืน วันที่ 6 ก.พ. 2546 หลังการจัดงานเปิดตัวโพสต์ทูเดย์ พวกเราทุกคนกลับมาโรงพิมพ์ รอที่หน้าแท่น เฝ้ารอหนังสือพิมพ์ฉบับแรก ค่อยๆ ทยอยออกมา

เหมือนเห็นหน้าลูกคนแรก ลำบาก เต็มไปด้วยอุปสรรค แต่ไม่ถอย

เพราะพวกเราคือโพสต์ทูเดย์

***********************

5,897 ก้าว...ของโพสต์ทูเดย์ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ฉบับเปิดตัววันที่ 7 ก.พ. 2546

ตลอดเวลา 16 ปีเศษ ข่าวมากมายเป็นความภูมิใจ และที่อยู่ในความทรงจำอันดับต้นๆ ไม่พ้น ข่าวเสียงปืนที่หาดแหลมป้อม

คลื่นยักษ์สึนามิถล่มพื้นที่ 6 จังหวัดชายฝั่งอันดามัน เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2547 สร้างความเสียหายอย่างรุนแรง แม้สึนามิผ่านพ้นไป ผลกระทบยังเกิดต่อเนื่อง

ชาวบ้านแหลมป้อม อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ไม่เพียงถูกสึนามิคร่าชีวิต ทำลายที่อยู่อาศัย แต่หลังจากนั้นยังถูกคุกคามจากทุนที่ต้องการครอบครองที่ดิน ด้วยอำนาจนอกระบบ ด้วยปืน

พวกเขาต่อสู้ เรียกร้องความเป็นธรรม แต่เสียงร้องเหมือนบางเบา ไม่ได้รับการเหลียวแล

โพสต์ทูเดย์ จัดทีมข่าวเฉพาะกิจ ลงพื้นที่ตะกั่วป่า รายงานสภาพความเป็นจริง ใช้นักข่าวจำนวนมาก หมุนเวียน เป็นเวลาแรมปี ใช้ทรัพยากรมากสุดเท่าที่เคยทำมา

เป็นข่าวที่ไม่มีผลต่อยอดโฆษณา ไม่มีผลต่อยอดขายหนังสือ แต่มีผลต่อชุมชนแหลมป้อม ก่อให้เกิดความเป็นธรรม ความสนใจต่อชุมชนแห่งนี้

แม้ชาวแหลมป้อมจำนวนหนึ่งยังต้องขายที่ดินออกไปในท้ายสุด แต่พวกเขาได้เงื่อนไขการต่อรองที่ดีขึ้น

พวกเราภูมิใจ ที่ได้ทำข่าวนี้

เพราะพวกเราคือโพสต์ทูเดย์

***********************

สิ่งที่สร้างความปีติแก่ชาวโพสต์ทูเดย์ ไม่มีใดเกินปรากฏการณ์ของหนังสือพิมพ์ฉบับวันเสาร์ที่ 10 มิ.ย. 2549

เป็นช่วงเวลามหาปีติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จออกสีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม เนื่องในโอกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พร้อมพระบรมวงศานุวงศ์

คลื่นชาวไทยจากทุกสารทิศ มารอเฝ้าฯ แสดงความรักและภักดี

หนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว ในหน้าแรกมีเพียงภาพขนาดใหญ่ 1 รูป และภาพประกอบอีก 5 รูป

ภาพหลักเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโบกพระหัตถ์ ภาพรอง เป็นพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเคียงข้าง

หน้า 1 ฉบับนั้น ไม่มีข้อมูลใดๆ ไม่มีการรายงานข่าว มีเพียงตัวอักษร 18 คำ จากบางส่วนของพระราชดำรัส ...วันนี้ น่าปลาบปลื้มใจมาก ข้าพเจ้าเห็นแล้วมีกำลังใจมากขึ้น

โพสต์ทูเดย์ ขายหมดแผงในเวลารวดเร็ว ตลอดสัปดาห์เป็นหนังสือพิมพ์หายาก พิมพ์จนเต็มกำลังผลิต มีการแย่งชิงหนังสือพิมพ์ระหว่างทาง ประชาชนต้องการเก็บไว้ ในช่วง พระราชพิธีมหามงคล

เป็นการถวายความจงรักภักดีอย่างสูงสุด เป็นความปีติที่คงอยู่เสมอในใจพวกเรา

เพราะพวกเราคือโพสต์ทูเดย์

***********************

5,897 ก้าว...ของโพสต์ทูเดย์

เวลา 16 ปีเศษ โพสต์ทูเดย์ นำเสนอข่าวที่สร้างผลกระทบในวงกว้างมากมาย อาทิ ข่าวปราสาทพระวิหาร และข่าวการจำนำข้าว โดยเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกๆ ที่เปิดประเด็น เกาะติดจนก่อกระแสการเปลี่ยนแปลง

ปี 2551 กัมพูชาเดินหน้าขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกฝ่ายเดียว ระยะแรกแทบไม่มีการโต้แย้งจากไทย ท่ามกลางความแคลงใจในผลประโยชน์เชิงซ้อนจากสัมปทานก๊าซ น้ำมันในพื้นที่ทับซ้อน

จากการรายงานข้อมูลในวันแรก ขยายเป็นประเด็นระดับประเทศ เป็น กระแสคัดค้าน เรียกร้องสิทธิของไทย

คดีปราสาทพระวิหาร ยังนำขึ้นสู่การฟ้องร้องต่อศาลโลก

ส่วนข่าวการจำนำข้าว เกิดในสมัยรัฐบาลเพื่อไทยในอดีต จากนโยบายจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ด 1.5 หมื่นบาท/เกวียน

จุดเริ่มต้นเป็นการเสนอข้อมูล ชี้ให้เห็นความเสียหายในระบบเศรษฐกิจ และยกระดับเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง เป็นคดีทุจริตครั้งประวัติศาสตร์ และยังคงมีคดีคั่งค้างอยู่อีกในปัจจุบัน

ข่าวลักษณะเช่นนี้ ย่อมมีแรงกดดันสารพัดในทุกรูปแบบ

แต่พวกเราก็ยังทำหน้าที่ด้วยความสุจริตของวิชาชีพ

เพราะพวกเราคือโพสต์ทูเดย์

***********************

งานที่เสี่ยงอันตรายในชีวิต

การเป็นนักข่าว ไม่พ้นการทำข่าวม็อบหลากสีเสื้อ ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา

นักข่าวทุกสายต้องทำข่าวม็อบ ไม่จำกัดเฉพาะสายการเมือง แต่นักข่าวเศรษฐกิจ นักข่าวแมกกาซีนที่เคยทำข่าวงานสังคม ชิมอาหาร ฟังเพลง วิจารณ์บันเทิง ฯลฯ ต้องลงภาคสนามด้วย

นักข่าวคือนักข่าว ต้องมีความสามารถหลากหลาย โดยเฉพาะในช่วงเหตุการณ์สำคัญของประเทศ ต้องไปเห็นกับตา นำมารายงานประชาชน

แต่การส่งนักข่าวลงในภาคสนาม ที่มีความเสี่ยง จำเป็นต้องอบรม คัดกรอง แยกเพศ แยกพื้นที่ รักษาความปลอดภัยด้วยเสื้อเกราะอ่อน ด้วยการวางแผน และข้อมูลที่แม่นยำ

พื้นที่ใดเสี่ยงสูง เป็นหน้าที่นักข่าวเจนสนาม พื้นที่เสี่ยงน้อย เหมาะกับ นักข่าวที่ไม่มีประสบการณ์

ระดับหัวหน้า ต้องติดตามนักข่าวในพื้นที่ ตรวจสอบว่าอยู่ที่ไหน มีความเสี่ยงอะไร โดยยึดหลักความปลอดภัยของนักข่าวต้องมาก่อนสิ่งอื่นใด

ทุกคืนพวกเราจะกลับบ้าน และหลับสนิท ต่อเมื่อน้องนักข่าวทุกคน ถึงบ้านอย่างปลอดภัย หรือเห็นนักข่าว-ช่างภาพบางส่วนกลับมาถึง โรงพิมพ์ นอนในเปลสนามที่จัดเตรียมไว้ให้แล้ว

พวกเราจะละทิ้งทุกอย่าง ไปยัง จุดเกิดเหตุ โรงพยาบาล เมื่อได้รับแจ้งถึงเหตุนักข่าวบาดเจ็บ หรือมีปัญหา ตกอยู่ในจุดอันตราย

เราเคยผลิตหนังสือพิมพ์ฉบับประวัติศาสตร์มีเพียง 4 หน้า จุดเทียนเร่งทำงาน ใช้ระบบคอมพิวเตอร์จากไฟสำรองที่เหลือน้อยนิด เพราะม็อบเผาทำลายระบบไฟฟ้าหลัก จากนั้นต้องหนีออกจากออฟฟิศให้ทัน ให้พ้นม็อบ ที่มีทิศทางมุ่งมายังสำนักงานของเรา

พวกเราต้องย้ายกองบรรณาธิการไปยังสถานที่เฉพาะกิจ หลีกอันตราย ที่พุ่งเป้ามายังหนังสือพิมพ์ในเครือ ทุกฉบับ

เสี่ยง-อันตราย

แต่ทุกคนไม่มีแววตาท้อถอย ไม่เคยปริปากว่า...ไม่ทำ

เพราะพวกเราคือโพสต์ทูเดย์

***********************

5,897 ก้าว...ของโพสต์ทูเดย์

การยกระดับ พัฒนาศักยภาพ เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ เป็นการเรียนรู้ อย่างต่อเนื่อง

ระดับนักข่าว จากการทำหนังสือพิมพ์ที่ยากจะก้าวข้ามไปยังสื่ออื่น แต่โพสต์ทูเดย์ สร้างการทำงาน ในรูปแบบ 1 กองบรรณาธิการ หลากสื่อ-One Editorial Multimedia

จากงานหนังสือพิมพ์ ขยับสู่การ ทำข่าววิทยุ รายงานสดภาคสนาม จัดรายการทุกสัปดาห์ จนกลายเป็น รายการโพสต์ทูเดย์ เรดิโอทอล์ก ทุกวันจันทร์-ศุกร์

จากงานหนังสือพิมพ์ เราไม่รีรอที่เข้าไปทำข่าวโทรทัศน์ วันละ 8 ชั่วโมง ที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 11 เมื่อโอกาสมาถึง

จากกระดาษ นักข่าวปรับตัวสู่โลกดิจิทัล รายงานข่าวทางเว็บไซต์

ในแง่องค์กร โพสต์ทูเดย์ เป็นหนังสือพิมพ์ไทยฉบับเดียว ที่ออกไปจัดสัมมนาต่างประเทศ ในกลุ่ม CLMV ทั้ง กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม

เป็นการสัมมนาทุกปี ทำอย่าง ต่อเนื่อง นำนักธุรกิจไทยไปยังประเทศเหล่านี้ เปิดประสบการณ์ ยกระดับความรู้ ความสามารถของพวกเรา

ปี 2561 ที่ผ่านมา พวกเราเพิ่งจัดสัมมนา ตามรอยเส้นทางรถไฟฟ้าไทย-จีน จากไทย ข้ามไปลาว ไปถึงคุนหมิง ประเทศจีน

ไม่ง่าย ในการทำงานในสภาพ ที่ไม่คุ้นเคย ต่างวัฒนธรรม การประสานงานกับทุกองค์ประกอบ และธุรกิจพันธมิตรที่เข้ามาร่วมมือ

แต่พวกเราทำสำเร็จ

พราะพวกเราคือโพสต์ทูเดย์

***********************

5,897 ก้าว...ของโพสต์ทูเดย์

เวลา 16 ปีเศษ โพสต์ทูเดย์ ลองผิด ลองถูก มีทั้งรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ น้ำตา ความผิดหวัง สมหวัง

พวกเราพร้อมจะต้อนรับกับความล้มเหลว พร้อมจะลุกขึ้น พร้อมจะรับทั้งก้อนอิฐ ทั้งดอกไม้ ด้วยวิถีตั้งมั่นความสุจริตต่อหน้าที่

พวกเราไม่ได้หมายรวมเฉพาะกองบรรณาธิการ แต่พวกเรากระจายทำหน้าที่แตกต่างกัน น้องๆ ที่จัดหน้า พิสูจน์อักษร ตรวจสอบระบบการผลิต โรงพิมพ์ สายส่ง โฆษณา เทคโนโลยี บุคคล บัญชี การเงิน ฯลฯ

ทุกองค์ประกอบล้วนแต่เป็นพวกเรา โพสต์ทูเดย์

ในวันนี้ แม้จะไม่มีสิ่งที่เรียกว่า หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ แต่การ หล่อหลอม ประสบการณ์ ทำให้พวกเราพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง เดินไปข้างหน้าต้อนรับอนาคตที่ยากคาดเดา

ฟ้ายังกว้าง หนทางยังไกล ใจยังตั้งมั่น

เพราะพวกเราคือโพสต์ทูเดย์

***********************

*เมื่อถึงวัน ลาแล้ว เพื่อนแก้วเอ๋ย

พี่น้องเคย ใกล้ชิด มิตรสหาย

เคยร่วมสร้าง ทางใหม่ ทุ่มใจกาย

สัจจะหมาย มั่นในธรรม ย้ำเตือนใจ

*เมื่อลมร้อน เยือนมา ในครานี้

ถึงคราวที่ อำลา น้ำตาไหล

ย้อนบันทึก ช่วงเวลา แห่งอาลัย

อิ่มเอิบใน วันวาน ที่ผ่านมา

*เมื่อเกิดขึ้น ตั้งอยู่ คู่แปรเปลี่ยน

ไตรลักษณ์เวียน ประจักษ์ ยากรักษา

เหลือจิตหนึ่ง สถิตอยู่ คู่โลกา

ติดตรึงตรา ประทับ นับนิรันดร์ฯ