posttoday

ผู้เสียหายหุ้นกู้ "EARTH" ร้อง ปปง. สอบเส้นทางการเงิน-เร่งตามทรัพย์สินคืน

06 ธันวาคม 2561

ผู้เสียหายหุ้นกู้ "EARTH" ร้อง ปปง. ตรวจสอบเส้นทางการเงิน เร่งรัดติดตามทรัพย์สินคืน บรรเทาความเดือดร้อน

ผู้เสียหายหุ้นกู้ "EARTH" ร้อง ปปง. ตรวจสอบเส้นทางการเงิน เร่งรัดติดตามทรัพย์สินคืน บรรเทาความเดือดร้อน

เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) นพ.จรูญศักดิ์ เธียรประพันธ์ หนึ่งในผู้เสียหาย พร้อมด้วย ตัวแทนผู้เสียหาย 40 ราย จากการลงทุนหุ้นกู้ บริษัท เอ็นเนอร์ยี่เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH เข้ายื่นหนังสือต่อ พล.ต.ต.ปรีชา เจริญสหายานนท์ รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง. เพื่อเร่งรัดตรวจสอบเส้นทางการเงินของบริษัทดังกล่าวเนื่องจากมีการกระทำเข้าข่ายความผิดมูลฐานการฟอกเงิน

นพ.จรูญศักดิ์ กล่าวว่า กรณีบริษัท บริษัท เอ็นเนอร์ยี่เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH มีการกระทำผิดทั้งในส่วนของลูกหนี้และเจ้าหนี้สถาบันที่ไม่สามารถมีเอกสารหลักฐานน่าเชื่อถือมายืนยันหรือตรวจสอบได้อย่างชัดเจน ทำให้ผู้ถือหุ้นกู้มีความสงสัยในกระบวนการบริหารงานของบริษัท รวมถึงภายหลังพบว่ามีเงินจำนวนมากสูญหายออกไปจากระบบทั้งๆที่การลงทุนในครั้งนี้ผู้ถือหุ้นกู้ได้พิจารณาแล้วว่าบริษัทที่ออกหุ้นกู้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยมีธนาคารของรัฐเป็นผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ชวนให้ลงทุนและเป็นนายทะเบียน

"เมื่อช่วงเดือน ต.ค.61 ที่ผ่านมา ผู้บริหารธนาคารกรุงไทยได้ชี้แจงผลการตรวจสอบภายในของธนาคารก็ยอมรับว่ามีการกระทำความผิดจริงมีบุคคลทั้งภายนอกและภายในของธนาคารก่อให้เกิดความเสียหายในหลายขั้นตอนซึ่งมีทุกระดับและจะดำเนินการตามกระบวนการกฎหมาย แต่ขณะนี้ทางธนาคารกรุงไทยยังไม่ได้สรุปผลการตรวจสอบภายในให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบอย่างเป็นทางการ" นพ.จรูญศักดิ์ กล่าว

นพ.จรูญศักดิ์ กล่าวว่า กระทั่งเมื่อวันที่ 20 พ.ย. กลุ่มผู้เสียหายเข้าพบผู้บริหารธนาคารกรุงไทยซึ่งรับปากว่าจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในกลางเดือน ธ.ค.นี้ และ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จึงทราบว่ากำลังเร่งขอผลการตรวจสอบภายในของธนาคารกรุงไทยอยู่แต่ได้มีการประสานงานกับ ปปง. ช่วยตรวจสอบเส้นทางการเงินจากการทุจริตในกรณีดังกล่าว ทำให้วันนี้กลุ่มผู้เสียหายเดินทางมา ปปง. เพื่อขอความเป็นธรรมเร่งรัดติดตามเส้นทางการเงินจากการผู้กระทำผิดทั้งหมด มาดำเนินคดีและนำเงินกลับมาชดใช้คืนแก่ผู้ถือหุ้นกู้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเพราะหากล่าช้าโอกาสจะถูกถ่ายเททรัพย์สินไปยังบุคคลอื่นๆ และการติดตามเงินจะทำได้ยากยิ่งขึ้น

ด้าน พล.ต.ต.ปรีชา กล่าวว่า คดีดังกล่าวแยกออกเป็น 2 ส่วน โดยกรณีปลอมแปลงใบตราส่งสินค้าทางเรือ (Bill of lading-B/L) นำเข้าถ่านหินจากประเทศอินโดนีเซียมาใช้เป็นหลักฐานในการกู้เงินจากธนาคารกรุงไทย ซึ่งธนาคารกรุงไทยเป็นผู้เสียหายได้มีหนังสือแจ้งความร้องทุกข์ต่อ ดีเอสไอ และส่งหนังสือมายัง ปปง. ขอให้พิจารณาดำเนินการตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 กับ บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) กับพวก ตามความผิดมูลฐานฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ ตามมาตรา 3(18) โดยหลังจาก ปปง. รับเรื่องแล้วได้มีการเสนอต่อคณะกรรมการธุรกรรม เพื่อพิจารณามอบหมายให้สอบธุรกรรมทางการเงินหรือทรัพย์สินทันที ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบเส้นทางการเงินผู้ถูกกล่าวหาและผู้ที่เกี่ยวข้อง

พล.ต.ต.ปรีชา กล่าวว่า ส่วนกรณีธนาคารกรุงไทยปล่อยขายหุ้นกู้บริษัทเอิร์ธให้กับผู้เสียหายนั้น ทางดีเอสไอเพิ่งส่งหนังสือมาให้ปปง. ดำเนินการกับบริษัทเอิร์ธ ซึ่งก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกำลังรวบรวมหลักฐานเพื่อเสนอให้คณะกรรมการธุรกรรมตรวจสอบข้อเท็จจริงได้เร็วๆ นี้ หากคณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาแล้วเห็นว่าคดีมีมูลฐานความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงินก็จะมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเชิงลึกพร้อมประสานข้อมูลจากดีเอสไอและธนาคารกรุงไทยว่าเงินถูกโอนย้ายไปที่ไหน มีการถ่ายเทออกนอกประเทศหรือไม่ เพื่ออายัดทรัพย์ต่อไป