posttoday

ย้อนตำนานตาวิเศษ โครงการทรงพลังเรื่องขยะของเด็กๆ

18 กรกฎาคม 2561

ย้อนตำนานตาวิเศษ โครงการรักษาความสะอาดอันทรงพลัง กับ คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช ผู้คิดค้น

ย้อนตำนานตาวิเศษ โครงการรักษาความสะอาดอันทรงพลัง กับ คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช ผู้คิดค้น

-------------------------------

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

สภาพกรุงเทพมหานครเมื่อปี พ.ศ. 2527 ที่ติด 1 ใน 5 เมืองที่สกปรกที่สุดในโลก และภาพความสะอาดเรียบร้อยของประเทศในฟากฝั่งที่พัฒนาแล้ว กลายเป็นโอกาสให้ คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช เลือกผลักดันโครงการรณรงค์ทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทางซึ่งมีดวงตาดุดันเป็นสัญลักษณ์ภายใต้ชื่อ “ตาวิเศษ”

“ตอนนั้นทุกคนพูดกันแต่ว่าทำไมบ้านเราสกปรก ทำไมเจ้าหน้าที่ไม่จัดการ แต่เราเชื่อว่าน่าจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนไทยได้ เราจึงลงมือทำ” นายกสมาคมสร้างสรรค์ไทยกล่าวถึงความรู้สึกในอดีตเมื่อราว 34 ปีก่อน

จุดกำเนิดตาวิเศษ

โครงการรณรงค์ให้ทิ้งขยะเป็นที่เป็นทางที่มี “ลูกตา” เป็นสัญลักษณ์ เกิดขึ้นเมื่อสมาคมสร้างสรรค์ไทยได้เปิดตัวต่อสังคมครั้งแรก ในปีพ.ศ. 2527 หลังจากสถานการณ์ขยะในประเทศไทยขณะนั้นเข้าขั้นวิกฤติ

คุณหญิงชดช้อย นายกสมาคมสร้างสรรค์ไทย เลือกเริ่มต้นรณรงค์ปลุกจิตสำนึกเรื่องความสะอาดให้กับเด็กมากกว่าจะเป็นผู้ใหญ่ เพราะเห็นว่ามีโอกาสประสบความสำเร็จและต่อยอดในระยะยาวได้มากกว่า

ระหว่างขั้นตอนระดมสมองหาแนวทางการรณรงค์เรื่อง “ทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง” โดยตั้งใจให้สอดคล้องและเข้าถึงหัวใจเด็กๆ เธอสังเกตดูจากลูกๆ ว่าชอบดูการ์ตูนมาก จึงเกิดความคิดจะทำโฆษณาเป็นการ์ตูน พร้อมกับหาโลโก้ที่อยู่คู่ไปได้กับทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปทำกิจกรรมใดก็ยังสามารถนำโลโก้นี้ไปใช้ได้

“ระหว่างที่เรานั่งคิด เราสังเกตเห็นลูกๆ พวกเขาดูการ์ตูน จ้องตาไม่กระพริบเลย”

วันหนึ่งคุณหญิงชดช้อยได้รู้จักกับครีเอทีฟชาวต่างชาติที่อยู่บริษัทโฆษณาชื่อดัง ลินตาส เมื่อเขารู้ว่าเธอยังหาโลโก้ไม่ได้ จึงเสนอว่า น่าจะใช้ฮีโร่ แบบในภาพยนตร์เรื่องเจ็ดสิงห์แดนเสือ( Magnificent Seven) เป็นแนวทาง ในทำนองว่า เมื่อคาวบอยเข้ามาในเมืองเมื่อไหร่ ปัญหาทุกอย่างไม่ว่าจะหนักหนาแค่ไหน ก็สามารถจัดการได้เรียบร้อย

ครีเอทีฟรายดังกล่าวออกแบบดวงตานับสิบๆ ทั้งลักษณะยิ้มและดุให้ทีมงานได้ตัดสินใจ

ตอนนั้นสมาชิกสมาคมสร้างสรรค์ไทยช่วยคิดกันต่อจนได้ข้อสรุปว่า ควรใช้ดวงตาดุแต่ยังมีความน่ารัก คอยจ้องมองไม่ให้เราทำผิด จึงพัฒนาต่อจากตาต้นแบบ และใช้ชื่อภาษาไทยว่า ตาวิเศษ ส่วนภาษาอังกฤษเปลี่ยนเป็น Magic Eyes

ย้อนตำนานตาวิเศษ โครงการทรงพลังเรื่องขยะของเด็กๆ

“คนถามว่าทำไมดุ เพราะว่ามันยังสกปรกอยู่ มันจะยิ้มหลังจากสะอาดแล้ว” นายกสมาคมสร้างสรรค์ไทยให้เหตุผล

ผู้สร้างสรรค์ยังเห็นว่าดวงตาที่ดูดุ สอดคล้องกับสังคมไทย ซึ่งมีค่านิยมและวัฒนธรรม “รักษาหน้า” ในที่สาธารณะ ดวงตาคู่นี้จึงเป็นทั้ง Group symbol และ Project logo โดยมีความหมายว่าเป็น ดวงตาที่คอยสอดส่อง ดูแลพิทักษ์สิ่งแวดล้อม

หลังเปิดตัวโครงการ ก็ได้เริ่มมีการจัดทำกิจกรรมกระตุ้นให้ทุกคนรักษาสิ่งแวดล้อมผ่านละครตามโรงเรียน โฆษณาตามช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะเพลงตาวิเศษที่มีเนื้อหาท่อนหนึ่งว่า “อ๊ะ อ๊ะ อย่าทิ้งขยะ ตาวิเศษเห็นนะ ทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง” นับเป็นท่อนที่ติดหูและความทรงจำของเด็กๆ ที่กลายเป็นผู้ใหญ่ในวันนี้อย่างมาก โดยเฉพาะผู้คนในช่วงอายุ 30 – 40 ปีในปัจจุบัน

ย้อนตำนานตาวิเศษ โครงการทรงพลังเรื่องขยะของเด็กๆ

ตาวิเศษหายไปไหน

ปัจจุบันสมาคมสร้างสรรค์ไทยตั้งอยู่ชั้น 4 ภายในหอศิลป์ กรุงเทพฯ แม้บทบาทและพลังของตาวิเศษลดน้อยลงไป ทว่าปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนพูดถึงและเรียกร้องให้กลับมาปลูกจิตสำนึกให้กับเด็กและเยาวชนรวมถึงผู้ใหญ่ในประเทศนี้เสมอ

“ปัญหาคือเมื่อก่อนเราจัดละครจัดโครงการสร้างสรรค์ในวันหยุดพ่อแม่ผู้ปกครองจะพาเด็กๆ เดินทางมาดูกันเต็มไปหมด ปัจจุบันพวกเขามีกิจกรรมอื่นๆ ที่อยากทำมากกว่า เช่น ไปเที่ยวห้างสรรพสินค้า พาเด็กๆ ไปเรียนพิเศษ” คุณหญิงชดช้อยบอกถึงสถานการณ์ในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต และอยู่ระหว่างคิดค้นกระบวนการปลูกฝังและมีพลังผ่านโซเชียลมีเดีย

อีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้โครงการตาวิเศษเงียบเหงาไปคือ งบประมาณสนับสนุน จากอดีตที่องค์กรภาครัฐและเอกชน ต่างพากันอนุมัติเงินให้สมาคมฯ นำไปดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องในระยะยาว ปัจจุบันด้วยความที่ธุรกิจมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ละแห่งมักฝ่ายมีการตลาด มีทีมงานธุรกิจเพื่อสังคม หรือ ซีเอสอาร์ ค่อยคิดค้นและตัดสินใจในโครงการของตัวเอง

“บริษัทมีทีมการตลาด ต้องประเมินเม็ดเงิน ความคุ้มค่าและผลประโยชน์ที่ได้รับกลับมา แต่สมัยรุ่นพ่อรุ่นแม่เขาไม่ได้คิดแบบนั้น คิดเพียงแค่ให้เงินไปพัฒนาสังคม ไม่ว่าจะเป็นเครือสหพัฒน์ เซนทรัล บุญรอดฯ อย่างการบินไทยเมื่อก่อนเขาบอกว่าต้องสนับสนุนตาวิเศษเต็มที่เพราะถ้าอยากให้นักท่องเที่ยวมาเมืองไทย ต้องทำให้ประเทศสะอาด”

คุณหญิงบอกว่า สิ่งที่อยากให้ภาคธุรกิจตระหนักคือความต่อเนื่องและจริงจังของกิจกรรม หากไม่มีสิ่งเหล่านี้แล้วงานที่ออกมาจะเป็นเพียงแค่การโฆษณาและหายไปอย่างรวดเร็ว

“ถ้าไม่จริงจังแค่ 3 เดือนก็หายไปแล้ว อาจสร้างชื่อให้คนรู้จักแต่ไม่ยั่งยืน อยากขอเสนอว่า ทุกครั้งที่องค์กรคุณรณรงค์หรือทำซีเอสอาร์เรื่องใด งบประมาณ 100 เปอร์เซนต์ ควรแบ่งสัก 20 เปอร์เซนต์ให้กับองค์กรที่เขาดูแลและมีความรู้เรื่องนั้นจริงๆ เพื่อให้กิจกรรมมันเดินต่อไปและเกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริง”

ย้อนตำนานตาวิเศษ โครงการทรงพลังเรื่องขยะของเด็กๆ

ประชาชน รัฐ เอกชน ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง

“สมัยก่อนเราทิ้งกันเกลื่อนเลย ไม่ได้คิดถึงเรื่องถังขยะ บ้านเมืองสกปรก คิดกันแค่ว่าหน้าที่เก็บกวาดเป็นของกทม. ภารโรง แต่ประเทศที่เจริญแล้วคนเขาคิดเรื่อง public service ของเราคิดแค่เรื่องของตัวเอง เหมือนเวลาเราไปวัด หลายคนทำบุญทำทานเสร็จ ทิ้งขยะลงพื้นไว้ คิดว่าเป็นหน้าที่ของคนอื่นที่ต้องมาเก็บ” คุณหญิงชดช้อยเล่าถึงปัญหาการทิ้งขยะไม่ลงถังอันรุนแรงในอดีต ขณะที่ปัจจุบันปัญหาดังกล่าวลดน้อยลง แต่ถูกถ่ายโอนมาสู่ประเด็นเรื่องการปฏิเสธ การคัดแยกและการจัดการขยะ

เธอเชื่อว่า ทุกฝ่ายต้องมีส่วนช่วยและเดินไปด้วยกันอย่างสอดคล้อง เริ่มตั้งแต่ประชาชน ที่มีหน้าที่ลดการสร้างขยะ เรียนรู้ปรับตัวในการเลือกใช้วัสดุทดแทนในชีวิตประจำวัน เช่น พกพากระบอกน้ำ ถุงผ้า เป็นต้น ,

ด้านภาครัฐต้องกล้าที่จะออกกฎหมายเพื่อเป็นแรงกดดันให้ทุกคนลดการสร้างขยะและมีกระบวนการจัดเก็บที่พัฒนากว่าที่เป็น ตัวอย่างมีให้เห็นมากมายในหลายประเทศทั่วโลก ที่ออกเป็นกฎหมายห้ามใช้ถุงพลาสติกหรือเก็บภาษีถุงพลาสติก

“หลายประเทศห้ามใช้ถุงพลาสติกและเก็บภาษี เก็บค่าธรรมเนียม แต่ประเทศไทยเรายังไม่กล้า คิดว่าต้องกล้าได้แล้ว เราเห็นตรงกันแล้วว่าขยะมันเยอะมากและส่งผลกระทบมากขนาดไหน”

ย้อนตำนานตาวิเศษ โครงการทรงพลังเรื่องขยะของเด็กๆ

คุณหญิงบอกว่ารัฐเองต้องมีกระบวนการจัดเก็บและคัดแยกขยะอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้ประชาชนได้เห็นภาพว่า สิ่งที่พวกเขาทำนั้นได้รับการตอบสนองและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่เหมือนปัจจุบันที่ประชาชนไม่เข้าใจว่าจะแยกขยะหน้าบ้านตัวเองไปเพื่อเหตุใด เมื่อรถเก็บขยะของรัฐนำมันไปรวมกันอยู่ดี

“บ้านเราไม่มีการจัดการขยะ ไม่มีกระบวนการคัดแยกที่ดีพอ และสูญเสียผลประโยชน์ที่ควรได้รับจำนวนมากจากขยะ นอกจากนั้นยังกระทบกับสุขภาพอนามัยประชาชนอีกด้วย”

เมื่อปี 2008 รัฐสภาจีนได้ห้ามร้านค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และเอาต์เลต ให้ถุงพลาสติกที่ความหนาต่ำกว่า 0.025 มิลลิเมตรฟรีแก่ลูกค้า ซึ่งหากร้านค้าหรือผู้ค้าฝ่าฝืนจะมีโทษปรับสูงสุด 10,000 หยวน

ข้อมูล Worldwatch Institute ระบุว่า การห้ามใช้ถุงพลาสติกชนิดบางในจีน ช่วยลดภาวะมลพิษจากถุงลงได้มาก เพราะลดการใช้ถุงพลาสติกได้ 40 ล้านใบในปีแรกของการนำมาตรการมาใช้

คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปของจีน (National Development and Reform Commission: NDRC) เปิดเผยว่า การใช้ถุงพลาสติกในซูเปอร์มาร์เก็ตลดลง 66% นับตั้งแต่การใช้มาตรการ จากก่อนหน้านี้ที่มีการห้าม จีนใช้ถุงพลาสติกปีละ 3 พันล้านใบ และสร้างขยะกว่า 3 ล้านตันต่อปี ซึ่งมาตราการนั้นอาจเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับประเทศไทย

ย้อนตำนานตาวิเศษ โครงการทรงพลังเรื่องขยะของเด็กๆ

สำหรับแรงกดดันจากภาคเอกชนคุณหญิงบอกว่าต้องกล้าออกกฎระเบียบภายในบริษัท เช่น ติดป้ายห้ามนำโฟมเข้ามาภายในอาคาร ซึ่งผลกระทบจะเกิดขึ้นในวงกว้าง พนักงานในออฟฟิศ พ่อค้าแม่ค้าโดยรอบจะเกิดการปรับตัว และพัฒนาด้วยการหาวัสดุใหม่ๆ มาทดแทน

“คูลเลอร์น้ำต้องไม่มีแก้วกระดาษเลย ทุกคนจะเกิดการปรับตัว หาแก้วเป็นของตัวเองหรือบริษัทแจกจ่ายให้กับพนักงานก็ได้ เริ่มจากเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ของตัวเองก่อน และเก็บข้อมูลว่า เราช่วยลดขยะลงไปได้เท่าไหร่ หรือเรื่องของโฟม ก็ต้องกล้าจะปฏิเสธ อย่าไปกลัวว่าร้านค้าจะขายของไม่ได้ มันเป็นการให้การศึกษาเขาทางอ้อมด้วย เขาจะต้องเปลี่ยนแปลงไม่เช่นนั้นขายของไม่ได้”

สุภาพสตรีหญิง กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า ผู้บริหารต้องตระหนักและคิดให้กว้างว่า ลูกจ้างของตัวเองจำนวนหลักร้อยหลักพันหรือแม้แต่หลักหมื่นนั้น หากสามารถปลูกจิตสำนึกหรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเขาได้ พวกเขาจะสามารถต่อยอดไปได้อีกไกลในระดับครอบครัว ลูกหลาน และสังคมวงกว้าง

“ฉันทำ ฉันปฏิบัติ และส่งต่อความคิด แบบนี้มันมีประสิทธิภาพและกลายเป็นพลังมหาศาล” ผู้คิดค้นโครงการตาวิเศษกล่าวในที่สุด

ย้อนตำนานตาวิเศษ โครงการทรงพลังเรื่องขยะของเด็กๆ