posttoday

"จิตแพทย์" แนะวิธีแก้เด็กเอาแต่ใจ-เตือนพ่อแม่อย่าประจานลูกผ่านโซเชียล

16 พฤษภาคม 2561

พญ.กุลนิดา เต็มชวาลา เผยวิธีแก้ปัญหาเด็กเอาแต่ใจ-เตือนพ่อแม่อย่าประจานลูกผ่านโซเชียล หลังมีคลิปเด็กเอาเเต่ใจเเชร์สนั่น

พญ.กุลนิดา เต็มชวาลา เผยวิธีจัดการเด็กเอาแต่ใจ-เตือนพ่อแม่อย่าประจานลูกผ่านโซเชียล หลังมีคลิปเด็กเอาเเต่ใจเเชร์สนั่น

ภาพเด็กสาวตัวเล็กร้องไห้กระจองอแง กรีดร้องอย่างรุนแรง หลังจากไม่พอใจของเล่นที่คุณแม่เพิ่งซื้อให้ และพูดจาในลักษณะแสดงความต้องการอยากได้ของเล่นชิ้นใหม่ ถูกส่งต่อไปทั่วโลกออนไลน์

คำถามก็คือ เราควรจัดการพฤติกรรมเช่นนี้ของเด็กอย่างไร และถูกต้องแล้วหรือไม่ที่พ่อแม่ผู้ปกครองอัดคลิปวิดีโอโพสต์ผ่านโซเชียลมีเดียเช่นนี้

พญ.กุลนิดา เต็มชวาลา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น บอกกับโพสต์ทูเดย์ว่า พฤติกรรมของเด็กในคลิปน่าจะเกิดจากการถูกขัดใจ ไม่ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ จึงเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวอาละวาด โวยวายเสียงดังและทำร้ายตัวเอง

ในเด็กวัย 2-3 ขวบซึ่งเป็นวัยที่กำลังเป็นตัวของตัวเอง หากโดนขัดใจจะมีอาการเช่นนี้ได้ ผู้ปกครองควรมีวิธีการจัดการที่เหมาะสม เช่น เพิกเฉยเพื่อให้เด็กสามารถสงบอารมณ์ตัวเองได้ หลีกเลี่ยงการดุ การตี การอธิบายในขณะที่เด็กยังมีอารมณ์โกรธ/ไม่พอใจ

เมื่อเด็กมีอารมณ์สงบแล้วจึงกล่าวชม เช่น "เก่งมาก หนูเงียบแล้ว แม่ดีใจมาก" และพูดคุยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในขณะที่หากมีพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง/ทำร้ายผู้อื่นหรือทำลายข้าวของต้องหยุดพฤติกรรมเหล่านั้นทันที คือจับมือล็อคไว้ไม่ให้เด็กสามารถทำร้ายได้ รอจนสงบและค่อยพูดคุยกัน หลีกเลี่ยงการตามใจหรือติดสินบนเพื่อตัดรำคาญ

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น บอกว่า หากเด็กได้รับการฝึกตั้งแต่เล็กๆ จะสามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ดีเมื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่พอใจ ในทางตรงข้ามหากไม่ได้รับการดูแลหรือฝึกฝนการควบคุมอารมณ์ เด็กจะมีพฤติกรรมต่อเนื่องจนโต ซึ่งจะแก้ไขยากขึ้น

"จิตแพทย์" แนะวิธีแก้เด็กเอาแต่ใจ-เตือนพ่อแม่อย่าประจานลูกผ่านโซเชียล

สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองที่อัดคลิปวิดีโอพฤติกรรมที่ไม่ดีของลูกก่อนโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย พญ.กุลนิดาเห็นว่าไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องและเป็นผลลบให้กับลูกของตนเองอย่างมาก

เธอบอกว่า การที่ผู้ปกครองนำพฤติกรรมไม่ดีหรือข้อมูลบางอย่างที่ไม่เหมาะสมของเด็กมาลงในสื่อโซเชียลมีเดียเช่น พฤติกรรมที่ไม่น่ารัก รูปโป๊ เลขบัตรประชาชนหรือพาสปอร์ต เป็นการไม่สมควร

เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้จะอยู่ในโลกออนไลน์เป็นระยะเวลายาวนาน อาจเกิดผลเสียตามมากับเด็กได้ในอนาคต เช่น อาจโดนกลั่นแกล้งล้อเลียนจากเพื่อน อาจมีการนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ผิด เช่น นำไปก่ออาชญากรรม การลักพาตัว เป็นต้น นอกจากนี้การนำข้อมูลของเด็กไปลงอาจเป็นการละเมิดสิทธิของเด็กด้วย