posttoday

กรมชลฯ เตรียมรับมือพายุฤดูร้อน 15-18 เม.ย.

14 เมษายน 2561

กรมชลประทาน เตรียมพร้อมรับมือผลกระทบจากอิทธิพลของพายุฤดูร้อน 15 - 18 เม.ย. นี้

กรมชลประทาน เตรียมพร้อมรับมือผลกระทบจากอิทธิพลของพายุฤดูร้อน 15 - 18 เม.ย. นี้

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากการคาดหมายพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาช่วงวันที่  15-18  เม.ย. 2561 จะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น ทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง กับมีฟ้าผ่าและลูกเห็บตกบางพื้นที่ โดยในวันที่ 15 เม.ย. 61  จะมีผลกระทบบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ช่วงวันที่  16-17  เม.ย.  61  จะมีผลกระทบบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และในวันที่  18  เม.ย.  2561  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกจะมีฝนลดลง ส่วนบริเวณภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีฝนฟ้าคะนองต่อเนื่อง นั้นวันที่ 15-17 เม.ย. ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน   กับมีพายุฤดูร้อนขึ้น โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่

ทั้งนี้กรมฝนหลวงฯ  จึงเตรียมพร้อมปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ที่อาจประสบกับสถานการณ์ต่างๆ ดังกล่าวในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์นี้ โดยมอบหมายให้แต่ละศูนย์ปฏิบัติการทั้ง 5 ภูมิภาค  ทั้งนี้ให้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดสงขลา ปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่บริเวณทิศตะวันตก ตั้งแต่อำเภอตากใบถึงอำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้กับป่าพรุและป้องกันการเกิดไฟป่าในพื้นที่ โดยระดับน้ำผิวดินในพื้นที่  รอบป่าพรุโต๊ะแดง อำเภอสุไหงปาดี ต่ำมาก    ซึ่งมีโอกาสเกิดไฟป่าสูง จึงปฏิบัติการฝนหลวงจำนวน 1 เที่ยวบิน ทำให้มีฝนตกเล็กน้อยบริเวณอำเภอสุไหงปาดีและอำเภอเจาะไอร้อง ซึ่งอยู่ในพื้นที่ป่าพรุโต๊ะแดง  ทำให้สามารถช่วยเพิ่มระดับน้ำผิวดินและลดโอกาสการเกิดไฟป่าในพื้นที่ดังกล่าวได้

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า  กรมชลประทาน ได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทาน บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเตรียมรับมือกับสถานการณ์น้ำที่อาจจะเกิดขึ้น จากอิทธิพลของพายุฤดูร้อน ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตนอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งให้ตรวจสอบระบบ อาคารชลประทาน และเครื่องจักร เครื่องมือ ให้สามารถใช้การได้อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อช่วยเหลือประชาชนได้ทันต่อเหตุการณ์  จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตนอย่างใกล้ชิด หรือหากท่านใดต้องการความช่วยเหลือ สามารถประสานไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ของตนได้ตลอดเวลา

ปัจจุบันข้อมูล ณ  13  เม.ย. 2561  สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น  49,450  ล้านลูกบาศก์เมตร(  ลบ.ม.) คิดเป็น 65% ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด มากกว่าปี  2560 รวม 6,675 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้การได้ 25,530 ล้านลบ.ม.คิดเป็น 49% (ปี 2560 มีน้ำใช้การได้ 18,800 ล้าน ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก มีปริมาณน้ำรวมกัน 14,634 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น  59% ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำมากกว่าปี 2560 รวม 2,913 ล้าน ลบ.ม. และมีปริมาณน้ำใช้การได้ 7,938 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 44%(ปี 2560 มีน้ำใช้การได้ 5,025 ล้าน ลบ.ม.)


ภาพประกอบข่าว