posttoday

"อย่ากีดกันเพศสภาพ" เสียงจากครูเคทผู้เขย่าความเป็นธรรมใน มธ.

19 มีนาคม 2561

"ปัจจุบันในประเทศไทยยังมีการล้อเลียนเกย์ กะเทย ยังเลือกปฏิบัติ โดยไร้การส่งเสริมทำความเข้าใจในองค์ความรู้ที่ถูกต้องต่อการเคารพสิทธิเคารพเพศสภาพอย่างเท่าเทียม"

"ปัจจุบันในประเทศไทยยังมีการล้อเลียนเกย์ กะเทย ยังเลือกปฏิบัติ โดยไร้การส่งเสริมทำความเข้าใจในองค์ความรู้ที่ถูกต้องต่อการเคารพสิทธิเคารพเพศสภาพอย่างเท่าเทียม"

******************************

โดย...เอกชัย จั่นทอง

แม้ความฝันของ คทาวุธ ครั้งพิบูลย์ หรือ “ครูเคท” สาวข้ามเพศ จะพังทลายลงหลังถูกปฏิเสธไม่ให้เป็นอาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ทั้งที่ผ่านการคัดเลือกแล้ว ด้วยเหตุผลที่ทางมหาวิทยาลัยเห็นว่า เธอแสดงออกในโซเชียลเน็ตเวิร์กทำให้มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย

ครูเคท ตัดสินใจลุกขึ้นฟ้องมหาวิทยาลัยตั้งแต่ปี 2558 เนื่องจากเห็นว่ามหาวิทยาลัยใช้ดุลพินิจไม่ชอบ และเป็นการเลือกปฏิบัติทางเพศ ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน เพราะไม่ได้ตัดสินที่คุณสมบัติซึ่งเป็นสาระสำคัญ แต่ดูการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก

อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้ ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาสั่งเพิกถอนคำสั่งมหาวิทยาลัย และทำสัญญาจ้างเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ตำแหน่งอาจารย์ คณะสังคมศาสตร์ ตามที่สอบคัดเลือกได้เมื่อปี 2557 ล่าสุดคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีมติอุทธรณ์ต่อศาลปกครองต่อ โดยจะแถลงในวันนี้ (19 มี.ค.)

ระยะเวลากว่า 3 ปีเศษที่ คทาวุธ ต่อสู้ฟ้องร้องขอความเป็นธรรม ได้เปิดใจว่าความตั้งใจที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะต้องขึ้นศาล เนื่องจากกระบวนการฟ้องร้องต้องใช้ทรัพยากร แต่ด้วยความที่คลุกคลีทำงานด้านสิทธิมนุษยชน จึงมองว่าไม่ควรนิ่งเฉย และเชื่อว่าเรื่องที่เกิดขึ้นไม่เป็นธรรม ครั้งตอนสมัครงานที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ผ่านกระบวนการคัดเลือกทุกขั้นตอนจนระยะเวลาผ่านไปนับปี กลับแจ้งผลว่า “ไม่จ้าง” โดยให้เหตุผลถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

“การตัดสินใจฟ้องร้องจะเป็นข้อถกเถียงในสังคมเกี่ยวกับการจ้างคนที่มีความหลากหลายทางเพศเข้าไปทำงาน เพราะในตลาดแรงงานยังมีอคติและในสังคมสูงมากกับการเลือกกลุ่มคนเพศสภาพเข้าทำงาน แม้ว่ากลุ่มคนเพศสภาพจะทำงานเก่ง วุฒิการศึกษาตรง แต่มักถูกปัดตกจากบุคลิกภาพที่ไม่น่าเชื่อถือ ทั้งที่ความจริงกลับไม่ดูเรื่องศักยภาพความสามารถที่มีของแต่ละบุคคล” ครูเคท เผยความรู้สึก

การลุกขึ้นต่อสู้ทำให้ “ครูเคท” มีกลุ่มคนหลากหลายทางเพศเข้ามาปรึกษา เนื่องจากถูกกระทำคล้ายกัน ทำให้รู้ว่ามีบุคคลสาวประเภทสอง กะเทย ตุ๊ด เกย์ ถูกกระทำเหมือนกัน ทั้งการถูกเลือกปฏิบัติในสถานที่ทำงาน ถูกเพื่อนล้อเลียน ตำแหน่งงานไม่เลื่อนขั้น เงินเดือนไม่ขึ้น จึงไม่ได้คิดว่าผลการต่อสู้จะแพ้หรือชนะ

ตอนนี้แม้จะไม่ได้เป็น “ครู” ตามความฝันที่ปั้นแต่งไว้ แต่ คทาวุธ ยังโชคดีที่มีโอกาสใช้ความรู้ความสามารถประกอบอาชีพอื่นหล่อเลี้ยงชีพได้ การลุกขึ้นสู้ครั้งนี้กลายเป็นแรงผลักดันทำให้เข้มแข็ง โดยหวังว่าสักวันจะได้รับความยุติธรรม

สำหรับมุมมองประเด็นเรื่องกลุ่มคนข้ามเพศในสังคมปัจจุบัน เจ้าตัวให้ความเห็นว่าสังคมยังไม่ได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นความหลากหลายทางเพศ “แม้ต่อให้พูดว่ากะเทยมีเต็มบ้านเมืองไปหมดแล้วทำไมจึงยังไม่เท่าเทียมอีกหรือ” รวมถึงการใส่กระโปรงก็ถือว่าเท่าเทียมแล้ว นั่นคือเสียงจากสังคมส่วนหนึ่ง ทว่าส่วนตัวมองว่ามันยังไม่ใช่ความเท่าเทียมที่แท้จริง นิยามความเท่าเทียมจริงๆ คือคนเหล่านี้ได้รับการรับรองจากกฎหมายแล้วหรือไม่ รัฐบาลสนใจเปลี่ยนคำนำหน้านามให้หรือยัง

“เวลาถือบัตรประชาชนไปติดต่อธุระมีคำนำหน้าชื่อว่านาย มักถูกมองด้วยสายตาที่ตกใจ คล้ายตัวประหลาด ถูกมองไม่ดี ตรงนี้จึงมองว่ายังไม่ได้รับการแก้ไขและเป็นปัญหาในชีวิตประจำวันของคนข้ามเพศ มันเป็นอนาคตที่คนในสังคมยังมองว่าสาวประเภทสอง กะเทย ฯลฯ เป็นตัวประหลาด”

“มันเป็นความบั่นทอนสภาพจิตใจ เนื่องจากสังคมไทยยังไม่มีการรับรองทางกฎหมายกับกลุ่มสาวประเภทสอง กะเทย เกย์ ฯลฯ ว่าจะมีที่ยืนหรือมีนโยบายอะไรที่ชัดเจนในสังคม ล้วนแตกต่างกับต่างประเทศที่ยอมรับกลุ่มคนเหล่านี้ ถึงเวลาที่สังคมไทยควรพูดคุยเรื่องนี้อย่างจริงจัง”

ทั้งนี้ ต้องมีการเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้กลุ่มคนหลากหลายทางเพศได้ใช้ชีวิต ถ้าโอกาสนั้นเกิดขึ้นเชื่อว่ากลุ่มเหล่านี้คงไม่ถูกเหยียดหยามจากสังคม องค์กร สถานที่ทำงานเดียวกัน และอย่าตัดสินคนเหล่านี้ด้วยการเป็นเพศสภาพ หรือความตรงข้ามกับอัตลักษณ์ทางเพศ

ปัจจุบันในประเทศไทยยังมีการล้อเลียนเกย์ กะเทย ยังเลือกปฏิบัติ โดยไร้การส่งเสริมทำความเข้าใจในองค์ความรู้ที่ถูกต้องต่อการเคารพสิทธิเคารพเพศสภาพอย่างเท่าเทียม สังคมไทยควรหันมาทำเรื่องเหล่านี้ รัฐบาลควรขยับหรือออกกฎหมาย ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องตระหนัก

ครูเคท ยังแสดงความเห็นปมสังคมอาจมองว่ากลุ่มคนหลากหลายทางเพศสร้างปัญหาว่า ที่เราเผชิญอยู่คือวิธีคิดแบบ “ผลิตซ้ำ” มันเป็นมายาคติ โดยมองภาพลักษณ์กลุ่มคนเหล่านี้ต้องเป็นแบบเดียวกันหมด จึงคิดว่าเป็นการใส่ร้ายป้ายสีความเป็นเพศ ทุกเพศมีนิสัยแตกต่างกันไปของแต่ละคน มายาคติทางเพศยังคงถูกสอน ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ความเท่าเทียมเรื่องเพศไม่เกิดขึ้น แม้สังคมที่พัฒนาแล้วจะยอมรับเคารพเข้าใจรับรองเพศสภาพกลุ่มคนเหล่านี้

“การเห็นกลุ่มความหลากหลายทางเพศทำงาน นั่นหมายความว่าทุกคนก็ต้องทำมาหาเลี้ยงชีพต้องการเข้าถึงทรัพยากร อย่ามองว่ากะเทยต้องทำงานเสริมสวยเท่านั้น รู้สึกว่าไม่ยุติธรรม ทุกคนสามารถทำงานได้ตามความสามารถ”

อย่างไรก็ตาม เธอย้ำหนักแน่นว่า การมีอคติ ตีตราคนข้ามเพศในสังคมไทย ยังมีอีกหลายกรณีเกิดขึ้น ดังนั้นจึงไม่ควรนิ่งเฉยเมื่อถูกเลือกปฏิบัติ ควรใช้กลไกกฎหมายต่อสู้ สิ่งนี้จะช่วยกระทุ้งสังคมให้เห็นว่ายังมีการปิดกั้นโอกาสกลุ่มคนเหล่านี้อยู่