posttoday

ไทย-แพน เตรียมยื่นศาลปกครองฟ้องกรมวิชาการเกษตร

19 พฤษภาคม 2559

ไทย-แพน เตรียมยื่นศาลปกครอง ฟ้องกรมวิชาการเกษตร ละเลยตรวจสอบคุณภาพผักพบสารเคมีตกค้าง

ไทย-แพน เตรียมยื่นศาลปกครอง ฟ้องกรมวิชาการเกษตร ละเลยตรวจสอบคุณภาพผักพบสารเคมีตกค้าง
 
นายกฤษฎา บุญชัย นักวิชาการเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) เปิดเผยว่า จากการที่เครือข่ายแถลงผลการเฝ้าระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผักผลไม้ 2559 พบว่าสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐาน แต่ปรากฏว่ามีหน่วยงานรัฐกล่าวหาว่าทางเครือข่ายรับเงินสนับสนุนจากองค์กรต่างประเทศ ทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ ทางเครือข่ายจึงเตรียมดำเนินการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกรณีกรมวิชาการเกษตร ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ กรณีพบการตกค้างของสารเคมีเกินมาตรฐานในผักและผลไม้ที่กรมวิชาการเกษตรให้การรับรอง คาดว่าจะรวบรวมพยานหลักฐานฟ้องในต้นเดือนมิ.ย.นี้
 
ทั้งนี้ เครือข่ายทำงานมุ่งหวังอยากให้อาหารปลอดภัย เพราะพบเห็นปัญหาสารเคมีตกค้างมาโดยตลอด เป็นการเรียกร้องเพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่คุณภาพชีวิตของชาวเกษตรกร และผู้บริโภค ที่จะได้รับประทานพืชผักผลไม้ปลอดสารเคมี การออกมาเรียกร้องครั้งนี้ถือเป็นการเตือนล่วงหน้าถึงสถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลก จึงอยากเห็นหน่วยงานต่างๆช่วยกันแก้ปัญหา ไม่ใช่มากล่าวโทษผู้ที่ออกมาเตือนถึงปัญหาอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้
 
น.ส.กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการโครงการกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า เป้าหมายของเครือข่าย ต้องการตรวจสารเคมีตกค้างในผักเพื่อสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนมีความปลอดภัยเข้าถึงได้ง่าย แม้ว่ากรมวิชาการเกษตร ตรวจสอบอยู่ตลอดแต่ก็ยังมีจุดบกพร่องที่ต้องแก้ไข นำไปสู่การฟ้องร้องศาลปกครอง เพื่อแก้ปัญหาเชิงระบบ ปรับปรุงความไม่มีประสิทธิภาพของหน่วยงานราชการ เพื่อให้โปร่งใส ตรวจสอบได้
 
อย่างไรก็ตาม เครือข่ายจะยังเดินหน้าประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการและประชาชนทุกภาคส่วน ให้ตระหนักและตื่นตัว ช่วยกันแจ้งเตือนหน่วยงานรัฐเข้าไปตรวจสอบคุณภาพอาหารสร้างความปลอดภัยในชีวิตความเป็นอยู่ ส่วนการฟ้องร้อง แบ่งเป็น 2 กรณีคือ 1.กรมวิชาการเกษตรละเลยการควบคุมสินค้าที่มีเครื่องหมายคิว  เนื่องจากพบปัญหาสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานทั้งที่ผ่านการรับรองแล้ว ดังนั้นกรมวิชาการเกษตรต้องมีมาตรการที่ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก  2.พบการตกค้างของสารอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งเป็นสารเคมีที่ห้ามจำหน่ายในประเทศไทย จึงเป็นเรื่องที่กรมวิชาการเกษตรต้องเข้ามาตรวจสอบอย่างใกล้ชิด

ภาพประกอบข่าว