posttoday

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยฝากการบ้าน "รมว.คลังคนใหม่" แนะ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก

29 เมษายน 2567

เผย เอสเอ็มอี คาดหวังมีนโยบาย ทำให้เกิดนวัตกรรมทางการเงิน การคลัง มีการออกแบบมาตรการที่ตอบโจทย์ในการกระตุ้น และแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจริงให้กับเศรษฐกิจฐานราก และประชาชน

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า นายพิชัย ชุณหวชิร เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และมีนายเผ่าภูมิ โรจนสกุลเข้ามาเพิ่ม ร่วมกับนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ และนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ นั้น หากมองในมุมของสายเศรษฐกิจ ฝั่งเอสเอ็มอีประเมินได้ว่า รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ เนื่องจากนายกฯมีภารกิจต้องดูแลทั้ง ครม. ขณะที่งานเศรษฐกิจในสถานการณ์ปัจจุบันต้องมีความเข้มข้น รวมถึงต้องมีความรับผิดชอบ และมีเวลาค่อนข้างมากในการดูแลแก้ปัญหา

ขณะที่นายพิชัย และนายเผ่าภูมิเองก็เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์เรื่องของเศรษฐกิจ เรื่องตลาดทุน แต่เอสเอ็มอีก็มีความคาดหวังว่า เมื่อมองภาพรวมแล้วต้องการให้รัฐมนตรีสายเศรษฐกิจมองภาพย่อลงมาถึงเศรษฐกิจฐานรากด้วย

อย่างไรก็ดี เอสเอ็มอีคาดหวังว่าจะมีนโยบายที่จะทำให้เกิดนวัตกรรมทางการเงิน การคลัง มีการออกแบบมาตรการที่ตอบโจทย์ในการกระตุ้น และแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจริงให้กับเศรษฐกิจฐานราก และประชาชน โดยมีภารกิจที่ยังรอการแก้ไขและสานต่ออีกหลายเรื่อง ประกอบด้วย

การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนซึ่งสูงถึงระดับ 91% ของจีดีพี โดยถือเป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้น จึงต้องมีกลไกล หรือมาตรการยกระดับเรื่องของการเงินทั้งระบบ 

โครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยเอสเอ็มอีหลายภาคส่วนมองว่าเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดี แต่วิธีการ หรือที่มาของเงินยังทำให้เกิดความกังวล ซึ่งเข้าใจดีว่ารัฐบาลต้องทำตามกฎหมาย และแหล่งที่มาของเงิน โดยมองว่าไม่ต้องการให้เป็นภาระไปกดดันรัฐบาลเอง หรือทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบในการเป็นหนี้ระยะยาว

สิ่งที่รัฐบาลขาดอยู่ คือเรื่องแผนที่นำทาง หรือโร้ดแมพที่ปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจน โดยรมว.คลังคนใหม่ อาจจะต้องมาทำความเข้าใจ ทำการการสื่อสารเชิงรุกให้กับประชาชนว่า หลังจากนี้รัฐบาลจะทำอะไรเป็นข้อๆที่ชัดเจนสำหรับกระบวนการที่จะทำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งอาจจะทำข้อเสนอแนะของเอกขน สื่อมวลชน ประชาชน หรือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่นำเสนอเรื่องต่างๆที่เป็นประโยชน์กับรัฐบาลมาปรับ หรือนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการดิจิทัลวอลเล็ต

นายแสงชัย กล่าวว่า เอสเอ็มมีคววามคิดเห็นตรงกันก็คือ การนำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมาพัฒนากำลังคน พัฒนาเรื่องการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ เพื่อให้เกิดรายได้ที่สูงขึ้น ซึ่งจะนำมาสู่ความยั่งยืนในส่วนของผู้ว่างงาน หรือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐประมาณ 15 ล้านคน โดยอาจจะนำมาพัฒนาให้เป็นกำลังแรงงานที่มีคุณภาพ มีผลิตภาพ หรือมาทำเป็นอาชีพอิสระ หรือเป็นเอสเอ็มอี หรือหากเป็นเกษตรกรก็จะต้องพัฒนาไปสู่สายอาชีพที่เป็นผู้ประอบการ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการเกษตร เอสเอ็มอี หรืออาชีพอิสระ  

ควรจะต้องมีมาตรการเรื่องการทบทวนดอกเบี้ย และเงื่อนไขหลักประกันของพิโก้ไฟแนนซ์  โดยรมว.คลังควรไปศึกษา และทบทวนาพิโกไฟแนนซ์ควรมีเรื่องความเป็นธรรมของดอกเบี้ย ซึ่งเวลานี้มีเพดานที่ 36% ต่อปี ซึ่งปรากฎว่าเงื่อนไขการมีหลักประกัน กับไม่มีหลักประกันมีความขัดแย้งกันอยู่ เหตุใดถึงออกแบบให้เป็นอย่างนั้น 

มองว่าปัจจุบันยังมีการแก้ไขปัญหาที่ไม่ถูกจุด เช่น บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือบสย. ซึ่งค้ำประกันสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอี โดย บสย.ควรค้ำประกันให้กับสถาบันการเงินของรัฐ ไม่ใช่สถาบันการเงินที่เป็นอกชน ซึ่งทำให้กรณีที่ควรจะได้รับการค้ำประกันทั้ง 100% ได้เพียง 80% หรือน้อยกว่า และทำให้บางส่วนเข้าไปถึงกลไกลดังกล่าวได้ยาก  

ดังนั้นกระทรวงการคลังต้องทบทวนการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. ให้ดำเนินการเฉพาะสถานบันการเงินของรัฐ และอาจจะขยายไปช่วยเรื่องกองทุนได้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่เงินต้นทุนต่ำของเอสเอ็มอี

กระทรวงการคลังต้องหากลไกลในการผลักดันให้ธปท. กำกับสถาบันการเงินให้มีแนวปฏิบัติ หรือเกณฑ์รองรับในการคำนวณดอกเบี้ย และความเสี่ยงกับลูกค้า  เพราะมีผลกับเอสเอ็มอีเรื่องเงินทุนหมุนเวียน สภาพคล่อง