เปิดตัวเลขการเติบโตครีเอเตอร์ในเวทีโลก กับ “Professor David Craig”
“Professor David Craig” กูรูโซเชียลมีเดียสหรัฐฯ เปิดตัวเลขการเติบโตครีเอเตอร์โลก พบคืออาชีพขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก สร้างรายได้ทางเศรษฐกิจของแพลตฟอร์มและ Ecosystem ที่เกี่ยวข้อง คิดเป็นมูลค่าถึงประมาณ 7 ล้านล้านดอลลาร์ทั่วโลก
Professor David Craig นักวิชาการด้านโซเชียลมีเดียชั้นนำจากสหรัฐอเมริกา กล่าวในงานสัมมนา Global Creator Culture Summit จัดโดย บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ว่า วันนี้ครีเอเตอร์ คือ กลุ่มผู้ทรงอิทธิพล ที่เป็นกลไกหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก เพราะมีศักยภาพเป็นได้ทั้ง “แบรนด์” ด้วยตัวเอง, เป็นผู้สร้างชุมชนออนไลน์, สร้างรายได้แบบ O2O ทั้งจากพื้นที่ตัวเอง-แพลตฟอร์ม-ช่องทางอื่น และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่อุตสาหกรรมแวดล้อมอื่นๆ ได้อีกด้วย อาทิ มีพลังขับเคลื่อนการพัฒนาบริการและฟีเจอร์ต่างๆ บนโทรศัพท์มือถือ ที่มีความสำคัญต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม
นี่คือสิ่งยืนยันที่ว่า ครีเอเตอร์คือศูนย์กลางการสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจของแพลตฟอร์มและ Ecosystem ที่เกี่ยวข้อง คิดเป็นมูลค่าถึงประมาณ 7 ล้านล้านดอลลาร์ทั่วโลก ดังตัวอย่างจาก วัฒนธรรมหว่างหง (Wanghong Culture) หรือเน็ตไอดอล ผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์ของจีน ที่สร้างโซเชียลคอมเมิร์ซให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด เพราะที่จีน ไม่ว่าใคร แม้แต่แรงงานเกษตรกร ก็สามารถเป็นอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังได้ เพราะได้รับการสนับสนุนให้เป็นหว่างหงครีเอเตอร์ ดังนั้นการเดินทางมาแลกเปลี่ยนและทำงานวิจัยในครั้งนี้ของผม จึงเชื่อว่าจะได้แนวทางชัดเจน ที่ทำให้เราสามารถสร้างเศรษฐกิจจากวัฒนธรรมครีเอเตอร์ระดับโลก และสามารถกำหนดอนาคตและทิศทางของเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลกต่อไปได้อย่างเป็นรูปธรรมร่วมกัน
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตนเองได้ศึกษาวัฒนธรรมของเหล่าครีเอเตอร์ โดยอ้างอิงถึงจำนวนของผู้ประกอบการทางโซเชียลมีเดียที่มีเพิ่มมากขึ้น การจัดระเบียบโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มและการสร้างรายได้จากสังคมออนไลน์ โดยมีหนังสือเล่มแรก Social Media Entertainment การวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบระหว่างวัฒนธรรมสื่อใหม่ มีความแตกต่างจากสื่อดั้งเดิมของ Hollywood หรือ Ballywood หรือ Nollywood อย่างไร เล่มที่สอง เป็นกวีนิพนธ์ของนักวิชาการจากทั่วโลกที่ศึกษาปรากฏการณ์เดียวกันจากหลากหลายสาขาวิชาและทฤษฎี และเล่มสุดท้ายเป็นเรื่องเกี่ยวกับ วัฒนธรรมครีเอเตอร์ของจีน หรือที่เราเรียกกันว่า “วัฒนธรรมหว่างหง”
Professor David Craig เล่าว่า 10 ปีที่แล้ว เพื่อนร่วมงานและตนเองได้ศึกษาวิจัยว่าเหล่า YouTubers จะสามารถเป็นตัวแทนฮอลลีวูดในยุคถัดไปได้หรือไม่ เพราะพวกเขาใช้แพลตฟอร์ม YouTube ในการกลายเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ โปรดิวเซอร์ นักเขียน ผู้กำกับ นักดนตรี นักกวี ฯลฯ ที่สุดแล้ว พวกเราก็เข้าใจได้ว่าวิธีแบบนี้มันช่างง่ายจริง ๆ ตลอดเวลา 4 ปีที่ผ่านมา เราได้สัมภาษณ์คนไปมากกว่า 300 ครั้ง จาก 10 ประเทศ ใน 25 เมือง เพื่อเขียนหนังสือเกี่ยวกับ Social Media Entertainment ออกมาเป็นครั้งแรกคำถามนั้นง่ายมาก คือ ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น มันก็เป็นสื่อใหม่ที่คล้ายอุตสาหกรรมภาพยนตร์หรือทีวี ใช่หรือไม่? หรือ เป็นสื่อใหม่ไปเลย? แล้วมันคืออะไร?
เห็นได้ชัดว่ามีความแตกต่างในการทำธุรกิจ ระหว่างสื่อสตรีมมิ่ง เช่น Iqiyi, Netflix, Disney ที่ทำธุรกิจด้วยการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาทั้งหมดบนแพลตฟอร์มของตัวเอง กับโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มที่มีกระบวนการทำงานที่แตกต่างกันไป อาทิ ระบบหลังบ้าน เทคโนโลยีที่ใช้ หรือการให้สิทธิ์ครีเอเตอร์ในการสร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่ และยังสามารถทำเงินได้จากหลากหลายวิธีและช่องทาง
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีการถกเถียงอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับคำนิยามของผู้ประกอบการเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น Influencers, YouTubers, Tiktokers และอื่น ๆซึ่งตนเองค่อนข้างเซอร์ไพรส์มากที่ประเทศไทยเรียกเหล่าครีเอเตอร์ว่า KOL ซึ่งเป็นคำเรียกขานที่ใช้กันในจีน ภายใต้บริบทที่เรียกว่า “เศรษฐกิจหว่างหง” (Wanghong Economy) แต่อะไรล่ะคือสิ่งที่แตกต่างระหว่าง ครีเอเตอร์ กับ ครีเอทีฟ หรือ คนทำงานในวิถีสื่อดั้งเดิม
จากงานวิจัย เราพบว่า เหล่าครีเอเตอร์ ทำงานไม่เหมือนกับ ผู้ผลิตสื่อ ในที่นี้เราหมายถึง ผู้สร้างภาพยนตร์ นักเขียน โปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ สตรีมมิ่ง และผู้บริหารสตูดิโอ หรือใครก็ตามที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิต การจัดจำหน่าย การใช้ประโยชน์จากความบันเทิง ทรัพย์สินทางปัญญา หรือลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ โทรทัศน์ หนังสือ เพลง หรือแม้แต่วิดีโอเกมก็ตาม เรายังพบความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างครีเอเตอร์กับคนทำงานอิสระผ่านแพลตฟอร์ม เช่น คนส่งอาหาร หรือคนขับ Uber คนเหล่านี้ ใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์ม เพียงเพื่อติดต่อและให้บริการกับลูกค้า ซึ่งต่างกับเหล่าครีเอเตอร์
ครีเอเตอร์ ไม่ได้เป็นเพียงแค่แบรนด์แอมบาสเดอร์เท่านั้น หากแต่พวกเขายังสามารถเป็น แบรนด์ ได้เองด้วย
จากการค้นคว้าทั้งหมดของเรา ได้จำกัดความครีเอเตอร์ว่าอยู่ในฐานะผู้ประกอบการโซเชียลมีเดีย ที่ใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มเพื่อสร้างตัวตนและสร้างรายได้จากชุมชนออนไลน์ เรามองว่า ครีเอเตอร์คือคนที่สามารถสร้างเม็ดเงิน และเป็นผู้สร้างชุมชนออนไลน์ได้ด้วยในเวลาเดียวกัน การจะเข้าใจครีเอเตอร์ได้มากขึ้น สามารถศึกษาได้จากแนวคิดโดยนักวิชาการด้านการสื่อสารชั้นนำ ชื่อ Nancy Baym ในประเด็น “แรงงานสัมพันธ์แบบเครือข่าย”
ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จะเห็นการเติบโตแบบก้าวกระโดดของการทำงานร่วมกันระหว่างโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มและครีเอเตอร์ ปัจจุบันนี้ ครีเอเตอร์ไม่เพียงแค่ใช้ความสามารถในการสร้างรายได้จากแพลตฟอร์มของตนเองเท่านั้น แต่ยังสามารถสร้างรายได้เพิ่มเติมจากช่องทางอื่นๆ ได้ด้วยเช่นกัน
เมื่อดูจากคอนเทนต์ที่ครีเอเตอร์สร้างขึ้น จะพบว่าคอนเทนต์ไม่เหมือนกับภาพยนตร์หรือซีรีส์ทางทีวี รายการเรียลลิตี้หรือสารคดี รายการการแข่งขันความสามารถพิเศษ หรือรายการข่าว แม้แต่ชื่อของคอนเทนต์ก็มีความแตกต่างกัน
เราจะพบเจอคอนเทนต์เหล่านี้จาก TikTok, Tweet, Vlog หรือ Streams อีกทั้งยังมีการสื่อสารในคอนเทนต์นั้น ๆ ได้แบบเรียลไทม์ ครีเอเตอร์มักจะสร้างแรงจูงใจให้ผู้คนกดไลก์ แชร์ หรือแสดงความคิดเห็น เพื่อให้มีส่วนร่วมกับคอนเทนต์ของตน ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากในอุตสาหกรรมสื่อแบบดั้งเดิม การเป็นครีเอเตอร์นั้นเป็นงานที่หนักและต้องใช้เวลา แม้มันจะดูเหมือนเป็นงานที่ง่าย สนุก สุขทุกวัน แต่ในความเป็นจริง ครีเอเตอร์ผู้ประสบความสำเร็จที่ผมพบ ล้วนแล้วแต่ทุ่มเททั้งชีวิตให้กับงานนี้
อย่างไรก็ตาม ครีเอเตอร์ไม่ใช่คนเพียงกลุ่มเดียวที่มักเจอกับความไม่มั่นคงและความท้าทาย ตัวแพลตฟอร์มเอง ก็อยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างต่อเนื่องจากการเปลี่ยนแปลง การปรับตัวและการแข่งขันเช่นเดียวกัน เช่น YouTube เปลี่ยนอัลกอริทึมในชั่วข้ามคืน ส่งผลให้ครีเอเตอร์สูญเสียรายได้จากการโฆษณาไปจำนวนมหาศาล ซึ่งเราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “Adpocalypse” หรือฝั่งแพลตฟอร์ม อย่าง Vine แพลตฟอร์มวิดีโอสั้น ต้องปิดตัวลงในระยะเวลาไม่นาน จากการปฏิเสธที่จะจ่ายเงินให้ครีเอเตอร์
นอกจากนี้ ครีเอเตอร์ต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่อีกระลอกหนึ่ง จากการเปิดตัวของ AI ที่เป็นทั้งประโยชน์มหาศาลและอาจเป็นความเสี่ยงใหม่ได้ในเวลาเดียวกัน อีกทั้งการเกิดขึ้นของเหล่าครีเอเตอร์เสมือนจริง (virtual creators) หรือ V tuber ที่อาจเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับครีเอเตอร์มนุษย์ ไม่ว่าในเชิงผลประโยชน์หรือความนิยม อันที่จริงแล้ว แพลตฟอร์มอาจเป็นผู้สร้างครีเอเตอร์เสมือนขึ้นได้เอง โดยไม่พึ่งครีเอเตอร์มนุษย์ ส่งผลให้ครีเอเตอร์อาจสูญเสียทั้งรายได้และกระทบต่อระบบนิเวศน์ทางเศรษฐกิจของครีเอเตอร์
Professor David Craig กล่าวว่า ในแถบอเมริกา ยุโรป และเอเชียบางส่วน จะเห็นแนวโน้มการอ้างสิทธิ์โดยครีเอเตอร์เพิ่มมากขึ้นอย่างมาก ทั้งสิทธิ์ในการจัดการและการสร้างรายได้จากเครือข่ายชุมชนบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ สมาคมสหภาพแรงงานต่างๆ เริ่มมีการร่วมมือกับเหล่าครีเอเตอร์ และทำงานควบคู่กับเอเจนซี่ดั้งเดิมของ Hollywood เพื่อเจรจากับแพลตฟอร์ม นักโฆษณา ภาครัฐ ให้ตระหนักว่า บรรดาครีเอเตอร์คือกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
อีกหนึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในความผันผวนของระบบเศรษฐกิจครีเอเตอร์ นอกเหนือจากการเกิดและดับของเหล่าครีเอเตอร์ เอเจนซีแล้ว เรายังเห็นบรรดา influencer ad. agency แบบ MCNS (Multi-Channel Networks) หรือแม้กระทั่งเอเจนซีที่ดูแลครีเอเตอร์ ต่างประสบความยากลำบากในความพยายามที่จะสร้างมูลค่าให้กับครีเอเตอร์เหล่านี้ ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา
แน่นอนเอเจนซีเหล่านี้เป็นแค่ผู้ให้บริการโดยไม่ได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ใดๆ เพราะแม้กระทั่งบรรดาครีเอเตอร์เองก็ไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาใดๆ เช่นกันด้วยความที่เศรษฐกิจครีเอเตอร์เติบโตก้าวกระโดดอย่างมากทั่วโลก พวกเขาจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการฝึกอบรมในทุก อุตสาหกรรมและคอมมิวนิตี้ ดังนั้นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างๆ จึงมีการเปิดสถาบันฝึกอบรมเฉพาะทางให้กับครีเอเตอร์ อีกทั้ง เปิดหลักสูตรออนไลน์หลากหลายประเภท เพื่อช่วยให้ครีเอเตอร์สามารถขยายธุรกิจของของตนต่อไปได้ แสดงให้เห็นว่า ครีเอเตอร์มีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับแพลตฟอร์มเหล่านี้
ในแวดวงวิชาการ มหาวิทยาลัย รวมถึงโรงเรียนมากมายทั่วโลก ต่างเปิดหลักสูตรทั้งระยะสั้น หลักสูตรปริญญาสอนเกี่ยวกับครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์โดยเฉพาะ USC และตัวเอง ก็สอนหลักสูตรที่หลากหลายกว่า 12 หลักสูตรเกี่ยวกับวัฒนธรรมครีเอเตอร์ ปัจจุบันเรามีองค์กรนักศึกษาในมหาวิทยาลัยหลักๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา ที่ช่วยฝึกอบรมและสอนครีเอเตอร์นอกห้องเรียนไปควบคู่กัน แต่เราจะประเมินมูลค่าที่แท้จริงของเศรษฐกิจครีเอเตอร์ (Creator Economy) ได้อย่างไร จึงเป็นความท้าทายในการสร้างเครื่องมือเพื่อวัดมูลค่าในการสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจของครีเอเตอร์ เพราะต้องวิเคราะห์ในหลากหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และศิลปะ
เนื่องจากครีเอเตอร์ส่วนใหญ่ใช้ช่องทางแพลตฟอร์มที่หลากหลาย ไม่เพียงแต่วิเคราะห์จากจำนวนผู้ติดตามและผู้ชมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการมีส่วนร่วมผ่านการกดไลก์ การแชร์ และการแสดงความคิดเห็น รวมถึงโมเดลธุรกิจที่หลากหลายในการสร้างรายได้ มากไปกว่านั้น ครีเอเตอร์เองยังใช้ความสามารถในการขยายช่องทางการขายอย่างไม่หยุดยั้ง จากออนไลน์สู่ออฟไลน์ เช่น สามารถทำเงินได้จากการไลฟ์สดนอกบ้าน
รูปแบบใหม่ ๆ เหล่านี้เป็นระบบเศรษฐกิจที่ซับซ้อนมากในการทำวิจัยและประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างครอบคลุม ตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น Mr. Beast หรือ Jimmy Donaldson ถือเป็นครีเอเตอร์ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก เขามีพื้นเพมาจากชนบทของนอร์ธแคโรไลนาตะวันออก เริ่มมีชื่อเสียงจากการทำวิดีโอคอนเทนต์ที่น่าตื่นเต้น ปัจจุบันเขามีผู้ติดตามในช่อง YouTube มากกว่า 250 ล้านคน ยังไม่รวมกับจำนวนใน Instagram, X และ TikTok ด้วยอายุเพียง 25 ปี เขามีทีมงานมากกว่า 125 คน และตัวเขาเองมีมูลค่าถึง 1.5 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 55,000 ล้านบาท
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีรายงานเศรษฐกิจครีเอเตอร์เกิดขึ้นมากมายทั่วโลก มูลค่าเศรษฐกิจของเหล่าครีเอเตอร์ทั่วโลกมีมูลค่ากว่า 20 พันล้านดอลลาร์ หรือครึ่งล้านล้านดอลลาร์ ทำให้ตนเองนึกถึงรายงานเศรษฐกิจครีเอเตอร์ฉบับแรกที่ผมอ่านในปี 2017 และได้ถามสื่อ The Economist ว่าพวกเขาได้ข้อมูลตัวเลขมาจากที่ไหน ซึ่งได้รับคำตอบว่า เราตั้งสมมติฐานขึ้นมาเฉกเช่นเดียวกับนักเศรษฐศาสตร์ทุกคน
จากรายงานเหล่านี้ พบว่าส่วนใหญ่สนใจแค่มูลค่ารวมของเม็ดเงินที่ครีเอเตอร์ทำได้ แต่ไม่ได้คำนึงถึงมูลค่าที่ครีเอเตอร์นำมาสู่อุตสาหกรรมแวดล้อมอื่นๆ เช่น ธุรกิจสื่อดั้งเดิม รายการเรียลลิตี หรือแม้แต่เหล่าเกมเมอร์ที่ใช้เวลาทั้งวันบน Twitch หรือ Douyu ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม สิ่งที่ครีเอเตอร์สร้างขึ้น คิดเป็นสัดส่วนกว่า 50% ในอุตสาหกรรมสื่อและโฆษณา
พวกเขาได้กลายเป็นกลุ่มขับเคลื่อนหลักของบริการและฟีเจอร์ต่าง ๆ บนโทรศัพท์มือถือ ที่มีความสำคัญต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และแน่นอนว่า ครีเอเตอร์คือศูนย์กลางการสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจของแพลตฟอร์ม คิดเป็นมูลค่าประมาณ 7 ล้านล้านดอลลาร์ทั่วโลก
จริง ๆ แล้ว รายงานที่มีอยู่ในปัจจุปันนี้ แทบไม่ได้นับรวมมูลค่าทางเศรษฐกิจครีเอเตอร์ของจีน หรือ หว่างหง ด้วยซ้ำไป ตามที่ทุกคนทราบกันดีว่า อุตสาหกรรมครีเอเตอร์มี 2 ประเภท คือ กลุ่มครีเอเตอร์ระดับโลก ที่ฝั่งอเมริกาและจีน ต่างแข่งขันกันเพื่อดึงดูดครีเอเตอร์เหล่านี้ และประเทศจีนเอง ที่สร้างกลุ่มอุตสาหกรรมครีเอเตอร์ของตนเอง เนื่องจากมีประชากรกว่า 1.4 พันล้านคน
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับเศรษฐกิจหว่างหง ซึ่งอธิบายทุกวิถีทางที่หว่างหงสามารถประสบความสำเร็จได้มากมาย นี่คือสาเหตุที่ผมและเพื่อนร่วมงานตัดสินใจเรียกวัฒนธรรมครีเอเตอร์ของจีนว่า “อุตสาหกรรมหว่างหง” (Wanghong Industry)
ในเชิงนโยบาย ความแตกต่างระหว่างอุตสาหกรรมหว่างหง และวัฒนธรรมครีเอเตอร์ระดับโลก คือ รัฐบาลจีนมียุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงการสร้างระบบป้องกันความมั่นคงของตนเอง เพื่อปกป้องพลเมืองจากแพลตฟอร์มนอกประเทศ นอกเหนือจากนั้น ยังพัฒนาและขยายเศรษฐกิจแพลตฟอร์มของตนเอง ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าที่สุดในโลก คนจีนทั่วประเทศ ไม่เพียงแต่ได้รับการสนับสนุนให้เรียนภาษาจีนเท่านั้น แต่ยังได้การสนับสนุนให้เป็นหว่างหงครีเอเตอร์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นใคร ก็สามารถเป็นอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังได้ ทั้งบิวตี้ความงาม ชาวบ้าน ชาวนา แรงงานเกษตรกรในชนบท ล้วนต่างสามารถเป็นหว่างหงครีเอเตอร์ได้
คุณ VIYA ครีเอเตอร์ชื่อดังของจีน สามารถทำรายได้กว่า 1.25 พันล้านดอลลาร์ต่อปี หรือเท่ากับ 365 ล้านดอลลาร์ต่อวัน เพื่อโปรโมตสินค้าอุปโภคบริโภคสู่ชุมชนออนไลน์ของเธอ เธอไม่เพียงแต่ขายผลิตภัณฑ์ความงามและไลฟ์สไตล์เท่านั้น แต่ยังเป็นพันธมิตรกับครีเอเตอร์รายใหญ่ที่สุดของอเมริกาในการโปรโมตสินค้าให้คนจีน เธอขายสินค้าได้ทุกประเภท ตั้งแต่ไลฟ์ขายอสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ ไปจนถึงจรวด และเธอยังเคยถูกปรับด้วยภาษีย้อนหลังกว่า 250 ล้านดอลลาร์ไปเมื่อปีที่แล้วด้วย
โซเชียลคอมเมิร์ซสะท้อนถึงความสามารถของครีเอเตอร์หว่างหงในการโปรโมตสินค้าบนแพลตฟอร์มได้ทรงประสิทธิภาพ ในขณะที่เศรษฐกิจส่วนอื่นของจีนยังคงต้องดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอด อีคอมเมิร์ซในจีน ยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ Bytedance ประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่ง ทำให้จีนสามารถแข่งขันกับ Silicon Valley ได้ และเรายังได้เห็นกระแสความแรงของ TikTok ไม่เพียงแต่ในอินเดียเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกอื่นๆ ด้วย
ความสำเร็จนอกประเทศของแพลตฟอร์มจีน เป็นจุดเริ่มต้นของการเติบโตอย่างรวดเร็วในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจีนอื่นๆ เช่น Temu และ Shein ครีเอเตอร์ทั่วโลกต่างมุ่งขับเคลื่อนคอมมิวนิตี้ของตนไปยังแพลตฟอร์มจีนเหล่านี้ รวมถึงแพลตฟอร์มท้องถิ่นและภูมิภาคของคุณอย่าง Shopee และ Lazada ด้วย
ทุกแพลตฟอร์มได้มีเปิดตัวบริการใหม่ ๆ พร้อมข้อเสนอมากมายให้กับครีเอเตอร์ โดยเมื่อปีที่แล้ว Meta เลิกจ้างพนักงานกว่า 10,000 คน แต่ในสัปดาห์เดียวกัน ก็เปิดแคมเปญ Creator Incentives ถึง 5 แคมเปญ เพื่อสนับสนุนให้ครีเอเตอร์สร้างรายได้ ต่อยอดได้ครอบคลุมในทุกแพลตฟอร์ม วงการผู้ผลิตและค้าปลีก ต่างตระหนักดีว่าครีเอเตอร์มีความสำคัญต่อธุรกิจเป็นอย่างมาก ดูได้จากการที่ Walmart นำตัวอย่างความสำเร็จบน TikTok มาปรับใช้ในกลยุทธ์การตลาด และสร้างครีเอเตอร์แพลตฟอร์มของตนเองเป็นที่เรียบร้อย การเบ่งบานของวัฒนธรรมครีเอเตอร์ทั่วโลก ได้เปลี่ยนแนวทางสถาปัตยกรรมและการวางแผนผังเมืองเช่นเดียวกัน ตึกอาคารทั่วทั้งเมือง ถูกออกแบบโครงสร้างเพื่อรองรับการทำงานของครีเอเตอร์และชุมชนออนไลน์ของเขา ทั้งภายในบ้านและนอกบ้าน ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ร้านกาแฟ หรือห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ
ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ครีเอเตอร์ได้กลายเป็น “อนาคตใหม่” ในโลกของการทำงาน บริษัทต่าง ๆ ใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจมากมาย ทั้งเพื่อการสื่อสาร ขายสินค้า และให้บริการ ครีเอเตอร์เหล่านี้จึงถือเป็นพนักงานที่ทรงคุณค่ามากที่สุด เนื่องจากพวกเขาเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อความสำเร็จของบริษัท โดยใช้ความเชี่ยวชาญในการใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มต่าง ๆ เหล่านี้ ในการสร้างรายได้
สำหรับ Professor David Craig ปัจจุบันเป็น รศ. จากมหาวิทยาลัย University of Southern California, the Annenberg (USC) คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน สอนระดับปริญญาโท หลักสูตรเกี่ยวกับอุตสาหกรรมสื่อ มากว่า 15 ปี และเป็นนักวิชาการรับเชิญจาก Harvard in the Law School ที่ The Berkman Klein Center for Internet Society
สำหรับโปรแกรมวิจัยในหัวข้อ “Rebooting Social Media” ในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา Professor David Craig ยังเป็นอาจารย์รับเชิญไปสอนที่มหาวิทยาลัย Shanghai Jiaotong, สถาบันวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับงานด้านครีเอทีฟ นอกจากนั้น ยังได้รับทุนวิจัยด้านวิชาการระดับโลกจากมูลนิธิฟูลไบรท์ (Fulbright scholar) ศึกษาประเด็น “วัฒนธรรมครีเอเตอร์ท้องถิ่น” ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อเมริกาใต้ และตะวันออกกลาง ตลอดทั้งปีนี้จนถึงปีหน้า เพื่อศึกษาวิธีที่เหล่าครีเอเตอร์ในโซนนี้ รับมือกับการแข่งขันกับครีเอเตอร์ในสหรัฐฯ และจีน ที่มีวัฒนธรรมที่เรียกว่า วัฒนธรรมหว่างหง (Wanghong Culture) หรือเน็ตไอดอล ผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์ ได้อย่างไร