posttoday

สถาบันโรคผิวหนังยกระดับบริการสุขภาพโรคผิวหนังในผู้สูงอายุ

15 พฤษภาคม 2567

กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง เร่งพัฒนาบริการสุขภาพและการให้บริการพื้นฐานด้านโรคผิวหนังในผู้สูงอายุ เพิ่มประสิทธิภาพและความเท่าเทียม

กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง จัดโครงการศึกษาการพัฒนาบริการสุขภาพปฐมภูมิ ด้านโรคผิวหนังในผู้สูงอายุ เพื่อพัฒนาบริการสุขภาพและการให้บริการพื้นฐานด้านโรคผิวหนัง  ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการวินิจฉัยรับการรักษาได้อย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพและมีความเท่าเทียมกัน

นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่าปัจจุบันยังมีความแตกต่างในการเข้าถึงบริการระหว่างผู้ป่วยที่อยู่ต่างจังหวัดและในเมืองหลวงในด้านการวินิจฉัยและการรักษาเฉพาะทางด้านโรคผิวหนัง  เนื่องจากไม่มีแพทย์ผิวหนังเพียงพอในโรงพยาบาลของทุกจังหวัด จากข้อมูลการสำรวจจำนวนแพทย์ผิวหนังทั่วประเทศของสถาบันโรคผิวหนังในปี  พ.ศ. 2563 พบว่าสัดส่วนแพทย์ผิวหนัง 1 คนต่อจำนวนประชากร  มีมากถึง 400,000 – 1,500,000 คนในแต่ละเขตสุขภาพ การพัฒนาบริการปฐมภูมิด้านโรคผิวหนังเพื่อให้บริการพื้นฐานด้านโรคผิวหนังจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยเหลือผู้ป่วย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงการวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างต่อเนื่องและมีความเท่าเทียม

 

 

นายแพทย์วีรวัต อุครานันท์  ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์  กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังขาดความรู้เบื้องต้นทางด้านโรคผิวหนังทั้งการดูแลตนเอง และการป้องกัน อีกทั้งระบบบริการปฐมภูมิจะเป็นการบริการด่านแรกของระบบบริการสาธารณสุขที่ผู้ป่วยมั่นใจและไว้วางใจ โดยควรมีการดูแลรักษาขั้นพื้นฐานที่เหมาะสมและมีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง เพราะฉะนั้นจึงมีความจำเป็นที่หน่วยงานบริการปฐมภูมิควรจะมีการพัฒนาบริการสุขภาพปฐมภูมิด้านโรคผิวหนัง รวมถึงการพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการดูแลโรคผิวหนัง

แพทย์หญิงชินมนัส เลขวัต นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ผู้จัดทำโครงการพัฒนาบริการสุขภาพปฐมภูมิด้านโรคผิวหนังในผู้สูงอายุ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าได้ศึกษาองค์ประกอบและระบบงานที่จำเป็น รวมทั้งออกแบบแนวทางการพัฒนาบริการสุขภาพปฐมภูมิด้านโรคผิวหนังโดยผู้ป่วย และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่เป็นผู้ร่วมออกแบบแนวทาง โดยสอบถามความคิดเห็นของหน่วยงานปฐมภูมิ  12 เขตสุขภาพ, ผู้ทรงคุณวุฒิด้านโรคผิวหนัง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยนำเสนอแนวทางการพัฒนาและประเมินความเป็นไปได้ในการขยายผลการพัฒนาบริการสุขภาพปฐมภูมิด้านโรคผิวหนัง เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยโรคผิวหนังที่อยู่ห่างไกลสามารถเข้าถึงบริการแพทย์เฉพาะทางด้านโรคผิวหนังได้ อันจะทำให้ประชาชนไทยมีสุขภาพดี ตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขได้วางไว้ และยังมีโอกาสเป็นต้นแบบการให้บริการทางการแพทย์เฉพาะทางด้านอื่นๆในประเทศต่อไปได้อีกด้วย