posttoday

สกสว.ทุ่ม 1.9 หมื่นล.ปั้น ม.แม่โจ้ สู่ลีดเดอร์ สร้างเกษตรทันสมัย

18 มีนาคม 2567

สกสว. ลุยจัดสรรงบ ววน. 1.9 หมื่นล้าน ขับเคลื่อนภาคอุดมศึกษา เดินหน้าพัฒนา ม.แม่โจ้ สู่ลีดเดอร์ด้านเกษตร พลิกโฉมเกษตรดั้งเดิมสู่เกษตรทันสมัย พร้อมนำวิจัยอัพคุณภาพชีวิตเกษตรกรอยู่ดีกินดี

รศ. ดร.อภิศักดิ์ ธีระวิสิษฐ์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า สกสว. มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุนและขับเคลื่อนระบบการวิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และสหวิทยาการ เพื่อสร้างองค์ความรู้ พัฒนานโยบายสาธารณและสนับสนุนการนำผลงานวิจัยไปใช้ในเชิงเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน ซึ่งล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติแต่งตั้ง ศ. ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เป็นประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กสว. คนใหม่

โดยมีนโยบายมุ่งเน้นใน 5 ประเด็นหลัก คือ 1. ชุดโครงการวิจัยขนาดใหญ่ที่ตอบโจทย์ประเทศ 2.แก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 เห็นผลใน 2 ปี 3. ต่อยอดใช้ 5G สุดล้ำ ด้านการแพทย์-เกษตร 4. ใช้เทคโนโลยีทางชีวภาพเพื่อการผลิตอาหารแห่งอนาคต เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต และ 5. นักวิจัยเข้าถึงระบบ ‘Tracking System' การวางระบบกระบวนการการให้ทุนวิจัย

สำหรับงบประมาณที่กองทุน ววน. ได้รับจัดสรรจากงบประมาณแผ่นดินในปี 2567 จำนวน 19,033.67 ล้านบาท เพื่อนำไปบริหารจัดการให้กับหน่วยบริหารและจัดการทุน “Program Management Unit: PMU” สถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ หน่วยงานทั้งในและนอกระบบ ววน. การส่งเสริมการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์หลัก คือ การพัฒนาเศรษฐกิจไทย การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้า และการพัฒนากำลังคน สถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อมุ่งพลิกโฉมประเทศให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วและพร้อมสำหรับโลกอนาคต

รศ. ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งเน้นเรื่องการเกษตรเป็นหลัก โดยมีโจทย์ว่าทำอย่างไรให้พี่น้องชาวเกษตรกรอยู่ได้ ทั้งด้านการวิจัยศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชและการขยายพันธุ์ต่าง ๆ ที่ไม่เพียงแค่พัฒนาในมหาวิทยาลัยแม่โจ้เท่านั้น แต่จะเป็นการขยายผลไปทั่วประเทศ รวมถึงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรด้วยนวัตกรรม สร้างมูลค่าทางตลาดให้แก่ประชาชน เกษตรกรมากยิ่งขึ้น ส่งเสริมให้มีมูลค่าสูง ด้วยการพัฒนางานวิจัยในอนาคตเพื่อช่วยประชาชนอย่างแท้จริง เพราะแม่โจ้คือมหาวิทยาลัยชีวิต

ผศ. ดร.ชินวุธ พิพัฒน์ภานุกูล รองผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนา ววน. ด้านกำลังคนและสถาบันความรู้ กล่าวถึงข้อมูลการรับงบประมาณจากกองทุน ววน. ของหน่วยงานและการติดตามประเมินผลของกองทุน ววน. ที่มุ่งเน้น 4 ประเด็นหลัก คือ 1. ระบบ ววน. ของประเทศถูกขับเคลื่อนและพัฒนาให้ดีขึ้นด้วยการทำงานแบบเครือข่ายระหว่าง สกสว. หน่วยบริหารจัดการทุน และหน่วยรับงบประมาณ ตลอดจนหน่วยงานนอกระบบ ววน. 2. เกิด Accountability ของหน่วยบริหารและจัดการทุน และหน่วยรับงบประมาณ ซึ่งเกิดจากการเผยแพร่ผลการประเมินสู่สาธารณะ

3. แนวคิดเรื่องการประเมินเพื่อการพัฒนาได้เผยแพร่และนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อพัฒนาระบบ ววน. ของประเทศ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง 4. หน่วยบริการจัดการทุน และหน่วยรับงบประมาณ สามารถพัฒนากระบวนการทำงานให้มีความสามารถในการบริหารและจัดการทุนได้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศ เกิดการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์และเกิดผลกระทบในวงกว้าง

ส่วนระบบติดตามการดำเนินงานและผลงานของระบบ ววน. นั้นประกอบด้วย การติดตามการดำเนินงาน การใช้งบประมาณตามแผน สามารถส่งมอบผลผลิตระหว่างทางจนถึงสิ้นสุดอย่างมีประสิทธิภาพและธรรมาภิบาล การติดตามผลงานวิจัยและนวัตกรรม ด้วยการส่งมอบผลผลิตของ PMU หน่วยรับงบประมาณ และผลลัพธ์การใช้ประโยชน์ มีศักยภาพในการสร้างผลกระทบในระดับโครงการต่อเนื่อง 5 ปี ในระบบ NRIIS

ด้าน รศ. ดร.อภินันท์ สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ยุทธศาสตร์และทิศทางการพัฒนามหาวิทยาลัยแม่โจ้ หนุนการเป็นเกษตรสุขภาวะส่งเสริมใน 3 ด้าน คือ 1.สังคมเกษตรอินทรีย์ 2.สังคมนิเวศ และ 3.สังคมสีเขียว มุ่งสู่ความเป็นเลิศด้านเกษตร อาหารและสุขภาพ ด้วยการบริหารจัดการงานวิจัย อย่างเป็นระบบ อาทิ การมียุทธศาสตร์และแผนงานวิจัยและและพัฒนานวัตกรรม การพัฒนาโจทย์วิจัยร่วมกับ Stakeholders การพัฒนานักวิจัย กำลังคนและคุณภาพงานวิจัยที่ตอบโจทย์ การพัฒนาเครือข่ายวิจัยครบ Supply Chian ส่งเสริมการเผยแพร่และต่อยอดผลงานวิจัยครบทุกมิติ การขับเคลื่อนผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ การติดตามประเมินผล และการพัฒนาระบบบริหารจัดการผลงานวิจัยเพื่อแสวงหาแหล่งทุน 

นอกจากนี้ คณะผู้บริหารและนักวิชาการได้ร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นต่าง ๆ ร่วมกับทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ พร้อมเยี่ยมชมตัวอย่างผลงานวิจัยเด่นของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ อาทิ 1. โครงการการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโดยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และคณะหน่วยความเป็นเลิศด้านการปรับปรุงข้าวมหาวิทยาลัยแม่โจ้ คณะวิทยาศาสตร์ ที่ได้รับงบประมาณด้าน ววน. ประเภท Fundamental Fund ประจำปีงบประมาณ 2566 คือ โครงการการปรับปรุงพันธุ์ข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง ต้นเตี้ย ข้าวเหนียวหอม พันธุ์ กข-แม่โจ้ 2 ให้อายุเก็บเกี่ยวสั้น ต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โรคขอบใบแห้ง และโรคไหม้ โดยใช้เครื่องหมายโมเลกุลช่วยในการคัดเลือก และ “เจ้าก่ำหอมแม่โจ้ 1 เอ” เป็นข้าวเจ้า สีดำ ที่มีกลิ่นหอม นุ่มพิเศษ ไม่แข็ง หุงง่าย ไม่ต้องแช่ ไม่ต้องผสมข้าวขาว มีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร อีกทั้งอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ

สกสว.ทุ่ม 1.9 หมื่นล.ปั้น ม.แม่โจ้ สู่ลีดเดอร์ สร้างเกษตรทันสมัย

2. ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมทางการเกษตรสำหรับบัณฑิต ผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาบัณฑิต ระดับ ป.ตรี-ป.เอก ที่มีความรู้ความสามารถในวิชาชีพให้เรียนรู้การเป็นบัณฑิตผู้ประกอบการ พร้อมเร่งใช้กระบวนการวิจัยแก้ปัญหาและต่อยอดสู่นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ภาคเกษตรและอุตสาหกรรมไทย ให้ฝึกฝนการคิดนอกกรอบ ลองผิดลองถูก สามารถคิดค้นนวัตกรรมใหม่ที่ขายได้หรือนำไปต่อยอดประกอบธุรกิจ ให้มีทักษะและมีประสบการณ์การทำงานที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน เป็นนวัตกรรุ่นใหม่ที่สามารถสร้างนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมไทยในอนาคต

สกสว.ทุ่ม 1.9 หมื่นล.ปั้น ม.แม่โจ้ สู่ลีดเดอร์ สร้างเกษตรทันสมัย

อย่างไรก็ตาม สกสว. เป็นหน่วยงานกลางในการบริหารจัดการกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อนระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศในทุกด้าน เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน