posttoday

Depa ดันเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับคนทุกกลุ่ม (Accessibility for All)

16 พฤษภาคม 2567

Depa ดันเทคโนโลยี Accessibility for All ใน "วันแห่งการตระหนักรู้ถึงการเข้าถึงอย่างเท่าเทียมทั่วโลก (GAAD)" โดยเฉพาะในกลุ่มคนพิการ เพื่อลดอุปสรรคในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและการบริการในยุคดิจิทัล

ทุกวันพฤหัสที่สามของเดือนพฤษภาคมของทุกปี เป็น “วันแห่งการตระหนักรู้ถึงการเข้าถึงอย่างเท่าเทียมทั่วโลก (GAAD: Global Accessibility Awareness Day)" โดยในปีนี้ตรงกับวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 และถือเป็นครั้งที่ 13 ตั้งแต่ก่อตั้งขึ้น

วัตถุประสงของวันแห่งการตระหนักรู้ถึงการเข้าถึงอย่างเท่าเทียมทั่วโลก คือรณรงค์ให้ทุกคนตระหนักถึงการเข้าถึงการสื่อสารอย่างเท่าเทียม เนื่องจากในยุคดิจิทัล การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาศักยภาพและความสามารถในการดำรงชีวิตและการทำงานของทุกคน แต่ในปัจจุบันยังมีประชากรทั่วโลกจำนวนมากกว่าพันล้านคนที่เป็นผู้พิการ และอยู่ในสภาวะความพิการ ซึ่งยังมีปัญหาและอุปสรรคในการเข้าถึงการสื่อสาร ดังนั้น การรณรงค์ในวันตระหนักรู้ในการเข้าถึงอย่างเท่าเทียมนี้ เพื่อสนับสนุนให้ทุกคนได้เข้าถึงการสื่อสารไปพร้อม ๆ กัน เพื่อบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาในด้านต่าง ๆ อย่างยั่งยืน

“วันแห่งการตระหนักรู้ถึงการเข้าถึงอย่างเท่าเทียมทั่วโลก (GAAD: Global Accessibility Awareness Day)" เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2555 โดยความร่วมมือขององค์กรและนักพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับการออกแบบที่ครอบคลุมสำหรับคนทุกกลุ่ม โดยปัจจุบันมีการส่งเสริมและสร้างความตระหนักโดยร่วมเผยแพร่กิจกรรมสาธารณะในแต่ละพื้นที่รวมถึงกิจกรรมเสมือนจริงในหลายประเทศรวมกันกว่า 6 ทวีปทั่วโลก

ทางด้านองค์กรในไทยเอง ก็ได้ร่วมส่งเสริมความตระหนักรู้ในวันดังกล่าว เช่น depa ที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับคนทุกกลุ่ม (Accessibility for All) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนพิการและกลุ่มเปราะบาง และมุ่งเผยแพร่ความตระหนักถึงความสำคัญของการร่วมลดข้อจำกัดในการเข้าถึงการสร้างเนื้อหาบนสื่อดิจิทัลอย่างปลอดภัย เพื่อต่อยอดสู่การพัฒนาศักยภาพของบุคคล และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกกลุ่มทุกช่วงวัย

รวมถึงโครงการอื่น ๆ ภายใต้การส่งเสริมและสนับสนุนของ depa ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคม เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในวงกว้างและสร้างความเข้าใจร่วมกัน เปิดโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม (Accessibility for All) สร้างหลักการพัฒนาและออกแบบเพื่อคนทุกกลุ่ม (Universal Design) ลดอุปสรรคและความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (Digital Divide) เพื่อเป็นสังคมแห่งการอยู่ร่วมกัน (Inclusive Society) ที่ยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง