เทียบวิธีตรวจดาวน์ซินโดรมในหญิงตั้งครรภ์ ทั้งสิทธิบัตรทองและสิทธิอื่น!
หลังบอร์ด สปสช. จ่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้นการตรวจโครโมโซมดาวน์ซินโดรมในหญิงตั้งครรภ์ด้วยวิธี NITP ลงในเฉพาะสิทธิบัตรทอง โพสต์ทูเดย์จะพาไปทำความรู้จักและเปรียบเทียบกับวิธีการมาตรฐานเดิมที่มีอยู่แล้วอย่าง Quadruple test ว่ามีความแตกต่างหรือเหมือนกันอย่างไร
เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 9/2567 กล่าวว่า ในวันนี้ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาข้อเสนอ “การตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมในหญิงตั้งครรภ์ด้วยวิธี non-invasive prenatal test :NIPT และให้ความเห็นชอบกำหนดเป็นประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาทเพิ่มเติม และมอบให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องจากนี้ เช่น การจัดทำระบบเพื่อรองรับการดำเนินการ หรือการจัดทำประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายค่าบริการตรวจคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์ในหญิงตั้งครรภ์ ด้วยวิธี NIPT ให้มีผลดำเนินการบริการเมื่อมีประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดย สปสช. จะแจ้งให้หน่วยบริการในระบบและประชาชนรับทราบต่อไป"
ซึ่งเป็นการตอบรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการเพิ่มเติมบริการตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมในหญิงตั้งครรภ์ จากเดิมที่มีการตรวจด้วยวิธี Quadruple test ซึ่งเป็นการตรวจด้วยวิธีมาตรฐานที่สปสช. เคยประกาศไว้แล้วตั้งแต่ปี 2559 หรือห้าปีก่อน
- ความสำคัญของการคัดกรองดาวน์ซินโดรมในหญิงตั้งครรภ์ และวิวัฒนาการของสิทธิประโยชน์บัตรทอง
การคัดกรองดาวน์ซินโดรมในหญิงตั้งครรภ์ในสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแต่เดิมกำหนดให้คุณแม่ที่มีอายุ 35 ปีซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะมีบุตรเป็นดาวน์ซินโดรมเข้ารับสิทธิได้ อย่างไรก็ตามจากสถิติที่มีการเปิดเผยในปี 2562 พบว่าเด็กกว่าร้อยละ 80 เกิดจากคุณแม่ที่อายุยังน้อยมากกว่าคุณแม่ที่อายุมากกว่า 35 ปี
ดังนั้นในปี 2566 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจึงได้ขยายสิทธิครอบคลุมทุกสิทธิ และทุกอายุของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ หากถือสัญชาติไทย ยกเว้น แรงงานต่างด้าว สามารถเข้ารับบริการตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมได้แล้ว ด้วยวิธี Quadruple test ซึ่งเป็นวิธีการมาตรฐาน
ทั้งนี้ ดาวน์ซินโดรม (Down Syndrome) เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากมีโครโมโซมคู่ที่ 21 เกิน ทำให้ผู้ป่วยมีเชาวน์ปัญญาต่ำ พูดช้า มีปัญหาในการใช้กล้ามเนื้อ และมีลักษณะภายนอกที่สังเกตได้ค่อนข้างชัดเจน อย่างหน้าแบน หัวแบน จมูกแบน ตาเล็กเป็นวงรี คอสั้น ตัวเตี้ยกว่าคนในวัยเดียวกันเมื่อโตขึ้น และอาจมีปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ทำให้ผู้ป่วยโรคนี้มักมีอายุสั้นกว่าคนปกติ
ซึ่งสาเหตุเกิดจากการแบ่งตัวของโครโมโซมในเซลล์ไข่ของแม่ช่วงที่มีการปฏิสนธิมีความผิดปกติ มักเกิดในเซลล์ไข่ของสตรีตั้งครรภ์ที่มีอายุมาก มีเส้นใยที่มีการแบ่งตัวค้างอยู่นาน การยืดหยุ่นตัวไม่ดี หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า anaphase lag พบได้ถึงร้อยละ 95 ส่วนสาเหตุรองลงมาเรียกว่า TRANSLOCATION (ข้อมูลจากโรงพยาบาลเปาโล)
อย่างไรก็การตรวจ Quadruple test สามารถกระทำได้เมื่อเข้าสู่ช่วงอายุครรภ์ราว 14-18 สัปดาห์ ซึ่งจะทำให้พ่อแม่สามารถเตรียมตัวเลี้ยงลูกที่อาจเกิดและมีภาวะดาวน์ซินโดรมได้ หรือตามกฎหมายจะสามารถเลือกที่จะยุติการตั้งครรภ์ก็ได้เช่นกัน
ตามการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ. 2564 ในมาตรา 301 และมาตรา 305 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในเดือน ก.พ. 2564 โดยกำหนดให้หญิงที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ที่ทำแท้ง ไม่ถือว่ามีความผิดทางอาญา นอกจากนี้ หญิงที่มีอายุครรภ์ 12-20 สัปดาห์ สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้เช่นกัน แต่ต้องตรวจและรับคำปรึกษาจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่น โดยจะเข้าหลักเกณฑ์ การยุติการตั้งครรภ์ตามมาตรา 305 (2) ทารกที่เสี่ยงจะพิการหรือทุพพลภาพเมื่อคลอดออกมานั้น ต้องมีผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมอีกคนมารับรองผลการวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าวซึ่งมีความซับซ้อนเป็นพิเศษ
สำหรับประเทศไทย มีอุบัติการณ์ของการเกิดกลุ่มอาการดาวน์ในทารกแรกเกิดอยู่ราว 1 ต่อ 826 คน ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะมีค่าใช้จ่ายที่นอกเหนือจากการเลี้ยงดูแลปกติตั้งแต่แรกเกิดจนเสียชีวิตประมาณรายละ 2,500,000.- บาท (สองล้านห้าแสนบาทถ้วน) โดยผู้ปกครองของเด็กต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเหล่านี้นอกเหนือจากสวัสดิการที่รัฐบาลจ่ายให้ประมาณ 1,600,000.- บาท (หนึ่งล้านหกแสนบาทถ้วน) ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูกที่เป็นกลุ่มอาการดาวน์ตลอดช่วงอายุ (ข้อมูลจากกรมอนามัย เขตสุขภาพที่ 7 ขอนแก่น)
- เปรียบเทียบข้อแตกต่างระหว่าง NIPT และ Quadruple test
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา บอร์ดสปสช. มีการพิจารณาจ่อให้สิทธิการตรวจ NIPT หรือการตรวจโครโมโซมดาวน์ซินโดรมเข้ามาอยู่ในสิทธิเฉพาะบัตรทอง (30บาทรักษาทุกที่) จากเดิมที่มีการตรวจเพียง Quadruple test ซึ่งโพสต์ทูเดย์พบว่าทั้งสองวิธีมีรายละเอียดที่แตกต่างกันเบื้องต้นดังต่อไปนี้
NIPT หรือ Non-invasive prenatal testing เป็นการตรวจคัดกรองความผิดปกติของโครโมโซมเพื่อดูว่าทารกในครรภ์มีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใดต่อโรคดาวน์ซินโดรมและโรคอื่น ๆ เช่น Trisomy คู่ที่ 13, 18 รวมทั้ง Sex Chromosome Abnormalities
โดยวิธีการตรวจ NIPT จะตรวจจากเลือดของมารดา เป็นวิธีที่ไม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายกับทารกในครรภ์ และสามารถติดตามผลได้ในระยะเวลา 7-10 วัน โดยคุณแม่ต้องมีอายุครรภ์ 10 สัปดาห์ขึ้นไป
ประโยชน์ของ NIPT คือ มีความแม่นยำถึงร้อยละ 99 และเหมาะกับหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงถึง 1:250 และมักต้องมีการเจาะน้ำคร่ำพิสูจน์ ซึ่งการตรวจด้วย NIPT จะลดการเจาะน้ำคร่ำลงโดยไม่จำเป็น
Quadruple test เป็นวิธีการตรวจกรองกลุ่มอาการดาวน์ในไตรมาสสอง โดยตรวจสารชีวเคมีในเลือดหญิงตั้งครรภ์ 4 ชนิด ได้แก่ การตรวจด้วยวิธี triple test และ inhibin A ซึ่งสามารถตรวจได้ตั้งแต่อายุครรภ์ราว 14 สัปดาห์
โดยวิธีการตรวจ Quadruple test เป็นวิธีการมาตรฐานที่ได้รับความนิยมและอยู่ในสิทธิประโยชน์ในปัจจุบัน ซึ่งมีความแม่นยำที่ร้อยละ 80-85% อย่างไรก็ตามเมื่อพบความเสี่ยงสูง ก็จะต้องส่งตรวจในกระบวนการที่มีความแม่นยำสูงต่อไป นั่นคือการตรวจด้วยวิธีการเจาะน้ำคร่ำพิสูจน์ หรือการตรวจด้วยวิธี NIPT
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่นำมาพิจารณาเพิ่มเติม อาทิ การเจาะตรวจน้ำคร่ำนั้นจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ได้ และส่วนของค่าใช้จ่ายเนื่องจากการตรวจแบบ NIPT มีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการตรวจแบบ Quadruple test
โดยการตรวจแบบ Quadruple test หากไม่ต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมเช่นการเจาะน้ำคร่ำในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงมาก จะอยู่ที่ราว 1,300 บาท ในขณะที่การตรวจแบบ NIPT (ราคาตลาด) เริ่มต้นที่ 8,000 บาท
- สปสช.เดินหน้าต่อรองราคา
ทั้งนี้ สปสช. ได้ทำหนังสือถึงราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์เพื่อขอความเห็นต่อการเพิ่มเติมบริการตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมในหญิงตั้งครรภ์ด้วยวิธี NIPT ซึ่งทางราชวิทยาลัยฯ ได้ให้ความเห็นตอบกลับ โดยสนับสนุนการตรวจคัดกรองโดยใช้วิธี Quadruple test ตามแนวทางที่ สปสช. ประกาศไว้แล้ว แต่สามารถใช้ NIPT เป็นบริการตรวจที่ครอบคลุมหญิงไทยตั้งครรภ์ทุกคนได้หากมีงบประมาณสนับสนุนเพียงพอ
โดย สปสช. จะเดินหน้าต่อในขั้นตอนการต่อรองราคาบริการ เนื่องด้วยการตรวจด้วยวิธีนี้ค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าวิธี Quadruple test ซึ่ง สปสช. ต้องดำเนินการจัดบริการให้สมดุลกับงบประมาณที่มีอยู่ในระบบ พร้อมจัดทำระบบตลอดจนประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายต่างๆ เพื่อรองรับการให้บริการ ทั้งนี้การดำเนินการต่างๆ หากเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทาง สปสช. จะแจ้งหน่วยบริการในระบบและประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนรับทราบต่อไป
ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่มีสิทธิประกันสังคมและสิทธิข้าราชการ จะสามารถตรวจคัดกรองด้วยวิธี Quadruple test ซึ่งเป็นสิทธิแบบฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายเท่านั้น ส่วนสิทธิ NIPT ไม่สามารถเบิกได้.