posttoday

เกิดอะไรขึ้น? สปสช. กางงบจ่าย ‘ฟอกไต’ พุ่งเกินงบฯ หวั่นกระทบหนักในอนาคต

07 สิงหาคม 2567

ตั้งคำถาม! กางงบประมาณบัตรทองสำหรับการรักษาผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังพุ่งสูงทุกปี ในขณะที่ปีนี้ พุ่งสูงแบบก้าวกระโดด ทะลุ 1.5 หมื่นล้านบาท ตอกย้ำคำพูดรองเลขาธิการสปสช.ระบุหากเป็นแบบนี้ต่อไปกระทบต่องบประมาณของประเทศในอนาคต

เมื่อเดือนมีนาคม 2567 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยบนเวที "รู้ใจ ไม่รู้ไต : ร่วมชะลอภัยโรคไตด้วยระบบนิเวศนวัตกรรมไทย" ประเด็นข้อมูลภาระงบประมาณด้านการ ‘ฟอกไต’ ระบุว่าได้ให้งบประมาณใกล้เคียงกับปี 2566 ที่กว่า 1.2 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อมาถึงเดือน มี.ค. 2567 ซึ่งผ่านมา 5 เดือน (จากเริ่มปีงบประมาณ 1 ตุลาคม 2566 ) ใช้ไปแล้วกว่า 7,000 ล้านบาท ซึ่งในครั้งนั้นรองเลขาธิการสปสช. ระบุว่าดูแล้วงบประมาณไม่น่าจะพอสำหรับบำบัดทดแทนไตให้ผู้ป่วยในสิทธิบัตรทอง

ผ่านมาเพียง 4 เดือน ในวันที่  5 สิงหาคม ที่ผ่านมาในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 8/2567  ซึ่งมีการพูดถึงงบประมาณ ปรากฎว่างบประมาณด้านการ ‘รักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง’ ปี 2567 ติดลบ! ถึงกว่า 3 พันล้านบาท หมายความว่า งบสำหรับการใช้ด้านนี้เพียงโรคเดียวในปีนี้ซึ่งยังไม่จบปีงบประมาณ  อาจสูงกว่า 1.5 หมื่นล้านบาทเข้าไปแล้ว!

 

เมื่อย้อนดูนโยบายดังกล่าวจะพบว่าในปี 2565 สปสช. ได้ให้ผู้ป่วยสามารถ เลือกแนวทางการบำบัดทดแทนไตได้เอง โดยปรึกษาร่วมกันกับแพทย์ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเข้ารับบริการด้านการฟอกเลือดเพิ่มสูงขึ้น เพราะสะดวกกับประชาชนมากกว่าและไม่ต้องทำเอง จากแต่เดิม สปสช.ให้การรักษาแบบล้างไตทางช่องท้องเป็นวิธีการแรกในการบำบัดทดแทนไต  แต่การเปลี่ยนวิธีการดังกล่าว หากจะดูที่งบประมาณก็ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างมากนัก

 

ปี 2563 สปสช. ตั้งงบประมาณสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังไว้ 9,300 ล้านบาท ใช้จริง 8,900 ล้านบาท

ปี 2564 ตั้งงบประมาณไว้ 9,700 ล้านบาท ใช้จริง 1.04 หมื่นล้านบาท

ปี 2565 ซึ่งเป็นปีที่ สปสช. ปรับแนวทางให้ผู้ป่วยเลือกวิธีบำบัดทดแทนไตเองได้ ตั้งงบประมาณไว้ 9,700 ล้านบาท ใช้จริง 1.1 หมื่นล้านบาท ปี 2566 ก็ตั้งงบประมาณไว้ 9,900 ล้านบาท แต่ใช้จริง 1.2 หมื่นล้านบาท

แต่ในปี 2567 กลับพุ่งสูงขึ้นมากผิดปกติ จนที่ประชุมบอร์ดของสปสช. ต่างย้อนถามข้อเท็จจริงว่า เกิดอะไรขึ้นกับงบประมาณจุดนี้ ที่มากกว่าปีที่แล้ว (ระยะห่างแค่ปีเดียว) สูงมากขนาดนี้?

 

เกิดอะไรขึ้น? สปสช. กางงบจ่าย ‘ฟอกไต’ พุ่งเกินงบฯ หวั่นกระทบหนักในอนาคต

 

ส่วนประชาชนคงต้องถามอยู่ 2 ประเด็นคือ ทำไมงบประมาณสำหรับโรคเดียวถึงสูงขนาดนี้ และทำไมถึงสูงกว่าปีที่แล้วกว่าเท่าตัว เกิดอะไรขึ้นกันแน่?

 

ทั้งนี้ พบว่าในปัจจุบัน (ปี 2567) มีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังสิทธิบัตรทอง 30 บาท ที่ต้องได้รับการบำบัดทดแทนไตจำนวนราว 7.9 หมื่นคน ซึ่งค่าใช้จ่าย ทางสปสช. ได้เคยออกมาให้ข้อมูลว่า มีค่าใช้จ่ายในการให้บริการฟอกเลือดต่อเดือน/คนเฉลี่ยคนละ 20,000 บาทต่อเดือน