posttoday

ทำไม? เรื่องไทยติดท็อป 5 ของโลกที่ 'ปลอดไขมันทรานส์' จึงเป็นเรื่องสำคัญ

02 สิงหาคม 2567

ทำไมเรื่องประเทศไทยได้รับการรับรองจาก WHO ให้ติด 1 ใน 5 ประเทศแรกของโลก ด้านการกำจัดไขมันทรานส์ในอุตสาหกรรมอาหารจึงเป็นเรื่องสำคัญ? ชี้ไขมันทรานส์ตัวร้าย เป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งคร่าชีวิตคนไทยกว่า 500,000 รายต่อปี!

  • ไทยทำอย่างไร ถึงได้รับการรับรอง

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับสถาบันโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินโครงการ “ประเทศไทยปลอดไขมันทรานส์” โดยหลังจากการออกประกาศ ห้ามผลิต นำเข้า จำหน่าย น้ำมันหรืออาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (ไขมันทรานส์) เป็นส่วนประกอบ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2562

ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 ว่าเป็น 1 ใน 5 ประเทศแรกของโลกที่กำจัดไขมันทรานส์จากอุตสาหกรรมอาหารได้สำเร็จ และเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีนโยบายแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best-practices) ในการกำจัดไขมันทรานส์จากอุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้นแบบการพัฒนาที่ดีให้แก่ประเทศอื่นทั่วโลก

 

ทำไม? เรื่องไทยติดท็อป 5 ของโลกที่ \'ปลอดไขมันทรานส์\' จึงเป็นเรื่องสำคัญ

 

โพสต์ทูเดย์ได้ติดตามไทม์ไลน์ของโครงการนี้พบว่า

ในปี 2559   

อย.ได้ร่วมกับสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยใช้งบประมาณของสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ดำเนินโครงการ “ประเทศไทยปลอดไขมันทรานส์” สำรวจข้อมูลปริมาณไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์น้ำมันและไขมัน และผลิตภัณฑ์อาหาร

รวมทั้งจัดประชุมหารือร่วมกับผู้ประกอบการไขมันและน้ำมัน และ ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อหาแนวทางในการลดหรือพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์ซึ่งไม่ใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติม ไฮโดรเจนบางส่วน ซึ่งผู้ผลิตน้ำมันและไขมันยืนยันถึงความเป็นไปได้ในการปรับสูตรและกระบวนการผลิตน้ำมันและไขมัน โดยใช้กระบวนการผสมน้ำมัน (Oil blending) แทน และผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารได้พัฒนาและปรับปรุงสูตรส่วนประกอบ ของผลิตภัณฑ์อาหาร โดยไม่ใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนแล้ว

 

ต่อมาในปี 2561  อย.จึงได้กำหนดมาตรการควบคุมและกำกับดูแลไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์อาหาร โดยออกเป็น “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย”

 

วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2562  ประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้  โดยกำหนดให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน และอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือ จำหน่าย รวมถึงการผลิตเพื่อการส่งออกด้วย 

และภายหลังจากที่ประกาศฯ มีผลใช้บังคับ อย.ดำเนินการตรวจสอบเฝ้าระวัง ณ สถานที่ผลิต สถานที่นำเข้า หรือสถานที่จำหน่าย หากพบการฝ่าฝืนจะดำเนินการตามกฎหมาย

 

  • ไขมันทรานส์ ตัวการก่อให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

ไขมันทรานส์เป็นไขมันไม่อิ่มตัว สามารถพบได้ทั้งในธรรมชาติ และจากกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนลงในน้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง ซึ่งจะพบไขมันทรานส์ได้ในอาหารสำเร็จรูปที่มีเนยเทียมหรือเนยขาวเป็นส่วนประกอบ ซึ่งหากมีการบริโภคมากเกินกว่า 4% ของปริมาณพลังงานทั้งหมดจะทำให้เหลือแต่คลอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ อาทิ เบาหวาน มะเร็งเต้านม โรคอ้วน และที่สำคัญคือโรคหลอดเลือดและหัวใจ

 

ทำไม? เรื่องไทยติดท็อป 5 ของโลกที่ \'ปลอดไขมันทรานส์\' จึงเป็นเรื่องสำคัญ

 

เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ปัจจุบันมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์พบว่ากรดไขมันทรานส์ให้ผลร้ายต่อสุขภาพ เพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เพิ่มความเสี่ยงเสียชีวิต 28% ความเสี่ยงในการเกิดโรค 21% และพบการเสียชีวิตจากโรคดังกล่าวสูงถึง 500,000 รายต่อปี

โดยโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโลก ทั่วโลกเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองมากกว่า 20 ล้านคน และ 80% ของการเสียชีวิตสามารถป้องกันได้

สำหรับประเทศไทยจากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2565 พบการเสียชีวิตของคนไทยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมากถึง 7 หมื่นราย เฉลี่ยชั่วโมงละ 8 คน และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี

สาเหตุเกิดจากหลอดเลือดไปเลี้ยงที่หัวใจตีบตัน ขาดความยืดหยุ่น เนื่องจากการสะสมของไขมัน โปรตีน และการอักเสบที่บริเวณผนังด้านในของหลอดเลือด ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ คือ อายุ เพศ ประวัติครอบครัว ระดับความดันโลหิตที่สูง ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ระดับไขมันในเลือดสูง ภาวะอ้วนและน้ำหนักเกิน การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา โดยโรคนี้มักเป็นโรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง ความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อผู้ป่วยมีความเครียดหรือไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาล ในเลือดหรือระดับความดันโลหิตได้ตามเป้าหมายการรักษาของแพทย์