posttoday

แบบไหนเรียกว่า 'ผู้สูงวัย' เช็คลิสต์ ร่างกาย-จิตใจ ถึงวัยสูงอายุหรือยัง?

06 มกราคม 2567

เช็คลิสต์ร่างกาย-จิตใจ สูงวัยหรือยัง? มัดรวมความเปลี่ยนแปลงทุกอวัยวะในร่างกายที่สามารถสังเกตได้ และวิธีการดูแลรักษาเมื่อร่างกายย่างเข้าสู่วัยชรา

การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย

 

  1. ผิวหนัง  จะเริ่มเหี่ยวย่น แห้ง บางลง เพราะชั้นไขมันใต้ผิวหนังลดลง ทำให้เกิดอาการคัน หนาวง่าย และเกิดรอยฟกช้ำได้ง่าย ต่อมเหงื่อเสียทำให้เป็นลมแดดง่าย เซลล์สร้างเม็ดสีเสียทำให้ผิวเกิดการตกกระ ขนสีจางลงจนเป็นสีขาว การรับสัมผัสที่ผิวหนังลดลง เช่น ถูกน้ำร้อนลวกก็ไม่รู้ตัว

                 วิธีการดูแล  ไม่ควรอาบน้ำอุ่นเวลาอากาศหนาว ควรใช้สบู่เด็กหรืออาบน้ำโดยไม่ใช้สบู่ ทาโลชั่น หลีกเลี่ยงการเช็ดถูผิวแรงๆ 

 

  2. เส้นผม  จะมีสีขาวหรือผมหงอกนั่นเอง ผมบางหลุดร่วงง่าย

                 วิธีการดูแล  ควรใช้แชมพูชนิดอ่อน ตัดผมสั้นเสมอเพื่อการดูแลที่ง่าย นวดศีรษะเพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือด

 

  3. ริมฝีปาก  แห้งและลอกแตกได้ง่าย

                วิธีการดูแล  ควรใช้ลิปมันเสมอ และดูแลช่องปากเพื่อลดการสะสมของแบคทีเรีย

 

  4. ฟัน  ฟันหลุดหรือหักง่าย เกิดการบดเคี้ยวไม่ละเอียด ทางเดินอาหารจึงทำงานหนัก

                วิธีการดูแล  ควรกินอาหารอ่อนๆ หรือหั่นเป็นชิ้นที่เล็กขึ้นเพื่อจะได้ย่อยง่าย เน้น ปลา ไข่ เต้าหู้ ผักต้ม และควรพบทันตแพทย์เพื่อดูแลช่องปากทุก 6 เดือน หรือ 1 ปี

 

  5. ลิ้น  การรับรู้รสชาติลดลง จนทำให้บางครั้งเติมน้ำตาลหรือเครื่องปรุงรสมากเกินไป หรือชอบกินของหวาน จนทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา

                 วิธีการดูแล  ควรดูแลไม่ให้อาหารมีการปรุงรสมากเกินไป และทำความสะอาดลิ้นด้วยแปรงนุ่มๆ อยู่เสมอ

 

  6. จมูก  การได้กลิ่นลดลง แยกกลิ่นไม่ได้ จนทำให้บางครั้งทานอาหารบูดเสีย

                 วิธีการดูแล  ควรดูแลให้ผู้สูงอายุทานอาหารที่ใหม่สดเสมอ ไม่ควรรับประทานอาหารค้างคืน

 

  7. สายตา  ประสาทการมองเห็นลดลง โดยเฉพาะกลางคืนหรือเวลาที่มีแสงสว่างน้อย ความสามารถในการมองเห็นลดลง บางรายมองในระยะใกล้ไม่ชัดเจน แยกสีส้ม แดง เหลือง ได้ดีกว่า น้ำเงิน ม่วง เขียว ซึ่งจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

                 วิธีการดูแล   ควรระมัดระวังในการเดินที่มีแสงสว่างน้อย เก็บข้าวของให้เป็นระเบียบ และตรวจตาปีละ 1 ครั้ง

 

  8. หูตึง  ได้ยินเสียงต่ำชัดกว่าเสียงสูง  

                   วิธีการดูแล  ไม่ควรพูดเสียงดังกับผู้สูงอายุ แต่ควรพูดใกล้ๆ มากกว่า พูดด้วยเสียงทุ้ม ช้า และชัด และไม่ให้ผู้สูงอายุใช้ของแหลมแคะหูเป็นอันขาด

 

  9. กระดูกและกล้ามเนื้อ  ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง  กล้ามเนื้อลีบ เล็ก เดินได้ช้าและเคลื่อนไหวช้า กระดูกเปราะหักง่าย หลังค่อม น้ำในข้อกระดูกลดลงทำให้การเคลื่อนไหวของข้อไม่สะดวก เกิดข้อเข่าเสื่อมได้ง่าย

                   วิธีการดูแล  เลือกรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เฝ้าระวังการหกล้ม ออกกำลังกาย เช่น เดินเร็ว โยคะ ว่ายน้ำ เพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง 

 

แบบไหนเรียกว่า \'ผู้สูงวัย\' เช็คลิสต์ ร่างกาย-จิตใจ ถึงวัยสูงอายุหรือยัง?

 

  10. หัวใจและหลอดเลือด  หลอดเลือดแดงแข็งตัวและเสื่อม มีไขมันมากทำให้ผนังหลอดเลือดหนาตัว  เกิดความดันโลหิตสูง ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว และหน้ามืดเป็นลมได้ง่าย เกิดรอยฟกช้ำง่ายขึ้น

                    วิธีการดูแล  ไม่รับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

 

  11. ทางเดินหายใจ   ความยืดหยุ่นและความจุปอดลดลง ทำให้ผู้สูงอายุหายใจลำบาก เหนื่อยง่าย อีกทั้งกล้ามเนื้อทรวงอกเสื่อมทำให้ไอและขับเสมหะได้ยาก เสี่ยงต่อการทำให้ปอดติดเชื้อ

                    วิธีการดูแล  อยู่ในสภาพอากาศที่ถ่ายเท  บริหารปอดด้วยสูดลมหายใจเข้าออกช้าๆ ลึกๆ สม่ำเสมอ

 

  12. การย่อยอาหาร  น้ำย่อยลดลง ลำไส้หย่อนตัว ทำให้ท้องอืด แน่นท้องและท้องผูกได้  

                     วิธีการดูแล  ควรเคี้ยวให้ละเอียด กินอาหารอ่อน ย่อยง่าย เพิ่มอาหารที่มีกากใย

 

  13. ระบบฮอร์โมน   ฮอร์โมนที่เปลี่ยนทำให้ผู้สูงอายุบางคนเป็นเบาหวาน อ้วนง่าย อุณหภูมิร่างกายลดลงทำให้ขี้หนาว ต่อมไทรอยด์แปรปรวนทำให้เชื่องช้า หงุดหงิดง่าย เกิดภาวะกระดูกพรุน 

                      วิธีการดูแล  ระวังการหกล้ม ควรใส่เสื้อผ้าหนาๆ หรือให้ความอบอุ่นร่างกายเพียงพอเมื่ออากาศหนาวเย็น

 

  14. ระบบทางเดินปัสสาวะ / ระบบสืบพันธุ์   ผู้สูงอายุจะมีขนาดไตลดลง ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะลดลง จึงถ่ายบ่อย ผู้ชายมักต่อมลูกหมากโต ทำให้ถ่ายปัสสาวะลำบาก เพศหญิงช่องคลอดแคบสั้น สารหล่อลื่นลดลง เกิดการติดเชื้อและอักเสบได้ง่าย กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหย่อน กลั้นปัสสาวะไม่ได้

                      วิธีการดูแล  ผู้สูงอายุหญิงควรฝึกขมิบบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ไม่สวมกางเกงที่รัดแน่น ฝึกปัสสาวะเป็นเวลา ไม่กลั้นปัสสาวะนานและงดการดื่มน้ำจำนวนมากก่อนเข้านอน

 

แบบไหนเรียกว่า \'ผู้สูงวัย\' เช็คลิสต์ ร่างกาย-จิตใจ ถึงวัยสูงอายุหรือยัง?

 

การเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจ

 

ความเสื่อมของร่างกายก่อให้เกิดผลกับจิตใจด้วย ทั้งเครียด กังวล กดดัน รวมไปกับการเปลี่ยนแปลงบทบาทในสังคม ทำให้รู้สึกว่าเสียคุณค่าในตัวเอง (อ่านเพิ่มเติม : ศักดิ์ศรีของผู้สูงอายุ เรื่องใหญ่ที่คนในบ้านมองข้าม) ซึ่งจะทำให้รู้สึกหงุดหงิด ซึมเศร้า และขาดความพึงพอใจในชีวิต

ดังนั้นนอกจากการดูแลร่างกาย การวางแผนการเกษียณจึงเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น การวางแผนทางการเงิน การวางแผนว่าจะทำอะไรเมื่อเกษียณ เช่น การเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ กิจกรรมอาสา หรือการสร้างงานอดิเรก ที่สามารถทำให้พบปะคนภายนอกได้

 

ที่มา

คู่มือเรียนรู้เข้าใจวัยสูงอายุ โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในเขตกรุงเทพมหานคร โดยคณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)