ฉายภาพ 'ภูเก็ต' SMART CITY ต้นแบบเมืองอัจฉริยะ แบบครบจบที่เดียว!
สำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย ภายใต้การกำกับดูแลของ ดีป้า (DEPA) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เคยแถลงรายงานดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขันเมืองอัจฉริยะประเทศไทย ประจำปี 2566 (Thailand Smart City Competitiveness Index (TSCCI) 2023) จาก 30 เมือง 23 จังหวัด และมอบให้ 'ภูเก็ต' เป็นเมืองอัจฉริยะในหมวดหมู่จังหวัด (Province-based) เป็นจังหวัดที่ได้รับคะแนนชี้วัดความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุด คือ 83.60% รองลงมาคือจังหวัดฉะเชิงเทรา 76.78% และจังหวัดขอนแก่น 53.81% ตามลำดับ
โพสต์ทูเดย์ ขอพาย้อนไทม์ไลน์การสร้างเมือง Smart City ของภูเก็ตเพื่อให้รู้ที่มาของการพัฒนาเมืองครั้งนี้สักนิด ซึ่งสามารถย้อนไปได้ไกลกว่า 20 ปีเลยทีเดียว
- พ.ศ. 2546 เกิดโครงการ 'Phuket Smart City' โดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ได้เลือกจังหวัดภูเก็ตเป็นหนึ่งในสามจังหวัดนำร่องสำหรับโครงการเมืองอัจฉริยะ ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่และขอนแก่น
- พ.ศ.2559 โครงการ Phuket Smart City เริ่มต้นอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2559 (ค.ศ. 2016) โดยรัฐบาลไทยได้กำหนดให้จังหวัดภูเก็ตเป็นพื้นที่นำร่องสำหรับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ภายใต้งบประมาณ 100 ล้านบาท
- 9 กันยายน พ.ศ. 2559 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ได้เปิดตัวโครงการส่งเสริมพื้นที่พิเศษสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล จังหวัดภูเก็ต หรือ 'Phuket Smart City' อย่างเป็นทางการ
- 15 กันยายน พ.ศ. 2559 ในปีเดียวกัน บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด (PKCD) ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2559 โดยเป็นการร่วมทุนของนักธุรกิจภาคเอกชนในจังหวัดภูเก็ต เพื่อสนับสนุนและขับเคลื่อนโครงการเมืองอัจฉริยะในพื้นที่ ปัจจุบันมีทั้งหมด 47 คน รวมทุนจนดทะเบียน 156 ล้านบาท ภายใต้แนวคิด 'วิสาหกิจเพื่อสังคม'
ฉายภาพ 'เมืองภูเก็ต' ตรงไหน Smart แล้วบ้าง?
จากข้อมูลการรายงานความคืบหน้าตามแผนการพัฒนาเมือง ให้กับ สำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย (10 มีนาคม 2568) พบว่าภูเก็ตมีโครงการอัจฉริยะกว่า 40 โครงการ อย่างไรก็ตาม มีโครงการเด่นๆ ที่น่าสนใจจำนวน 18 โครงการ แบ่งเป็น
- ด้านสิ่งแวดล้อม
- ด้านการเดินทางและขนส่ง
- ด้านการดำรงชีวิต
- พลเมือง
- พลังงาน
- เศรษฐกิจ
- การบริหาร
เมื่อรวมกับข้อมูลที่ 'โพสต์ทูเดย์' ได้รับมาล่าสุด จะสามารถฉายภาพให้เห็นความ Smart City ของเมืองภูเก็ต ว่าคนที่เข้าไปอยู่ในภูเก็ตจะใช้ชีวิตอย่างไร ดังนี้
ภูเก็ตมี 'ระบบตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อม (IoT Environment Sensors)'
ระบบตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อม (IoT Environment Sensors) จะสามารถตรวจวัดได้ตั้งแต่ ปริมาณน้ำฝน ระดับน้ำในคลอง คุณภาพน้ำ เพื่อติดตาม และเฝ้าระวังเมื่อมีภาวะเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินโดยเฉพาะน้ำท่วม เพราะฉะนั้นเมืองภูเก็ตจะสามารถรู้ทัน 'น้ำท่วม' สั่งการอพยพได้ทันท่วงที โดยติดตั้งทั้งหมด 11 สถานี (เขตภูเก็ต 6 สถานี และเขตกะทู้ 5 สถานี)
ภูเก็ตมี 'บริการรถ EV Shuttle Bus' สำหรับให้บริการรับส่งนักท่องเที่ยวและประชาชนระหว่างจุดจอดรถต่างๆ และพื้นที่ย่านเมืองเก่าและพื้นที่โซนตัวเมืองภูเก็ตชั้น ในทุกๆ 30 นาที ซึ่งจะมีการเพิ่มจำนวนรถ EV Shuttle Bus ตามจำนวนผู้ใช้บริการ
ภูเก็ตมี 'Phuket Smart Bus' ต่างจากรถ Shuttle Bus คือ จะเป็นบริการรถเส้นทางการเดินทางผ่านจุดท่องเที่ยวสำคัญ ๆ อาทิ สนามบินนานาชาติภูเก็ต เชิงทะเล บางเทา ภูเก็ตแฟนตาซี กมลา ป่าตอง กะรน กะตะ และราไวย์ โดยโครงการฯ ให้บริการโดยรถบัสโดยสาร จำนวน 14 คัน แบ่งเป็นรถที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง จำนวน 10 คัน และรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า (EV) จำนวน 4 คัน จากข้อมูลการให้บริการ ตั้งแต่ เดือน เมษายน 2561 – พฤศจิกายน 2566 พบว่ามีผู้ใช้บริการ จำนวน 50,432 คน
ภูเก็ตมี 'Phuket Rabbit Card' บัตรที่สามารถใช้ชำระเงินค่าโดยสาร Phuket Smart Bus ได้ รวมไปถึงสามารถนำไปแสดงเพื่อรับสิทธิพิเศษจากร้านค้าที่ร่วมรายการในจังหวัดภูเก็ต นอกจากนี้ล่าสุดยังมี 'Thailand MICE VISA Prepaid Card' ที่สามารถใช้จ่ายผ่านบัตรได้กับร้านค้าและ SME ที่ร่วมรายการในจังหวัดภูเก็ตอีกด้วย
ภูเก็ตมี 'ท่าเรืออัจฉริยะ' ท่าเรืออัจฉริยะนี้เน้นในเรื่องการเดินทางที่ปลอดภัยเป็นสำคัญ โดยมีการสร้างระบบควบคุมการจราจรทางน้ำจังหวัดภูเก็ต (Phuket Vessel Traffic Management System: VTMS) โดยติดตั้งสถานีเรดาร์ชายฝั่ง (Coastal Radar Station) และระบบ/อุปกรณ์แสดงตนอัตโนมัติ (Universal Automatic Identification System: UAIS) ซึ่งใช้สำหรับในกิจการเดินเรือท่องเที่ยวที่มีจำนวนผู้โดยสารไม่น้อยกว่า 25 คน ตามประกาศของสำนักงานเจ้าท่าฯ เพื่อเป็นการระบุตำแหน่ง และแสดงตนของเรือท่องเที่ยว
ประโยชน์คือทำให้การจราจรทางน้ำปลอดภัย สามารถให้การช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็วเมื่อเกิดอุบัติเหตุ จากตำแหน่งที่ตรวจพบครั้งสุดท้าย
อีกประการหนึ่งคือ ภูเก็ตได้จัดทำท่าเทียบเรืออัจฉริยะ เพื่อให้ผู้ที่ใช้บริการสามารถใช้บริการได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จ 4 ท่าเทียบเรือ คือ ท่าเทียบเรืออ่าวปอ ท่าเทียบเรือวิสิษฐ์พันวา ท่าเทียบเรือรัษฎา และ ท่าเทียบเรือฉลอง ได้แก่
-
ระบบลงทะเบียนผู้โดยสารทางทะเล
-
ระบบจัดการผู้โดยสารท่าเทียบเรืออัจฉริยะ
-
ระบบประตูอัตโนมัติ ณ จุดขึ้นลงเรือ พร้อม CCTV ตรวจจับใบหน้า
-
ตู้พร้อมอุปกรณ์ (Kiosk) ลงทะเบียนผู้โดยสารหน้าท่าเทียบเรือ
ภูเก็ตมี 'กล้อง CCTV' เพิ่มความปลอดภัยในการดำรงชีวิตของผู้คน โดยเชื่อมโยงข้อมูลกับ 38 หน่วยงาน ตั้งแต่สถานีตำรวจในเขตพื้นที่ต่างๆ เทศบาลตำบลต่างๆ สำนักงานจังหวัด ตรวจคนเข้าเมือง กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว เป็นต้น
ภูเก็ตมี 'อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในที่สาธารณะ' (Hi speed Free Wi-Fi) ครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัดภูเก็ต ดำเนินการโดยบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) โดยเป็นการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง สาธารณะด้วยเทคโนโลยีไร้สาย Wi-Fi (Hi-speed Wi-Fi) ณ พื้นที่สาธารณะ พื้นที่ท่องเที่ยว โดยมีการติดตั้งอุปกรณ์กระจายสัญญา (Access Point) จำนวน 1,000 จุด ในจังหวัดภูเก็ต และมีอัตราการรับ/ส่งข้อมูล ไม่น้อยกว่า 100/25 Mbps อีกทั้งมีการวางโครงข่าย LoRaWAN จำนวน 35 สถานี
ภูเก็ตมี 'ระบบตรวจสอบตัวตนของเจ้าหน้าที่รัฐ' (E-gID) เป็นระบบที่ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบตัวตนของเจ้าหน้าที่รัฐในระหว่างที่ลงพื้นปฏิบัติหน้าที่ เช่น การลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเพื่อตรวจสารเสพติดในสถานบันเทิง การตรวจใบขับขี่ของเจ้าที่ตำรวจ การตรวจปริมาณสารแอลกอฮอล์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นต้น เพื่อป้องกันมิจฉาชีพปลอมตัวเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไปสร้างความเดือดร้อนกับประชาชน โดยสามารถเข้าถึงระบบตรวจสอบตัวตนของเจ้าหน้าที่รัฐ (E-gID) ได้ที่ลิงก์ https://phuket-phonebook.web.app
ภูเก็ตมี 'โครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์' บนเกาะโหลน ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าเพื่อบ้านพักอาศัยด้วยเซลล์แสงอาทิตย์สำหรับครัวเรือน (Solar Home System) ขนาดกำลังการผลิต 600 wp /ระบบ จำนวน 22 ระบบสำหรับชุมชน ม.3 ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ซึ่งจะสามารถส่งเสริมแหล่งผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทนได้ไม่น้อยกว่าปีละ 15,000 Kwh ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ไม่ต่ำกว่า ปีละ 6 tCo2/ปี และสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานประมาณ 68,538 92 บาท/ปี
ภูเก็ตมี 'โรงเรียนที่สอนวิชา STEM และ Coding' โรงเรียนในจังหวัดภูเก็ตได้รับการส่งเสริมการเรียนเชิงปฏิบัติการที่ผสมผสานวิชา STEM และ Coding ภายใต้โครงการ Coding School เพื่อผลิตบุคลากรดิจิทัลต่อไปในอนาคต ปัจจุบันมีโรงเรียนที่ได้รับการสนับสนุนจำนวน 9 โรงเรียน
ภูเก็ตมี 'โรงเรียนผู้สูงอายุประจำตำบล' โดยจัดตั้งขึ้นในเทศบาลตำบลรัษฎา และเทศบาลเมืองป่าตอง เพื่อจัดกิจกรรมให้กับผู้สูงอายุ ฝึกประสบการณ์วิชาชีพ มีกิจกรรมสันทนาการต่างๆ รวมไปถึงทำให้ผู้สูงอายุเท่าทันโลกดิจิทัล
ภูเก็ตมี 'DATA Platform' ที่ชื่อว่า Andaman City Data Platform (CDP) ทางด้านการท่องเที่ยว เพื่อเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยง และพัฒนาการบริการข้อมูลด้านการท่องเที่ยวของทางภาครัฐให้ สะดวก เข้าถึงง่าย
นอกจากนี้ในส่วนของการปกครอง ยังมีระบบบูรณาการข้อมูลกลางเพื่อการบริหารจัดการจังหวัดภูเก็ต เป็นการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลในการบริหารจัดการข้อมูลต่าง ๆ ของเมือง เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการบริหารจัดการ ทำให้สามารถจัดการได้อย่างรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์
ภูเก็ตมี 'การพัฒนาเทคโนโลยี Digital ให้แก่ Startup และ SMEs' ทั้งการจัดตั้งสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการจัดการเมืองและการท่องเที่ยว (Urban & Travel Tech Digital Center) โดยออกแบบพื้นที่ให้มีการรองรับการบ่มเพาะ Digital Startup และมีระบบนิเวศที่เกื้อหนุนการพัฒนาของ Digital Startup รวมไปถึงมีครงการส่งเสริมประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Digital สำหรับ SMEs
.
นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา หรือขึ้นโครงการอีกหลายตัว ที่น่าสนใจอาทิ ระบบสำรวจตรวจสอบจุดจอด และจองจุดจอดรถ และการนำ AI มาใช้บริหารจราจรในจังหวัดภูเก็ตเพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัด
ทั้งนี้ การมุ่งไปสู่เมืองอัจฉริยะ เป็นแนวทางสำคัญของการพัฒนาเมืองในหลายประเทศ นอกจากจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้คนดีขึ้นแล้ว ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยภาพรวม ยกตัวอย่าง จากรายงาน Global Connectivity Index (GCI) พบว่า การเพิ่มการลงทุนด้าน ICT ขึ้น 20% สามารถช่วยให้ GDP เติบโตได้ถึง 1%
นอกจากนี้ สำหรับภูเก็ต ที่รายได้ขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ แต่ด้วยความเป็น 'เกาะ' ก็อาจจะไม่สามารถรับนักท่องเที่ยวเพิ่มได้ เนื่องจากจะส่งผลถึงสิ่งแวดล้อม ความแออัด ที่จะเกิดขึ้นตามมา การพัฒนาเมืองให้เป็นไปในแนวทาง อัจฉริยะ เพื่อที่จะลดทอน แบ่งเบา ปัญหาจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ เพื่อยังทำให้ภูเก็ตเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับ 1 ของไทยไปอีกนาน.