posttoday

แบไต๋ธุรกิจค้าปลีก "อนันต์ อัศวโภคิน"

11 กรกฎาคม 2555

เปิดใจ "อนันต์ อัศวโภคิน" ปลุกปั้นธุรกิจค้าปลีก

เปิดใจ "อนันต์ อัศวโภคิน" ปลุกปั้นธุรกิจค้าปลีก

 

 

แบไต๋ธุรกิจค้าปลีก \"อนันต์ อัศวโภคิน\" อนันต์ อัศวโภคิน

หลังจากอยู่ในแวดวงธุรกิจที่อยู่อาศัยมากว่า 38 ปี และปลุกปั้นธุรกิจธนาคาร “แอล เอช แบงก์” สำเร็จเป็นที่เรียบร้อย อีกหนึ่งธุรกิจที่ “อนันต์ อัศวโภคิน” กำลังเริ่มต้น นั่นคือ ธุรกิจค้าปลีก ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า จะเป็นการกระโดดเข้าสู่วงการนี้อย่างเต็มตัว โดยก่อนหน้านี้ เริ่มต้นชิมลางกับแฟชั่นไอส์แลนด์ ที่พัฒนาในนาม บริษัท สยามรีเทล ดีเวลล็อปเม้นท์ และเว้นระยะไปนานกว่าจะคลอดศูนย์การค้าแห่งใหม่ภายใต้ชื่อ “เทอร์มินอล 21” และ “เดอะ พรอมานาด”

ต้องยอมรับว่าศูนย์การค้าทั้ง 2 แห่งถูกพูดถึงมากเป็นอันดับต้นๆ ในเวลานี้ ด้วยการออกแบบที่แตกต่าง เน้นความแปลกใหม่ ศูนย์อาหารราคาถูก และการใช้สุขภัณฑ์แบบญี่ปุ่นในห้องน้ำทุกห้อง ซึ่งกลายเป็นจุดเด่น และจุดขายสำคัญให้กับศูนย์การค้าแห่งใหม่ของบิ๊กอสังหาฯ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์

อนันต์ อัศวโภคิน ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ในสยามรีเทล ดีเวลล็อปเม้นท์ เล่าถึงแนวคิดในการเข้ามาทำธุรกิจค้าปลีกว่า คำว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้จำกัดแค่ที่อยู่อาศัย แต่อสังหาริมทรัพย์มีหลายประเภท ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มแลนด์ฯ เลือกทำเฉพาะที่อยู่อาศัย เซอร์วิส อพาร์ทเมนท์ และอาคารสำนักงาน การก้าวเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีก ก็เป็นอีกหนึ่งหนทางที่ทำให้บริษัทเติบโต เพราะตั้งแต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 กลุ่มแลนด์ฯ มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 10% ซึ่งถือว่าไม่มาก อีกทั้ง ในระยะหลังการแข่งขันในธุรกิจที่อยู่อาศัยสูงขึ้น และมีผลให้อัตรากำไรลดลงอย่างเลี่ยงไม่ได้

นั่นคือ เหตุผลที่แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ต้องขยายไปสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่นๆ จึงต้องหันมาวิเคราะห์อย่างจริงจังว่าอะไรคือคำตอบที่ดีที่สุด โดยเริ่มจากอาคารสำนักงาน ซึ่งปัจจุบันแลนด์ฯ มีอาคารคิวเฮ้าส์ ลุมพินีแล้ว และยอมรับว่าธุรกิจอาคารสำนักงาน ไม่ใช่ธุรกิจที่มีอัตราผลตอบแทนดี ส่วนธุรกิจเซอร์วิส อพาร์เมนท์ ปัจจุบันแลนด์ฯ ก็มีหลายแห่ง ธุรกิจโรงแรม ก็น่าสนใจ จึงเริ่มต้นแห่งแรกที่แกรนด์ เซ็นเตอร์พอยท์ สุขุมวิท เทอร์มินอล 21 แต่ธุรกิจโรงแรมก็เป็นธุรกิจที่มีความอ่อนไหวจากปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจ และการเมือง

แต่ธุรกิจที่มีโอกาสในการขยายตัวได้อย่างยั่งยืน และเป็นคำตอบที่ดีที่สุดในเวลานี้ คือ ธุรกิจค้าปลีก และเมื่อ “อนันต์” คิดจะทำค้าปลีก ต้องแตกต่างจากเจ้าตลาดเดิมที่มีอยู่ ต้องทำในสิ่งที่คนอื่นไม่ทำ

“พอเปิดตัวเทอร์มินอล 21 หลายคน หาว่าผมบ้า ที่เอาสุขภัณฑ์ราคาแพงมาใช้ในห้องน้ำทุกห้อง ทุกชั้น จริงๆ ผมไม่ได้บ้า แต่ผมคิดในแบบที่แตกต่าง ทำในสิ่งที่เจ้าตลาดเดิมไม่ทำ และนั่นเป็นจุดอ่อนของเขา” อนันต์กล่าว

แบไต๋ธุรกิจค้าปลีก \"อนันต์ อัศวโภคิน\" เทอร์มินอล 21

พี่เบิ้มของวงการที่อยู่อาศัย กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการค้าปลีกจะมองว่า คนไปห้างไม่ได้อยากไปกินข้าวในศูนย์อาหาร หรือฟูด เซ็นเตอร์ และไปห้างไม่ได้ไปเพื่อเข้าห้องน้ำ จึงอาจไม่ใช่สิ่งที่ผู้ประกอบการเดิมให้ความสำคัญ แต่เมื่อเทอร์มินอล 21 เลือกที่จะแตกต่างจึงต้องกล้า ด้วยแนวคิดแรกเริ่มก่อน คือ ทำห้าง อย่าขี้เหนียว ต้องกล้าลงทุน กล้าใช้สุขภัณฑ์ดี ส่วนเรื่องศูนย์อาหาร ถ้าอยากขายถูก ต้องคิดค่าเช่าที่ไม่แพง ซึ่งเทอร์มินอล 21 เลือกที่จะไม่คิดค่าเช่าที่เลย ให้ขายฟรี พอให้ขายฟรี ร้านค้าก็จะขายถูกลง ราคาเริ่มต้น 25 บาท ถูก ดี และเยอะด้วย

ผลจากการยอมขายถูก กำไรน้อยลง แต่สิ่งที่ได้มาถือว่าคุ้มค่า เพราะปัจจุบันศูนย์อาหารในเทอร์มินอล 21 เป็นศูนย์อาหารไม่กี่แห่งที่มีคนเต็มจนถึง 4 ทุ่ม และมีคนมาซื้อกับข้าวกลับบ้านมากถึง 20% ประเมินว่าจะมียอดขายไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาทต่อปี และความที่ขายถูก ทำให้สื่อต่างประเทศที่อยู่ในเมืองไทย เช่น ซีเอ็นเอ็นให้ความสนใจเข้ามาถ่ายทำ นำเสนอข่าว ทำให้คนรู้จักเทอร์มินอล 21 ไปทั่วโลก โดยไม่เสียค่าโฆษณา

นอกจากนี้ การที่เทอร์มินอล 21 ออกแบบคล้ายกับสนามบิน พร้อมกับออกแบบให้แต่ละชั้นมีลักษณะเด่นของแต่ละประเทศ เช่น โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้ได้รับความสนใจจากทั้งคนไทยและต่างชาติจำนวนมาก ซึ่งแนวคิดนี้เกิดจากการที่บริษัทฯ มองว่า คนกินเงินเดือนส่วนใหญ่ ไม่มีโอกาสไปต่างประเทศ ก็ต้องนำต่างประเทศมาไว้ที่นี่ เพื่อให้คนกลุ่มนี้มีโอกาสไปเมืองนอก

“เทอร์มินอล 21 เป็นห้างไม่กี่ห้างในเมืองไทยที่ยอมให้ถ่ายรูปทุกมุม จึงมีทั้งคนทั่วไป คู่รัก บัณฑิตใหม่มาถ่ายรูปฉลองรับปริญญาเยอะมาก จึงมีผลให้เทอร์มินอล 21 ติดอันดับสถานที่ที่มีการถ่ายรูปมากที่สุดในอินสตาร์แกรม โปรแกรมถ่ายรูปยอดฮิตในสมาร์ทโฟน และเฟซบุ๊ค และนี่เป็นอีกหนึ่งครั้งที่ทำให้เทอร์มินอล 21 เป็นที่รู้จักในวงกว้าง โดยไม่ต้องโฆษณา”

อนันต์ กล่าวว่า แนวคิดการทำห้างแบบเทอร์มินอล 21 และเดอะ พรอมานาด อาจจะมีต้นทุนสูงขึ้นมาเล็กน้อย และมีกำไรน้อยกว่าทำห้างแบบเดิม แต่สิ่งที่ได้ตอบกลับมา เป็นเรื่องปริมาณคนที่เข้ามาใช้บริการ เข้ามาจับจ่ายใช้สอยเยอะมาก และในส่วนของเทอร์มินอล 21 ซึ่งมีโรงแรมแกรนด์ เซ็นเตอร์พอยท์ สุขุมวิทอยู่ข้างๆ ก็มีอานิสงส์ที่ดีด้วย จากเดิมเคยตั้งเป้าปีแรกมีผู้เข้าพัก 50% และเพิ่มเป็น 70% ในปีที่ 2 กลับกลายเป็นว่า เทอร์มินอล 21 ดึงให้ต่างชาติเข้ามาพักที่แกรนด์ เซ็นเตอร์พอยท์จนเต็ม เฉลี่ยอัตราผู้เข้าพักสูงถึง 90% ซึ่งถือว่าสูงมากสำหรับโรงแรมเปิดใหม่

ปัจจัยหลักๆ ที่เทอร์มินอล 21 สามารถดึงความสนใจจากต่างชาติได้ ไม่ใช่แค่เรื่องอาหารถูก ห้องน้ำดี แต่เป็นเรื่องร้านค้าในศูนย์การค้าแห่งนี้ เกือบ 100% เป็นเอสเอ็มอี เป็นร้านค้าที่อยู่ในสวนจตุจักร บางร้านมาจากซอยละลายทรัพย์ ซึ่งมีสินค้าที่แตกต่างจากห้างทั่วไป และเป็นสินค้าแบบที่ต่างชาติให้ความสนใจ โดยอนันนต์ กล่าวว่า จากการสอบถามกลุ่มลูกค้าต่างชาติ ล้วนระบุว่า ห้างทั่วไป มีร้านค้าแบรนด์เนม ซึ่งเป็นร้านที่ในต่างประเทศก็มี แต่ร้านค้าเล็กๆ ในเทอร์มินอล 21 ขายสินค้าที่เมืองนอกไม่มี เป็นสินค้าแฮนด์เมดสไตล์คนไทยในแบบที่ต่างชาติต้องการ

แบไต๋ธุรกิจค้าปลีก \"อนันต์ อัศวโภคิน\" เดอะ พรอมานาด

ในอนาคตคงไม่ได้มีแค่เทอร์มินอล 21 และเดอะ พรอมานาด เพราะล่าสุดได้มีการประกาศแผนระยะยาวแล้วว่า ในอีก 5 ปีนับจากนี้ กลุ่มแลนด์ฯ จะลงทุนขยายธุรกิจค้าปลีกเพิ่มอีก 3 แห่ง มูลค่าลงทุนต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทต่อแห่ง ทั้งทำเลในย่านใจกลางเมืองที่ต้องมีพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ และย่านชานเมืองต้องมีพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 20 ไร่ ซึ่งหนึ่งในทำเลที่อยู่ระหว่างเจรจาปัจจุบัน คือ ที่ดินย่านสามย่านของสำนักงานทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย

จากการแบ่งปันประสบการณ์การทำห้าง ธุรกิจใหม่ของกลุ่มแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ อนันต์ กล่าวทิ้งท้าย เพียงว่า สิ่งที่ต้องการสื่อสาร คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัย ลองมองหาอสังหาฯ ประเภทอื่นๆ และทำให้แตกต่าง มั่นใจว่า แม้จะเป็นน้องใหม่ในวงการนั้น แต่ก็มีโอกาสเทียบชั้นเจ้าตลาดได้ไม่ยาก