posttoday

‘ประทีป กีรติเรขา’ กรมที่ดินลุยหนัก เร่งรังวัด-ออกโฉนด

25 มกราคม 2560

หลังจากได้รับนโยบายจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย มาปฏิบัติ ประทีป กีรติเรขา อธิบดีกรมที่ดิน

โดย...โชคชัย สีนิลแท้

หลังจากได้รับนโยบายจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย มาปฏิบัติ  ประทีป กีรติเรขา อธิบดีกรมที่ดิน ย้ำว่านโยบายเชิงปฏิบัติจะเน้น 2 หัวข้อหลัก ได้แก่ 1.บริการดี 2.ไม่มีทุจริต

สิ่งที่จะต้องทำอย่างแรก คือ ปัญหางานคั่งค้างที่ต้องเร่งรัดงานรังวัดที่คั่งค้างอยู่ 1.4 แสนเรื่อง เพื่อให้เป็นของขวัญกับพี่น้องประชาชนที่มีงานคั่งค้างสะสมมาตั้งแต่ปี 2552  ที่ถือว่าเป็นงานก้อนใหญ่ ซึ่งจะต้องรอคิวกันนาน แต่ละจังหวัดแต่ละสำนักงานที่ดิน บางแห่งเป็นปี บางแห่ง 1 ปีครึ่ง โดยจะต้องทำแก้ปัญหาให้เสร็จภายในเดือนส.ค. 2560 ณ เวลานี้ได้รวมกำลังคน วัสดุอุปกรณ์ งบประมาณ และหลักการบริหารจัดการทั้งหมดมาใช้แก้ไขทั้งหมด  ในช่วง 2 เดือนของปีงบประมาณที่ผ่านมาก็สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย

“2 เดือนแรกระหว่างปีงบประมาณ 2560 (พ.ย.-ธ.ค. 2559) นั้น สามารถแก้ปัญหาไปได้แล้วกว่า 2 หมื่นเรื่อง คือ แผนจะแก้งานค้าง โดยงานใหม่ก็ดำเนินการต่อไป  แม้ว่าขณะนี้จะเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมภาคใต้ ส่งผลให้การแก้ปัญหานั้นอาจจะชะลอไปบ้าง ซึ่งในขณะที่ภาคใต้ยังดำเนินงานได้ไม่เต็มที่ ก็เอาเจ้าพนักงานในภาคใต้มาช่วยในพื้นที่อื่น เป็นวิธีการบริหารเรื่องการแก้งานค้าง ซึ่งส่วนใหญ่งานค้างเป็นเรื่องรังวัดและการออกโฉนด การแบ่งแยก การรวมโฉนด เมื่องานดำเนินได้เร็วปัญหาทุจริตก็จะลดน้อยลง” ประทีป กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องร้องเรียนที่ยังค้างอยู่กว่า 1,900 เรื่อง โดยได้ให้ศูนย์ดำรงธรรมของกรมที่ดินนั้นเป็นเจ้าภาพในการติดตาม ซึ่งจะต้องแก้ให้เสร็จโดยเร็วและเหตุเพิกถอนการจดทะเบียนและเอกสารสิทธิต่างๆ ค้างอยู่ 1,500 เรื่อง สองเรื่องหลักนี้จะต้องทำโดยเร็ว แต่ไม่ใช่รีบร้อนจนกลายเป็นปัญหาผิดพลาดอีกต่อไป มิเช่นนั้นแล้วเรื่องที่เขาร้องเรียนมาก็จะไปปรากฏตามสื่อต่างๆ จึงกลายเป็นปัญหาซ้ำซาก

สำหรับบริการอื่นที่ดีอยู่แล้วจะเดินหน้าต่อ อาทิ การให้บริการโดยไม่มีการพักเที่ยงและให้บริการจนถึงเวลา 17.30 น. หรือจนคนสุดท้ายที่มาขอใช้บริการ แนวทางปฏิบัติที่ทำมาต่อเนื่องมีเวรมาหมุนเวียน และไม่ใช่ว่าเวลา 16.30 น. เลิกงาน หรือบางแห่งทำถึงเวลา 19.00-20.00 น. ก็มีเพราะหากบริการล่าช้าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาการทุจริต

นอกจากจะต้องเดินตามระเบียบแล้ว จะต้องใช้หลักธรรมาภิบาลมาดำเนินการ เนื่องจากการเดินตามระเบียบอาจจะไม่ครอบคลุมเพียงพอ โดยต้องเพิ่มหลักการมีส่วนร่วมเข้ามามีทั้งบุคคลภายนอกและผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาร่วม และพิจารณาถึงเรื่องความคุ้มค่าเมื่อทำไปแล้วพี่น้องประชาชนจะต้องได้ประโยชน์ ประเทศชาติได้ประโยชน์ โดยสร้างความเชื่อถือศรัทธาและความเชื่อมั่นคู่กันไป

สำหรับปีงบประมาณ 2560 กรมที่ดินได้งบจัดสรรจำนวนกว่า 6,000 ล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็นงบลงทุน 1,000 ล้านบาท นอกนั้นเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำ โดยในงบลงทุนนั้นจะมุ่งไปทางการพัฒนาด้านเทคโนโลยีมีโครงการต่อเนื่องที่กำลังดำเนินการอยู่ ได้งบประมาณเป็นรายปี เช่น การพัฒนาระบบรังวัดด้วยดาวเทียม ซึ่งการใช้ดาวเทียมนั้นดำเนินการมาได้กว่า 50% เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน

ทั้งกรมที่ดิน กรมแผนที่ทหารที่มีงบประมาณในการจัดซื้อระบบดังกล่าวด้วย ซึ่งจะต้องมาประกอบกันและต้องมาวางแผนอย่างบูรณาการร่วมกัน บางส่วนเป็นของกรมโยธาธิการและผังเมือง มารวมกันเพื่อให้ครอบคลุมทั้งประเทศ ซึ่งต่อไปจะทำโฉนดให้มีค่าพิกัดดาวเทียมเป็นตัวกำหนด ปัญหาความคลาดเคลื่อนจะเกิดขึ้นไม่เกิน 1 ซม. จากเดิมที่ใช้การปักหมุดจึงคลาดเคลื่อนได้

ปัจจุบันได้เริ่มดำเนินการแล้วใน 3 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ปุทมธานี และสมุทรปราการ  ซึ่งดำเนินการมา 1 ปีแล้ว เวลานี้ใครที่อยู่ใน 3 จังหวัดที่ไปทำการรวมโฉนด แบ่งแยกโฉนด จะได้แผนที่ที่ดำเนินการด้วยพิกัดดาวเทียม ส่วนในกรุงเทพฯ นั้นอยู่ระหว่างเตรียมการ เนื่องจากระบบสัญญาดาวเทียมนั้นประสบปัญหาอาคารสูงบดบัง จึงทำให้การใช้สัญญาณดาวเทียมรังวัดต้องมีความละเอียดถี่ถ้วนเพราะเป็นที่ดินใจกลางเมือง ราคาที่มีมูลค่าสูง

ดังนั้น การใช้ระบบดาวเทียมจึงต้องควบคู่กับระบบของการเดิน บางครั้งจะต้องใช้กล้องประกอบด้วย กรุงเทพฯคาดว่าไม่เกินปี 2561 จะเริ่มให้บริการได้ คาดว่าจะสามารถให้บริการได้ครอบคลุมทั่วประเทศตามแผนการดำเนินงานภายในปี 2562 โดยในปี 2560 จะพยายามทำให้ได้ 20 จังหวัดเป็นแผนงานที่คาดการณ์ไว้ 

อย่างไรก็ตาม ต้องอยู่ที่การจัดซื้อจัดหาตามแผนว่าได้ตามเป้าหมายหรือไม่ และในปีนี้จะเร่งออกโฉนดพื้นที่บริเวณ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ บริเวณเทือกเขาบูโด สุไหงปาดี ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ตั้งเป้าว่าปี 2560 จะดำเนินการให้ได้กว่า 1.5 หมื่นแปลง

“การจัดทำโฉนดแผนที่ชั้นหนึ่งนั้นเป็นการลดภาระให้กับชาวบ้าน ที่ใครจะมาซื้อขายข้างเคียงต้องมาคอยชี้แนวโฉนดของตนเอง ลดภาระเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะต้องเสียให้กับเจ้าหน้าที่ในการรังวัดก็จะลดลงเดิมอาจจะใช้เวลา 3 วัน ต่อไปอาจจะเหลือแค่ใช้เวลาวันเดียว ซึ่งตอนนี้กำลังปรับปรุงให้ได้ เนื่องจากเวลานี้พื้นที่นั้นยังดำเนินการได้ไม่ครอบคลุม แต่ต่อไปตามเป้าหมายจะต้องลดค่าใช้จ่ายให้กับพี่น้องประชาชน แต่เดิมทีมช่าง 1 ทีม รังวัดได้ 5 ไร่ ใช้เวลา 1 วัน เกิน 5 ไร่ แต่ไม่เกิน 15 ไร่ คิด 2 วัน แต่ต่อไปเป็นแผนที่ชั้นหนึ่ง 15 ไร่ อาจจะใช้เวลาเพียง 1 วัน เป็นต้น” ประทีป กล่าว

ทั้งนี้ จากเดิมมีที่ดินที่เป็นโฉนดอยู่ 12 ล้านแปลง ช่างรังวัดมีอยู่ 2,000 คน ปัจจุบันมีอยู่ 33 ล้านแปลง ช่างรังวัดเหลืออยู่ 1,400 คน ต่อไปถ้าหากไม่มีเครื่องมือที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วย งานก็จะค้าง เนื่องจากกรอบอัตรากำลังคนนั้นให้เท่านี้ ดังนั้นต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้งานเร็วขึ้น จากเมื่ออดีตที่ใช้วิธีการเดิน แต่ปัจจุบันมีรถ เรือ จึงทำให้การเดินทางนั้นเร็วขึ้น

สำหรับงานทางด้านกฎหมาย กรมที่ดินอยู่ระหว่างการจัดทำร่างกฎหมายที่ดินทำกินให้กับประชาชน โดยกรมที่ดินมีส่วนในการจัดทำโครงการนี้เป็นร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. ... ซึ่งผ่านคณะรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งรอไปสู่คณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อเข้าสู่ สนช. เพื่อให้นโยบายจัดที่ดินแห่งชาติออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการจัดที่ดินให้คนจน

การยกเป็นร่างพระราชบัญญัติเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน รัฐบาลจึงได้ยกร่างเป็นพระราชบัญญัติ ซึ่งเมื่อเป็นกฎหมายขึ้นมาแล้วจะทำให้การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในการจัดหาที่อยู่อาศัยให้กับผู้ยากไร้มีความคล่องตัวและยั่งยืน

เหล่านี้เป็นการปรับตัวครั้งสำคัญของหน่วยงานสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการอยู่อาศัยอย่างกรมที่ดิน ที่ต้องให้บริการที่ดี รวดเร็ว และปลอดการทุจริต