posttoday

ครั้งแรกในโลก ระบบตรวจระดับความง่วงผ่านเลือด

08 มิถุนายน 2566

ความง่วง และ อาการหลับใน ถือเป็นหนึ่งในสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตขึ้นมา แต่เรากลับไม่มีวิธีตรวจวัดแบบแอลกอฮอล์ ล่าสุดทุกอย่างอาจเปลี่ยนไปเมื่อมีการคิดค้นระบบตรวจวัดความง่วงผ่านเลือด

อาการง่วง ถือเป็นเรื่องทั่วไปที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนโดยที่บางครั้งเราก็ควบคุมไม่ได้ อาจมีสาเหตุมากมาย ตั้งแต่การนอนหลับไม่เพียงพอ, รับประทานยาบางชนิด, ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, โรคประจำตัวบางประเภท, ความเหน็ดเหนื่อย ไปจนเจอเรื่องน่าเบื่อหน่าย ถือเป็นเรื่องที่สามารถเกิดได้กับทุกคน

 

          แน่นอนตามปกติเมื่อใครสักคนเกิดง่วงหงาวหาวนอนเราย่อมไม่ได้สนใจนัก แต่จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาทันทีหากคนง่วงที่ว่าทำการขับรถ ด้วยเป็นไปได้สูงว่าความง่วงอาจนำไปสู่การหลับในกลางทางจนอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ และสามารถทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้ไม่ยาก

 

          อาจมีหลายท่านนึกสงสัยความร้ายแรงของการง่วงแล้วขับกันมาบ้าง เราจึงขอลงลึกรายละเอียดเรื่องนี้กันเสียหน่อย

 

ครั้งแรกในโลก ระบบตรวจระดับความง่วงผ่านเลือด

 

อาการหลับใน อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญของอุบัติเหตุ

 

          หลายท่านอาจสงสัยไปจนตั้งคำถามว่าความง่วงร้ายแรงต่อการขับรถขนาดนั้นจริงหรือ แตกต่างจากการดื่มแอลกอฮอล์หรือความประมาท อาการเหล่านี้เกิดขึ้นตามธรรมชาติซึ่งยากจะหลีกเลี่ยง จะไม่ให้เกิดความง่วงระหว่างขับรถหรือรถติดเลยนั้นแทบเป็นไปไม่ได้

 

          ข้อมูลจากการวิจัยพบว่าความง่วงถือเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ความสามารถในการขับขี่ลดลง ทำให้ประสาทสัมผัสทื่อ, การตอบสนองช้า, ใจลอย, สติไม่อยู่กับตัว โดยพื้นฐานความง่วงเป็นอันตรายในการขับขี่ยานพาหนะไม่ต่างจากคนเมา โดยเฉพาะความง่วงจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ ดื่มแอลกอฮอล์ และใช้ยาบางชนิด ซึ่งนำไปสู่อาการร้ายแรงอย่าง หลับใน

 

          จริงอยู่เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเราอาจเกิดอาการนี้เป็นระยะเวลาสั้นๆ ราว 3 – 5 วินาที แต่ก็เพียงพอจะรบกวนการขับขี่ทำให้คนขับไม่สามารถควบคุมยานพาหนะของตัวเองและตอบสนองไม่ทันท่วงที กลายเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญในการเกิดอุบัติเหตุนำไปสู่อาการบาดเจ็บร้ายแรงและเสียชีวิต

 

          จากการสำรวจสถิติพบว่า ความง่วงถือเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตกว่า 20 % จากอุบัติเหตุจราจรทั่วโลก ในประเทศไทยเองนี่ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน สามารถพบได้บ่อยในช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ นำไปสู่การเสียชีวิตกว่า 22% ต่อการเกิดอุบัติเหตุ 100 ครั้งเลยทีเดียว

 

          ข้อแตกต่างสำคัญระหว่างการเมาแล้วขับกับง่วงแล้วขับคือ อาการมึนเมาสามารถตรวจวัดเป็นรูปธรรมด้วยระบบการตรวจแอลกอฮอล์ สามารถแสดงผลลัพธ์ออกมาให้เห็นเด่นชัด จึงยับยั้งผู้มีอาการมึนเมาไม่ให้ขับขี่ จนสามารถลดระดับความเสียหายที่เกิดลงได้มาก ในขณะที่อาการง่วงกลับไม่มีตัวบอกเป็นรูปธรรมจนอาจจะประเมินได้ยาก

         

          แต่ทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนไปเมื่อเรากำลังจะสามารถทดสอบระดับความง่วงจากกระแสเลือดได้

 

ครั้งแรกในโลก ระบบตรวจระดับความง่วงผ่านเลือด

 

ระบบทดสอบความง่วงผ่านกระแสเลือด

 

          ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจาก Monash University ในออสเตรเลีย กับการพัฒนาระบบตรวจเลือดรูปแบบใหม่ สามารถระบุค่าความง่วงออกมาเป็นตัวเลข ซึ่งจะช่วยให้สามารถตรวจสอบค่าความง่วงของผู้ขับขี่ หนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน

 

          แนวคิดนี้เกิดขึ้นจากงานวิจัยที่แสดงได้เห็นว่า การนอนน้อยกว่า 5 ชั่วโมง/วัน มีอันตรายใกล้เคียงกับการมีแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดมากเกินไป ดังนั้นจึงสมควรมีวิธีตรวจสอบค่าความง่วงของผู้ขับขี่ที่ควบคุมพวงมาลัย เพื่อป้องกันการบาดเจ็บและเสียชีวิตที่อาจจะเกิดขึ้น

 

          การตรวจสอบนี้อาศัยการเจาะเลือดเพื่อทำการตรวจสอบตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ 5 ชนิดในกระแสเลือด จากการตรวจสอบดัชนีชี้วัดทางชีวภาพ ช่วยให้เราสามารถระบุได้ว่าคนผู้นั้นตื่นมาเป็นระยะเวลานานเกินกว่าค่ากำหนดหรือไม่ โดยในห้องทดลองการตรวจวัดนี้มีความแม่นยำถึง 99% และการทดสอบในสถานการณ์จริงก็ยังแสดงผลได้มากกว่า 90%

 

          เป้าหมายของการคิดค้นระบบตรวจวัดความง่วงนี้ มีจุดหมายเพื่อผลักดันให้การตรวจสอบถูกใช้ในดำเนินการควบคู่ไปกับการตรวจวัดแอลกอฮอล์และสารเสพติดต่างๆ โดยเฉพาะกับกลุ่มพนักงานขับรถขนส่งมวลชนที่อาจประสบปัญหาพักผ่อนไม่เพียงพอ นำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตครั้งใหญ่

 

          ทางผู้พัฒนาคาดหวังว่า หากสามารถพัฒนาระบบทดสอบความง่วงของพวกเขาให้ทำการตรวจแบบพกพก ในอนาคตอาจใช้ระบุความง่วงของผู้ขับขี่บนท้องถนน ลดอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการทำงานที่มากเกินของคนขับรถสาธารณะ และป้องกันอุบัติเหตุอีกมากที่อาจจะเกิดขึ้นจากความง่วงและการหลับในอีกด้วย

 

 

          แน่นอนนี่เป็นเพียงแนวคิดอยู่ในระหว่างการพัฒนา จำเป็นต้องได้รับข้อถกเถียงอีกมากทั้งในเชิงการใช้งานไปจนกฎหมาย นอกจากนี้นักวิจัยบางส่วนยังแสดงความคัดค้านไม่เห็นด้วยกับเทคโนโลยีนี้ในการควบคุมขนส่งสาธารณะ ด้วยความง่วงวัดออกมาเป็นข้อมูลเชิงสถิติได้ยาก อีกทั้งเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ผู้ขับขี่และบริษัทโดยไม่จำเป็น อาศัยเพียงกฎหมายควบคุมตารางการทำงานและเพดานชั่วโมงทำงานอย่างเข้มงวดก็น่าจะเพียงพอต่อการแก้ปัญหา

 

          เราจึงจำเป็นต้องรอดูต่อไปว่าสุดท้ายระบบตรวจวัดความง่วงนี้จะได้นำมาบังคับใช้ในกฎหมายหรือไม่

 

 

 

          ที่มา

 

          http://www.accident.or.th/phocadownloadpap/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%99%20%E0%B8%87%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%96%E0%B8%B6%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95.pdf

 

          https://ddc.moph.go.th/uploads/publish/1073320201112064443.pdf

 

          https://interestingengineering.com/innovation/blood-test-detect-sleepiness-in-drivers