posttoday

“เครื่องบินส่วนตัว” ตัวร้ายโลกร้อน จะเป็นมิตรกับอากาศได้อย่างไร?

05 มิถุนายน 2566

การใช้เครื่องบินเจ็ทส่วนตัว หรือ Private Jets ถูกมองว่าเอาเปรียบคนอื่นๆ ด้วยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าการบินปกติหลายเท่า แต่จะทำอย่างไรให้มันดูเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น? ในสภาวะโลกรวนเช่นนี้

“เครื่องบินส่วนตัว” ตัวร้ายโลกร้อน จะเป็นมิตรกับอากาศได้อย่างไร?
 

 

รู้กันมานานแล้วว่า กลุ่มสิ่งแวดล้อมได้ต่อว่าต่อขานภาคการบินเอกชนว่า เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกอย่างไม่รู้ร้อนรู้หนาว และเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนี้เอง บรรดานักเคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศได้ทำการประกาศต่อต้าน ขัดขวางงานแสดงสินค้าอากาศยาน-เครื่องบินเจ็ตส่วนตัวในสวิตเซอร์แลนด์

 

รู้กันว่า เครื่องบินเจ็ตส่วนตัวเหล่านี้ เนื่องจากมักเดินทางในระยะทางที่สั้นกว่าเครื่องบินเจ็ตเชิงพาณิชย์ โดยทั่วไปแล้วเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวจะมีประสิทธิภาพน้อยกว่า และปล่อยมลพิษต่อผู้โดยสารหนึ่งคนสูงกว่ามาก จากข้อมูลของ European Transport and Environment องค์กรไม่แสวงผลกำไรระบุว่า เครื่องบินเจ็ตส่วนตัวสามารถก่อมลพิษได้มากกว่าเครื่องบินพาณิชย์ 5 ถึง 14 เท่า และก่อมลพิษมากกว่ารถไฟ 50 เท่า แต่ภาคการบินเอกชนมีการเติบโตสูงมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

 

รายงานโดย Institute for Policy Studies เปิดเผยว่า ภาคการบินเอกชนได้สร้างสถิติอุตสาหกรรมในปี 2564 และ 2565 ด้วยกองบินทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นถึง 133% ตั้งแต่ปี 2543 งานวิจัยที่จัดทำโดยกรีนพีซแสดงให้เห็นว่าเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวในยุโรปเพียงแห่งเดียวปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 3.39 ล้านเมตริกตันในปี 2565 เทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซจากรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมัน 753,000 คันในสหรัฐอเมริกาที่ขับกันบนท้องถนนเป็นเวลาหนึ่งปี แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ภาคส่วนนี้ยังคงมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก และบางภาคส่วนในอุตสาหกรรมกำลังมองหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

 

“เครื่องบินส่วนตัว” ตัวร้ายโลกร้อน จะเป็นมิตรกับอากาศได้อย่างไร?
 


ในฐานะสมาชิกของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ร่วมกับสายการบินพาณิชย์รายใหญ่อื่นๆ Jetex บริษัทการบินเอกชนในดูไบมีเป้าหมายที่จะบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 หรือปี 2050 หลังเปิดตัวในปี 2548 โดย CEO Adel Mardini ปัจจุบัน Jetex มีพนักงาน 750 คนประจำอยู่ตามอาคารผู้โดยสารเอกชนหลายสิบแห่งทั่วโลก รวมถึงดูไบ ไมอามี ปารีส และปักกิ่ง ด้วยความร่วมมือกับบริษัทน้ำมัน Neste ในปี 2021 Jetex เริ่มให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน หรือ Sustainable Aviation Fuel (SAF) ซึ่งทำจากวัตถุดิบและขยะเหลือใช้ที่สามารถนำมาใช้อีกได้ โดยเริ่มให้บริการเติม SAF ได้ที่สนามบินเฮลซิงกิ ในปีเดียวกัน ที่อาคารผู้โดยสารของสนามบิน Paris Le-Bourget ก็ได้เริ่มให้บริการ SAF ที่ผลิตโดยบริษัท TotalEnergies ของฝรั่งเศสเช่นกัน ซึ่ง SAF ที่นี่ทำมาจากน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว แต่ด้วยปริมาณ SAF ที่มีอยู่จำกัดหมายความว่า SAF ยังไม่มีให้บริการในทุกสนามบิน


แต่ Jetex ตั้งเป้าว่า ต้องการทำให้ SAF เป็นอีกตัวเลือกของเชื้อเพลิงทางเลือกสำหรับนักเดินทางในทั่วทุกแห่งในโลก “เราคิดอยู่ตลอดเวลาว่าเราจะทำงานร่วมกับทุกคนได้อย่างไร เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อชีวิตและอนาคตของเราน้อยลง” Mardini กล่าวกับ CNN และเสริมว่า Jetex กำลังดำเนินการเปลี่ยนพื้นที่อาคารผู้โดยสารเครื่องบินส่วนตัวให้เป็นพื้นที่สีเขียวทั้งหมดในอนาคต

 


ปัญหาการขาดแคลนเชื้อเพลิง

การปล่อย CO2 ในภาคการบินคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 2% ของการปล่อย CO2 ที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานทั่วโลกในปี 2564 แต่จากข้อมูลของ IATA ระบุว่า SAF สามารถลดการปล่อย CO2 ลงได้ถึง 80% และจะกลายเป็นผู้มีส่วนร่วมรายใหญ่ที่สุดในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ในปี 2593

 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาในเรื่องความขาดแคลน หรือ ไม่พอใช้ ยังคงเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ตามความเห็นของ Dr. Suzanne Kearns รองศาสตราจารย์ด้านการบินแห่งมหาวิทยาลัย Waterloo ในแคนาดา

 

“เราคาดว่า การลดการปล่อยมลพิษ 60-70% (ของภาคการบิน) อาจมาจากการบูรณาการเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) แต่ความจริงก็คือทุกวันนี้ เชื้อเพลิงดังกล่าวมีราคาแพงกว่าเชื้อเพลิงอากาศยานทั่วไปถึง 2-8 เท่า และการเข้าถึงก็มีจำกัด ดังนั้นจึงไม่มีให้บริการในทุกสนามบิน”

 

เธอเสริมว่า หากภาคส่วนการบินเอกชนหันมาใช้ SAF ในช่วงแรก “การประหยัดต่อขนาด หรือ economies of scale อาจทำให้มีราคาไม่แพงมากนัก และผลประโยชน์เหล่านั้นจะส่งต่อไปยังด้านอื่นๆ ของอุตสาหกรรมการบิน” แม้ว่าจะไม่ใช่ทุกสนามบินที่มี SAF 

 

แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว Jetex ได้ลงนามในข้อตกลงที่อนุญาตให้นำเสนอ SAF แก่ลูกค้าทั่วโลก ด้วยการทำงานร่วมกับ 360 Jet Fuel Ltd ทำให้ผู้โดยสารสามารถใช้ “ระบบจองและรับสิทธิ์” หรือ “Book and Claim system” โดยชำระเงินให้กับ SAF ที่สนามบินที่มีให้บริการ เพื่อชดเชยเชื้อเพลิงปกติบางส่วนหรือทั้งหมดที่ใช้โดยเครื่องบินที่กำลังเดินทาง

 

หมายความว่าพวกเขาสามารถ "จัดหา" SAF สำหรับเที่ยวบินจากสนามบินที่ไม่มีการซัพพลาย SAF ได้ด้วยระบบนี้

 

ทั้งนี้ การใช้ SAF ในการบินส่วนตัวกำลังแพร่หลายมากขึ้นแม้นะเป็นไปอย่างช้าๆ ตัวอย่างเช่น Victor ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเช่าเหมาลำเครื่องบินเจ็ทในสหราชอาณาจักรก็เป็นหุ้นส่วนกับ Neste และเพิ่งประกาศว่า 20% ของนักเดินทางสมัครใจเลือกใช้ SAF สำหรับเที่ยวบินของพวกเขา โดยใช้ระบบจองและเคลมในแบบที่เรียกว่า “ จ่ายที่นี่ใช้ที่นั่น” (pay here, use there)

 


แผงโซลาร์เซลล์ที่สนามบินนอยฮาร์เดนแบร์กของเบอร์ลิน ในปี 2014



“เขียวบริสุทธิ์” จริงไหม?

Jetex ยังเปิดเผยแผนเมื่อปีที่แล้วเพื่อเปิดตัวสิ่งที่เรียกว่าอาคารผู้โดยสารส่วนตัว "สีเขียวบริสุทธิ์" แห่งแรกของโลก ณ สนามบิน Neuhardenberg ของกรุงเบอร์ลิน ซึ่งเป็นที่ตั้งของฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป “มีโซลาร์ฟาร์มรอบสนามบินซึ่งจะครอบคลุมความต้องการพลังงานของสนามบินทั้งหมด นอกจากนี้ เรายังวางแผนที่จะใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพื่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์” Mardini กล่าว เนื่องจากอาคารผู้โดยสารในเบอร์ลินยังคงอยู่ระหว่างการพัฒนา บริษัทจึงได้ดำเนินการเล็กๆ น้อยๆ เพื่อเปลี่ยนสถานที่อื่นๆ บางแห่ง ซึ่งรวมถึงดูไบ ลอนดอน ปารีส และสิงคโปร์ ให้เป็นอาคารผู้โดยสาร "สีเขียว" โดยสมบูรณ์ภายในสิ้นปี 2567

 

ในอนาคต Jetex กำลังคิดถึงการใช้เครื่องบินไฟฟ้า (electrical aircraft) และได้ร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับบริษัทขนส่งทางอากาศในเขตเมือง รวมถึง Volocopter และ Eve Air Mobility เพื่อเร่งการพัฒนา eVTOL หรือยานบินขึ้นและลงจอดแนวดิ่งด้วยไฟฟ้า หรือที่บางคนเรียกว่า “แท็กซี่บินได้” 

 

โดยเจ้าเครื่อง EVTOL มีระยะบินสั้นกว่าเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว และจะใช้สำหรับเที่ยวบินระยะสั้นรอบๆ ตัวเมืองและระหว่างเมือง ซึ่งในอนาคตอาจเป็นตัวเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับคนดังหลายคนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ชอบเดินทางสั้นๆ ด้วยเครื่องบินส่วนตัว

 

“เรากำลังได้เห็นนวัตกรรมที่น่าตื่นเต้นจริงๆ ที่มาจากอากาศยานส่วนบุคคล” ดร. เคิร์นส์กล่าว “eVTOL ทำให้เราจินตนาการได้ถึงสิ่งที่เรียกว่าการขนส่งขั้นสูงทางอากาศ”

 

“เครื่องบินเหล่านี้ … จะพาผู้คนเดินทางไปรอบ ๆ สภาพแวดล้อมในเมืองโดยไม่มีการปล่อยก๊าซที่เกิดจากการใช้เชื้อเพลิงแบบเดิม” และ “ภาคส่วนนี้เติบโตรวดเร็วอย่างไม่น่าเชื่อและน่าตื่นเต้น เพราะได้กลายเป็นพื้นที่ที่การบินส่วนบุคคลเป็นผู้นำในการทำให้ผู้คนพัฒนาการเดินทางและจินตนาการได้ว่า อนาคตที่ยั่งยืนสำหรับการขนส่งทางอากาศจะเป็นไปอย่างไร”