posttoday

Pay-as-you-throw หลักการกระตุ้นให้คนแยกขยะ (2)

24 มีนาคม 2566

วิธีการจัดการขยะมูลฝอยที่ยั่งยืนที่สุดคือ การป้องกันหรือเลี่ยงไม่ให้เกิดขยะตั้งแต่แรก หากเลี่ยงไม่ได้จึงค่อยคัดแยกเพื่อรีไซเคิล ก่อนจะเลือกวิธีการแปรรูปเป็นพลังงาน และการกำจัดด้วยการฝังกลบควรเป็นทางเลือกสุดท้าย เพื่อลดการทิ้งหรือการแยกขยะให้ได้มากขึ้น

Pay-as-you-throw หลักการกระตุ้นให้คนแยกขยะ (2)

 

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจึงเป็นเรื่องจำเป็น โดยทั่วไปการทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนไปในทางที่ต้องการอาจใช้การบังคับทางกฎหมายหรือการใช้แรงจูงใจทางเศรษฐศาสตร์ หรือทั้งสองอย่าง ควบคู่ไปกับการใช้เครื่องมือสนับสนุนอื่นๆ เช่น การให้ข้อมูลและความรู้เพื่อสร้างความตระหนักและจิตสำนึก จากตอนที่แล้วที่นำเสนอหลักการพื้นฐานของการเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการมูลฝอยตามปริมาณที่ทิ้ง (Pay as you throw: PAYT) ที่มีการนำมาใช้สร้างแรงจูงใจให้ครัวเรือนแยกขยะที่ต้นทางในไต้หวันแล้ว บทความนี้จะนำเสนอกรณีศึกษาเพิ่มเติมในเกาหลีใต้ ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา และสรุปข้อดีและข้อจำกัดของ PAYT รูปแบบต่างๆ

 

กรณีศึกษา: เกาหลีใต้

รัฐบาลเกาหลีใต้เริ่มใช้หลักการ PAYT ในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมตามปริมาตรมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 การใช้ PAYT ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จากการศึกษาข้อมูลในช่วงปี ค.ศ. 1994 – 2001 ปริมาณการเกิดขยะมูลฝอยลดลงถึงร้อยละ 16.6 อัตราการรีไซเคิลเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 15.7 ในปีค.ศ. 1994 ไปเป็นร้อยละ 43 ในปีค.ศ. 2001 และอัตราการเกิดขยะต่อคนต่อวันลดลงจาก 1.3 กิโลกรัม/คน/วัน ในปีค.ศ. 1994 เหลือเพียง 1.01 กิโลกรัม/คน/วันในปีค.ศ. 2001 

 

เกาหลีใต้ใช้วิธีการจำหน่ายถุงขยะโดย อปท. เอง เพื่อให้ผู้ทิ้งขยะร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะ ซึ่งค่าถุงจะครอบคลุมต้นทุนการเก็บขนและกำจัดขยะและต้นทุนการผลิตถุง ถุงขยะมีจำหน่ายที่ร้านขายของชำ ร้านสะดวกซื้อ และตลาดโดยทั่วไปเพื่อให้ประชาชนหาซื้อได้ง่าย อปท. อาจเป็นผู้จัดหาและส่งมอบถุงให้ร้าน

 

ในเรื่องของการลักลอบทิ้งเนื่องจากไม่ต้องการเสียค่าธรรมเนียมจากการซื้อถุงขยะ พบว่าในเมืองใหญ่มีโอกาสลักลอบทิ้งน้อยมากเนื่องจากมีชุมชนอาศัยอยู่ทั่วไปและสามารถเห็นการลักลอบทิ้งได้โดยง่าย รวมทั้งค่าปรับที่สูงสุดถึง 1 ล้านวอน (30,000 บาท) ทำให้ไม่คุ้มค่าที่จะเสี่ยงถูกจับเพียงเพื่อเลี่ยงการซื้อถุงที่ราคาไม่ได้สูง (ประมาณ 8-10 บาท ต่อถุงขนาด 20 ลิตร) นอกจากนี้ ยังมีกล้องวงจรปิดและชุมชนช่วยกันเฝ้าระวังไม่ให้มีการลักลอบทิ้งขยะ โดยผู้แจ้งเบาะแสจะได้เงินรางวัลร้อยละ 80 ของค่าปรับ หลังจากใช้ระบบ PAYT จำนวนกรณีการลักลอบทิ้งกลับลดลงจาก 1,091,849 ครั้ง ในปี ค.ศ. 1995 ลดลงเหลือเพียง 364,855 ครั้ง ในปี ค.ศ. 2000 อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่เกษตรกรรมและชนบทจะมีโอกาสพบการลักลอบทิ้งมากกว่า

 

Pay-as-you-throw หลักการกระตุ้นให้คนแยกขยะ (2)

 

กรณีศึกษา: ญี่ปุ่น

Sakai et al. (2008) ศึกษาการใช้ PAYT สำหรับการจัดการขยะมูลฝอยในเมือง Shingu และพบว่าสามารถลดการเกิดขยะและเพิ่มอัตราการรีไซเคิลได้ เมือง Shingu ได้เริ่มใช้การคิดค่าธรรมเนียมการจัดการขยะตามปริมาณที่ทิ้งเมื่อปี ค.ศ. 2002 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เมืองกำลังวางแผนการสร้างเตาเผาใหม่ ระบบที่ใช้เป็นลูกผสมคือการแจกถุงฟรีแบบจำกัดจำนวนโดยดูตามจำนวนสมาชิกในครอบครัว เช่น ถ้ามี 3-5 คน จะได้ถุงขนาด 15 ลิตร (ขนาดเล็ก) จำนวน 60 ใบ และถุงขนาด 30 ลิตร (ขนาดกลาง) จำนวน 60 ใบ หากครัวเรือนต้องการถุงมากกว่านี้ จะต้องซื้อเพิ่มในราคา ¥21 และ ¥42 สำหรับถุงขนาดเล็กและกลางตามลำดับ สำหรับสถานประกอบการจะต้องซื้อถุงขนาดกลางในราคา ¥84 และถุงขนาดใหญ่ (45 ลิตร) ในราคา ¥126

มาตรการสนับสนุนอื่นๆ ที่ใช้ได้แก่ 1) การเปลี่ยนจุดเก็บขยะจากศูนย์รวบรวมขยะของชุมชนไปเป็นเก็บจากแต่ละบ้านแทน 2) การเก็บขยะแบบแยกประเภทแบ่งเป็น 22 ประเภท และ 3) การตั้งศูนย์รวบรวมขยะรีไซเคิลที่เรียกว่า Eco Plaza

จากการใช้มาตรการดังกล่าว ในช่วงปีค.ศ. 2002-2005 ปริมาณขยะลดลงจนช่วยให้เมืองประหยัดงบประมาณค่าก่อสร้างเตาเผาและโรงคัดแยกขยะไปได้ถึง 2.3 พันล้านเยน อัตราการลดลงของปริมาณขยะและการเพิ่มอัตราการรีไซเคิลในช่วงปีค.ศ. 1999-2005 แสดงไว้ในรูปที่ 2 และการเปรียบเทียบผลก่อนและหลังการใช้มาตราการ PAYT มีรายละเอียดดังนี้

1) อัตราการเกิดขยะทั่วไปลดลงจาก 1.233 กิโลกรัม/คน/วัน ในปี 2001 เหลือเพียง 0.925 กิโลกรัม/คน/วัน ในปี 2002 เทียบเท่ากับลดลงร้อยละ 25

2) อัตราการเกิดขยะรวม (ขยะทั่วไปรวมขยะรีไซเคิล) ลดลงจาก 1.452 กิโลกรัม/คน/วัน ในปี 2001 เหลือเพียง 1.194 กิโลกรัม/คน/วัน ในปี 2002 เทียบเท่ากับลดลงร้อยละ 17.7

3) อัตราการรีไซเคิลเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 15.1 ในปี 2001 เป็น ร้อยละ 22.5 ในปี 2002 เทียบเท่ากับเพิ่มขึ้นร้อยละ 49

 

กรณีศึกษา: สหรัฐอเมริกา

​มีการศึกษาพบว่า PAYT มีการนำมาใช้ใน อปท. ต่างๆ ของสหรัฐอเมริกากว่า 7,000 แห่ง ตัวอย่างที่พบคือ อปท. ในรัฐวอชิงตัน เมน และแมสซาชูเซสต์ ซึ่งมีทั้งรูปแบบที่ใช้ถุงขยะเฉพาะหรือสติ๊กเกอร์ กรณีเมือง Waterville ในรัฐเมน  อปท. จำหน่ายถุงขยะที่มีตราของเมืองใน 2 ขนาด ได้แก่ ขนาดใหญ่ (30 แกลลอน 113 กิโลกรัม, ราคา 2.6 ดอลลาร์ต่อถุง) และขนาดเล็ก (15 แกลลอน 56 กิโลกรัม, ราคา 1.63 ดอลลาร์ต่อถุง) โดยถุงขยะเฉพาะนี้จะเป็นสีม่วงเท่านั้น ผลของการใช้ PAYT ในรัฐแมสซาชูเซสต์ พบว่า  อปท. ที่มีการใช้ระบบ PAYT จะมีปริมาณขยะมูลฝอยต่อครัวเรือนน้อยกว่า อปท. ที่ไม่ได้ใช้ระบบ PAYT นี้ถึงร้อยละ 30 

 

จากการทบทวนรูปแบบ PAYT และประสบการณ์ในต่างประเทศ ผู้เขียนได้สรุปข้อดีและข้อจำกัดของการใช้ PAYT แต่ละรูปแบบดังตารางที่ 2 ทั้งนี้ พบว่ารูปแบบการเก็บค่าธรรมเนียมขยะโดยใช้ถุงขยะเป็นรูปแบบที่ใช้กันแพร่หลายมากที่สุด แต่ยังไม่สามารถนำมาปรับใช้กับประเทศไทยได้หากมีไม่มีการแก้ไขกฎหมายให้รองรับหลักการนี้อย่างชัดเจนและต้องให้อำนาจท้องถิ่นในการไม่เก็บขยะหรือสามารถสั่งปรับได้หากประชาชนมิได้ใช้ถุงขยะของท้องถิ่นที่กำหนด

 

ข้อดีและข้อจำกัดของการเก็บค่าธรรมเนียมขยะตามหลักการ PAYT รูปแบบต่างๆ : 

 

แบบถุง

ข้อดี

• สะดวก เข้าใจง่ายต่อประชาชน

• จัดเก็บได้รวดเร็ว

• สะท้อนต้นทุน

• แปรผันตามปริมาณที่ทิ้ง

ข้อจำกัด

• อปท. ต้องลงทุนสั่งผลิตถุงหรือจ้างสกรีนถุง

• อาจมีประชาชนบางส่วนพยายามใส่ขยะจนแน่นถุง

• เจ้าหน้าที่เก็บขยะต้องตรวจสอบว่าเป็นถุงขยะของ อปท. หรือไม่

หมายเหตุ: เป็นวิธีที่ใช้ในญี่ปุ่น เกาหลีไต้หวัน และฮ่องกง และในบางเมืองในสหรัฐและยุโรป

 

แบบป้ายหรือสติกเกอร์

ข้อดี

• สะดวก เข้าใจง่ายต่อประชาชน

• ใช้ถุงที่มีจำหน่ายตามท้องตลาดหรือถังที่มีอยู่แล้วได้

• จัดเก็บได้รวดเร็ว

• สะท้อนต้นทุน

• แปรผันตามปริมาณที่ทิ้ง

ข้อจำกัด

• เจ้าหน้าที่เก็บขยะต้องตรวจป้ายหรือสติกเกอร์ว่าเป็นของจริงหรือตรงกับขนาดที่ทิ้งหรือไม่

• เจ้าหน้าที่เก็บขยะต้องดึงป้ายหรือสติกเกอร์ออกสำหรับกรณีที่เป็นถัง

• อาจหลุดหรือโดนฝนเสียหาย

หมานเหตุ : ใช้ในหลายเมืองในแคนาดาและนิวซีแลนด์ 

 

แบบใช้ถัง

ข้อดี

• สะดวก เข้าใจง่ายต่อประชาชน

• ไม่ต้องลงทุนเพิ่ม

• อปท. สามารถประมาณการรายได้ค่อนข้างคงที่

ข้อจำกัด

• ไม่ค่อยแปรผันตามปริมาณที่ทิ้งเนื่องจากถังมีขนาดใหญ่ ทำให้การทิ้งขยะน้อยต้องเสียค่าธรรมเนียมเท่ากับทิ้งเต็มถัง

หมายเหตุ: ใช้ในสหรัฐและยุโรป

 

แบบชั่งน้ำหนัก

ข้อดี

• สะท้อนต้นทุน

• แปรผันตามปริมาณที่ทิ้งมากที่สุด ส่งผลต่อการลดการทิ้งและเพิ่มการรีไซเคิลมากที่สุด

• ช่วยให้ อปท. มีข้อมูลที่แม่นยำในการวางแผนและบริหารจัดการ

ข้อจำกัด

• ต้องใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรอุปกรณ์

• เงินลงทุนและค่าดูแลรักษาสูง

• อาจใช้งานได้เฉพาะกรณีที่ทุกบ้านมีถังขยะเพื่อให้เครื่องชั่งน้ำหนักยกขึ้นได้ หากเป็นถุงกองไว้ตัวแขนกลจะยกลำบาก ต้องใช้แรงงานยกชั่งทำให้เสียเวลาในการเก็บขนขยะเพิ่มขึ้น

หมายเหตุ : เป็นที่นิยมในยุโรป / เทคโนโลยี RFID และการชั่งน้ำหนัก และการจัดการข้อมูลต่างๆ สามารถหาได้ในประเทศไทย

 

แบบวิธีการแยกทิ้ง

ข้อดี

• สะดวก เข้าใจง่ายต่อประชาชน

• จัดเก็บได้รวดเร็ว

• ไม่ต้องลงทุนเรื่องวัสดุ อุปกรณ์

ข้อจำกัด

• การตรวจสอบว่าแยกขยะถูกประเภทหรือไม่

• การนิยามขยะรีไซเคิลให้ชัดเจน เช่นถ้วยกาแฟทำจาก PET หรือหลอดพลาสติก ไม่เป็นที่ต้องการของโรงงานรีไซเคิล ไม่ถือว่าเป็นขยะรีไซเคิล

• ไม่แปรผันตามปริมาณที่ทิ้งทำให้ไม่เกิดการลดขยะอาจเพียงได้แค่เพิ่มอัตราการรีไซเคิล

หมายเหตุ: พบการใช้รูปแบบนี้ที่ เทศบาล Palarikovo ใน Slovakia ช่วงปี 2003-2005

 

ที่มา: คณะผู้วิจัย

 

 

 

ผู้เขียน: นายภัทรพล ตุลารักษ์ เลขาธิการ สมาคมจัดการของเสียแห่งประเทศไทย​

ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิจัย สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อปฏิรูประบบบริหารจัดการขยะและส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน ระยะที่ 2 ภายใต้แผนงานสนับสนุนการปฏิรูประบบการจัดการขยะมูลฝอยและ
ของเสียอันตรายซึ่งได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

รายการอ้างอิง:

Acemoglu, D., & Jackson, M. O. (2017). Social Norms and the Enforcement of Laws. Journal of the European Economic Association, 245-295. doi:https://doi.org/10.1093/jeea/jvw006

BiPRO and the Copenhagen Resource Institute (CRI). (2015). Assessment of separate collection schemes in the 28 capitals of the EU. Final Report. https://doi.org/10.2779/49194

DEFRA. (2011). Guidance on applying the Waste Hierarchy.https://assets.publishing.service.gov.uk/government/uploads/system/uploads/attachment_data/file/69403/pb13530-waste-hierarchy-guidance.pdf

Ecologic Institute (2014). Waste charging system in Taipei. https://pocacito.eu/marketplace/waste-charging-system-taipei.html

Haotong, W. (2012, July 23). Guangzhou’s rubbish charge struggle.China Dialogue. https://chinadialogue.net/en/cities/5057-guangzhou-s-rubbish-charge-struggle/

Kim, K.Y. (2003). Volume-Based Waste Fee System. Korea Environmental Policy Bulletin. (1)1.

Pollans, L.B. (2022, January 28). ‘Pay-as-you-throw’ is one of cities’ most effective tools for reducing waste.  GreenBiz. Retrieved February 21, 2023, from  https://www.greenbiz.com/article/pay-you-throw-one-cities-most-effective-tools-reducing-waste

The Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD). (1995). Environmental principles and concepts. General Distribution. GD(95)124. https://www.oecd.org/officialdocuments/publicdisplaydocumentpdf/?cote=OCDE/GD%2895%29124&docLanguage=En

Weston, M.J. (2018, January 24). Taiwan’s Waste Reduction Miracle. Environment. https://international.thenewslens.com/article/88257

กรมควบคุมมลพิษ (2565). รายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี 2564.  https://www.pcd.go.th/publication/26626

ปเนต มโนมัยวิบูลย์ (2558). คู่มือการคิดค่าธรรมเนียมขยะต่อหน่วย สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น. เชียงราย: ล๊อคอินดีไซน์เวิร์ค