posttoday

สภาวิศวกรแนะติดโซลาร์รูฟยังไงให้ปลอดภัย

25 กุมภาพันธ์ 2566

เตือนก่อนติด ระบบเซฟตี้พื้นฐานที่ต้องมีในระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา หรือโซลาร์รูฟ (Solar Rooftop) เพราะการติดตั้งไม่ได้มาตรฐานอาจเสี่ยง "ไฟไหม้วอด"

สภาวิศวกรแนะติดโซลาร์รูฟยังไงให้ปลอดภัย


จากกระแสความนิยมในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านเพื่อผลิตไฟฟ้าไว้ใช้เองในครัวเรือนกำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนดูเหมือนเป็นเรื่องง่ายดายที่เราจะผลิตไฟฟ้าไว้ใช้เอง แต่รู้กันไหมว่า การติดโซลาร์รูฟให้ปลอดภัยต้องมีอะไรบ้าง นอกจากต้องใช้ "วิศวกรผู้เชี่ยวชาญ" ยังต้องติดป้ายกำกับ "บ้านหลังนี้ติดโซลาร์รูฟ" และต้องมีระบบหยุดทำงานฉุกเฉิน – อุปกรณ์ป้องกันไฟกระชากอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ทำให้สภาวิศวกรออกมาชี้แนะพร้อมสนับสนุนการติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์บนหลังคา หรือ โซลาร์รูฟสำหรับใช้งานภายในครัวเรือน โดยเน้นย้ำความปลอดภัยและยังเตือนว่า ควรติดตั้งโดยวิศวกรไฟฟ้าผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงใช้อุปกรณ์ประกอบให้ได้ตามมาตรฐาน และเพิ่มอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่หยุดทำงานฉุกเฉิน หรือ Rapid Shutdown และอุปกรณ์ป้องกันไฟกระชาก หรือ Surge Arrester เพื่อป้องกันการเกิดเพลิงไหม้ และสร้างความปลอดภัยให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงและผู้ติดอยู่ในอาคารขณะเกิดเหตุเพลิงไหม้

ยกตัวอย่าง ต้นแบบอาคารสำนักงานแห่งใหม่ของสภาวิศวกร ที่เป็นอาคารสีเขียว หรือ Green Bulding ระดับแพลตตินัม ที่ติดตั้งโซลาร์รูฟ ช่วยประหยัดไฟได้มากกว่า 200 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อวัน และหวังว่า จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดภาวะโลกร้อน

 

สภาวิศวกรแนะติดโซลาร์รูฟยังไงให้ปลอดภัย

ประเทศไทยได้ขานรับนโยบายจากการประชุม COP 26  ที่ทำให้เกิดเกิดข้อตกลงด้านภูมิอากาศฉบับล่าสุด "Glasgow Climate Pact" ด้วยการสนับสนุนการติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์บนหลังคา หรือ โซลาร์รูฟสำหรับใช้งานเองภายในครัวเรือน เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย และลดการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน ตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรี 

นอกจากนี้ยังได้ออกมาตรฐานการติดตั้งไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย : ระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา พ.ศ. 2565 (มาตรฐาน วสท. 022013-22) โดยคณะกรรมการมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย : ระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา ในคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อเป็นมาตรฐานการในติดตั้งที่มีมาตรฐานความปลอดภัยและได้คุณภาพระดับสากล

จากกระแสดังกล่าวทำให้ปัจจุบันภาคประชาชนได้เริ่มหันมาติดตั้งโซลาร์รูฟเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ภายในบ้านเรือน หรือขายคืนไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าหรือภาครัฐที่รับซื้อไฟฟ้าเพื่อสร้างรายได้เสริมกันมากขึ้น 

แต่สภาวิศวกรยังมีข้อกังวลบางประการถึงกิจกรรมดังกล่าว โดยเฉพาะประเด็น การติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์และอุปกรณ์ประกอบได้อย่างปลอดภัยและมีมาตรฐาน การเกิดอุบัติภัยต่างๆ เช่น การรับน้ำหนักของหลังคา รวมถึงการเกิดเพลิงไหม้  เนื่องจากถึงแม้จะมีการตัดไฟจากแผงสวิตช์หลักภายในบ้านแล้ว แต่ยังมีกระแสไฟฟ้าจากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ไหลอยู่ในวงจรตลอดเวลา จึงต้องมีระบบที่ทำหน้าที่หยุดทำงานฉุกเฉิน หรือ Rapid Shutdown  เพื่อลดแรงดันไฟฟ้าจากแหล่งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ให้มีแรงดันไฟฟ้าลดลงอยู่ในระดับที่ปลอดภัย และในเวลาที่รวดเร็ว จึงมีข้อแนะนำดังนี้: 

 

สภาวิศวกรแนะติดโซลาร์รูฟยังไงให้ปลอดภัย


ความปลอดภัยและข้อควรระวังในการติดตั้ง Solar Rooftop

 

1. ควรมีการติดป้ายแจ้งเตือนให้ทราบว่า "บ้านหลังนี้มีการติดตั้งโซลาร์รูฟ" เพื่อเพิ่มความระมัดระวังให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิง (หากเกิดเพลิงไหม้) และควรมีระบบหยุดทำงานฉุกเฉิน หรือ Rapid Shutdown เพื่อหยุดกระแสไฟฟ้าจากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ขณะเกิดเหตุเพลิงไหม้ ทั้งนี้ เพราะการฉีดน้ำดับเพลิงในบ้านที่มีการติดตั้งโซลาร์รูฟ อาจเกิดไฟช็อตเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตกับเจ้าหน้าที่ดับเพลิง และผู้ที่ติดอยู่ในบ้านได้ 

 

2. ควรติดตั้ง อุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้าและระบบการต่อลงดินที่ถูกต้อง พร้อมอุปกรณ์ป้องกันแรงดันไฟกระชาก (Surge Arrester) เพื่อป้องกันแรงดันไฟฟ้าเกินด้วย และเพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ไม่คาดคิด เช่นการเกิดเหตุเพลิงไหม้ เพราะอีกหนึ่งสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้จากการติดตั้งโซลาร์รูฟคือการเกิดฟ้าผ่า  ซึ่งอาจทำให้เกิดไฟกระชาก สร้างความเสียหายต่ออุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน และอาจนำไปสู่การเกิดเพลิงไหม้ได้

 

3. การติดตั้งโซลาร์รูฟควรดำเนินการออกแบบและติดตั้งโดยวิศวกรไฟฟ้าผู้เชี่ยวชาญ และได้รับการอบรมด้านการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง ควรใช้อุปกรณ์ที่มีคุณภาพได้มาตรฐานในการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคา อีกทั้งยังต้องมีการตรวจบำรุงรักษาประจำปี เพื่อให้มั่นใจได้ว่าแผงโซลาร์เซลล์ และอุปกรณ์ประกอบอื่นๆ ยังสามารถใช้งานผลิตไฟฟ้าได้อย่างปลอดภัย และไม่มีความเสียหายระหว่างการใช้งาน รวมถึงตรวจสอบระบบป้องกันต่างๆ ว่ายังอยู่ในสภาพที่ปลอดภัย และสามารถป้องกันหากเกิดเหตุฉุกเฉินได้ 


ติดตามข่าวสารและความรู้ใกล้ตัวเกี่ยวกับงานวิศวกรรมตลอดจนความเคลื่อนไหวของสภาวิศวกร ได้ที่สายด่วน 1303 ไลน์ไอดี @coethai เพจเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/coethailand ช่องทางยูทูบ (YouTube Channel) สภาวิศวกร Council of Engineers Thailand และเว็บไซต์ https://coe.or.th