posttoday

ผู้บริหารองค์กรกับความท้าทายของ Climate Change

01 กุมภาพันธ์ 2566

ปีที่ผ่านมา ผู้บริหารทั่วโลกต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย ทั้งความผันผวนทางเศรษฐกิจ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ แต่ผู้บริหารระดับสูงของแต่ละองค์กร ยังให้ความสำคัญกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอันดับต้นๆ ในองค์กรของตน

บทสรุปรายงาน Deloitte 2023 CxO Sustainability Report

ในปีที่ผ่านมา ผู้บริหารทั่วโลกต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความผันผวนทางเศรษฐกิจ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน (supply chain disruption) และการขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถ ฯลฯ แม้จะเผชิญกับความท้าทายต่างๆ เหล่านี้ แต่ ผู้บริหารระดับสูงขององค์กร เช่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ CEO ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน หรือ CFO ระธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ หรือ CCO ซึ่งอาจเรียกรวมกันว่า ตำแหน่งระดับ CxO ยังให้ความสำคัญกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอันดับต้นๆ ในองค์กรของตน ถึงแม้ว่า CxO ส่วนใหญ่ที่ตอบแบบสำรวจ มีวิสัยทัศน์เป็นไปในทางเดียวกันว่าเศรษฐกิจทั่วโลกสมารถเติบโตได้เป็นอย่างดี และในขณะเดียวกันก็สามารถบรรลุเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ แต่การดำเนินการและผลจากการดำเนินการไม่เชื่อมโยงกัน เนื่องจากองค์กรต่าง ๆ ยังคงล่าช้าในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่จะปลูกฝังแนวคิดความยั่งยืนในการวางกลยุทธ์ การดำเนินงาน และวัฒนธรรมขององค์กร

เมื่อให้จัดอันดับประเด็นที่เร่งด่วนที่สุดสำหรับองค์กรของพวกเขา CxO หลายคนจัดอันดับให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่ในกลุ่ม “สามอันดับแรก”

• การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังถูกจัดว่ามีความสำคัญในอันดับต้น ๆ เมื่อพิจารณาร่วมกับประเด็นอื่นอีกเจ็ดประเด็น ซึ่งได้แก่ นวัตกรรม การแข่งขันเพื่อหาบุคลากรที่มีความสามารถ และความท้าทายในห่วงโซ่อุปทาน ในความเป็นจริงมีเพียงประเด็นด้านแนวโน้มเศรษฐกิจเท่านั้นได้รับการจัดอันดับสูงกว่าประเด็นที่กล่าวมาเล็กน้อย

• ผู้บริหารระดับ CxO 61% กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อกลยุทธ์และการดำเนินงานขององค์กรในอีก 3 ปีข้างหน้าในระดับสูงหรือสูงมาก

• 75% กล่าวว่าองค์กรของพวกเขาได้เพิ่มการลงทุนด้านความยั่งยืนในปีที่ผ่านมาโดยเกือบ 20% ของกลุ่มนี้ ให้ข้อมูลว่า พวกเขาได้เพิ่มการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ

ผู้บริหารองค์กรกับความท้าทายของ Climate Change

CxO มีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ยังมีความเห็นในทางที่ดีในเรื่องการดำเนินการจัดการด้านสภาพอากาศ

• 62% กล่าวว่าพวกเขามีความกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตลอดเวลาหรือเกือบตลอดเวลา

• ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบทั้งหมดระบุว่าบริษัทของตนได้รับผลกระทบเชิงลบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว และ 82% ของ CxO ได้รับผลกระทบโดยตรงกับตนเอง

• อย่างไรก็ตาม 78% มองในแง่ดีอยู่บ้างหรือมองในแง่ดีอย่างมากว่าจะมีการดำเนินการที่เพียงพอที่จะทำให้โลกสามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

บริษัทต่าง ๆ รู้สึกกดดันอย่างมากที่จะต้องดำเนินการกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตั้งแต่คณะกรรมการ/ฝ่ายบริหาร ลูกค้า ไปจนถึงกลุ่มพนักงาน

• มากกว่าครึ่งหนึ่งของ CxO กล่าวว่าการเคลื่อนไหวของพนักงานในการผลักดันประเด็นสภาพอากาศทำให้องค์กรของตนเพิ่มการดำเนินการด้านความยั่งยืนในปีที่ผ่านมา โดย 24% ของกลุ่มนี้ กล่าวว่ากิจกรรมดังกล่าวว่าสิ่งนี้นำไปสู่การเพิ่มการดำเนินการอย่างมีนัยสำคัญ

• กฎระเบียบยังมีส่วนผลักดัน: 65% ของ CxO กล่าวว่า กฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้องค์กรของตนเพิ่มการดำเนินการด้านสภาพอากาศในช่วงปีที่ผ่านมา

ดังที่เห็นในปีที่ผ่านมา ในขณะที่บริษัทต่างๆ มีการดำเนินการในด้านนี้ แต่ยังไม่ใช่การดำเนินการที่แสดงถึงการปลูกฝังการคำนึงถึงด้านสภาพอากาศไว้ในวัฒนธรรมองค์กร และการมีผู้นำอาวุโสที่มองเห็นความสำคัญและผลักดันสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมาย

• ตัวอย่างเช่น 21% ของ CxO ระบุว่าองค์กรของตนไม่มีแผนในการกำหนดค่าตอบแทนจากการดำเนินงานด้านความยั่งยืนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมให้ผู้นำระดับสูง และ 30% กล่าวว่าพวกเขาไม่มีแผนที่จะชักชวนให้รัฐบาลสนับสนุนโครงการด้านสภาพอากาศ

• นอกจากนี้ เมื่อถามเกี่ยวกับความจริงจังในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีเพียง 29% ของ CxO ที่กล่าวว่าพวกเขาเชื่อว่าภาคเอกชน "จริงจังมาก"

• และมีเพียง 46% เท่านั้นที่กล่าวว่าการสร้างความเชื่อมั่นใน “การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม”* นั้น “มีความสำคัญอย่างยิ่ง” ในองค์กรของตน และมุมมองด้านความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงนี้แตกต่างกันอย่างมากในแต่ละภูมิภาคและประเทศ

รายงานของดีลอยท์สำรวจเพิ่มเติมในเรื่อง ความต้องการและเป้าหมาย การลงมือปฏิบัติ และผลกระทบ ที่ไม่สอดคล้องกัน ตลอดจนขั้นตอนที่ CxO สามารถดำเนินการให้แต่ละส่วนสอดคล้องกันและเร่งให้เกิดดำเนินการไปสู่การเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจสีเขียว

 

*การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม เป็นการสร้างความเชื่อมั่นว่าผลประโยชน์มากมายจากการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวจะได้รับการแบ่งปันอย่างกว้างขวาง ในขณะเดียวกันก็ยังสนับสนุนผู้ที่ต้องสูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นระดับประเทศ ภูมิภาค อุตสาหกรรม ชุมชน คนงาน หรือผู้บริโภค