posttoday

อนุฯเตรียมเสนอบอร์ดกสทช.ยกเลิกกฎมัสต์แฮฟ

16 มีนาคม 2566

อนุฯเคาะแล้ว ยกเลิก กฎ มัสต์แฮฟ ทั้งระบบ เตรียมเสนอบอร์ดกสทช.หลังประชาพิจารณ์เสร็จ ทำให้ไม่ต้องมีภาระตามประกาศที่ระบุว่า 7 มหกรรมกีฬาคนไทยต้องดูฟรี

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า วันนี้ (16 มี.ค.) ที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ได้มีมติยกเลิกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สําคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 (Must Have) ทั้งฉบับ

โดยขั้นตอนต่อไปจะมีการรับเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) อีกครั้ง ก่อนนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ เป็นที่ทราบดีว่ากฎดังกล่าวมีขึ้นเเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการโทรทัศน์ที่มีคุณภาพอย่างเป็นธรรม และเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนด้อยโอกาสให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการโทรทัศน์ได้อย่างเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป โดยให้ 7 รายการอยู่ใน Must Have ที่ต้องมีการถ่ายทอดสดกีฬาสำคัญ ถือเป็นรายการโทรทัศน์ที่สามารถให้บริการแก่ประชาชนได้ภายใต้การให้บริการฟรีทีวีเท่านั้น ได้แก่ 1.การแข่งขันฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final) 2.การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ (SEA Games) 3.การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ (Asian Games) 4.การแข่งขันอาเซียนพาราเกมส์ (ASEAN Para Games)
 

5.การแข่งขันเอเชียนพาราเกมส์ (Asian Para Games) 6.การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก (Olympic Games) และ 7.การแข่งขันกีฬาพาราลิมปิก (Paralympic Games) 

สำหรับการยกเลิกประกาศดังกล่าว เพราะกสทช.โดนโจมตีอย่างหนักในการนำเงินจากกองทุน USO ไปให้แก่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) จำนวน 600 ล้านบาท ในการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายรอบสุดท้ายที่กาตาร์ แต่กลับมีการนำลิขสิทธ์ไปขายต่อให้แก่เอกชนรายหนึ่งจนเป็นข้อพิพาทเพราะการรับชมของผู้บริโภคในปัจจุบันไม่ได้อยู่บนแพลตฟอร์มเดียว ทำให้มีจอดำมากกว่าล้านรายในไทย

และเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2565 บอร์ดกสทช.ได้ประชุม นัดพิเศษ เรื่อง การพิจารณาการดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้ายโดยที่ประชุมบอร์ด กสทช.จำนวน 6 คน มีมติเอกฉันท์กกท. คืนเงิน 600 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดเพราะกกท. ไม่สามารถดำเนินการตามเอ็มโอยูได้จนทำให้เกิดปัญหาโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิก หรือ IPTV จอดำ ไม่สามารถรับชมการแข่งขันได้

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการกสทช. กล่าวว่า ยังไม่ได้รับรายงานจากอนุฯชุดดังกล่าวโดยตรง แต่การยกเลิก Must Have มันเกี่ยวกับการปฎิบัติงานการบังคับใช้กฎให้เคร่งครัดเพราะทุกวันการรับชมมีแพลตฟอร์มที่หลากหลายมากไม่ใช่แค่โทรทัศน์เพียงอย่างเดียว ดังนั้น การเอาออกจากประกาศฯจะคล่องตัวมากกว่าและปล่อยให้เอกชนเป็นผู้ซื้อลิขสิทธิ์และนำไปบริหารจัดการเอง สำหรับคดีการฟ้องร้องกับกกท.เรียกเงินคืน 600 ล้านบาท ก็ยังอยู่ในชั้นพิจารณาของศาลปกครอง โดยศาลฯก็ได้เรียกตัวแทนของสำนักงาน กสทช.ไปชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว