posttoday

ยกคำพิพากษาศาลปกครอง ชี้ ศักดิ์สยาม แจงกรณีรถไฟฟ้าสีส้ม “ฟอกดำให้เป็นดำ”

19 กุมภาพันธ์ 2566

ทวี สอดส่อง โพสต์เฟซบุ๊ก www.facebook.com/TaweeSodsongOfficial ถึงกรณีที่ "ศักดิ์สยาม" ชี้แจงในสภา เรื่องรถไฟฟ้าสายสีส้ม ระบุว่าเป็นคนละคดีคนละประเด็น เท่ากับเป็นการฟอกดำให้เป็นดำ เพื่อนำเข้า ครม. หวังร่วมกันฮั้ว

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และ เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์เฟซบุ๊ก www.facebook.com/TaweeSodsongOfficial  หลังนาย ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว. คมนาคม ชี้แจงต่อสภากรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยระบุว่า

 

รถไฟฟ้าสายสีส้ม  “อ้างคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคนละคดีคนละประเด็น” เป็นการ “ฟอกดำให้เป็นดำ” เพื่อนำเข้า ครม. “ร่วมกันฮั้วประมูล”

.

ตามที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเด็นโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม อ้างว่าตุลาการศาลปกครองสูงสุดได้แถลงคดีเสร็จสิ้นฝ่าย รัฐบาล (รฟม.) กระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย ได้เสนอให้อัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาร่วมทุนตาม มาตรา 41 เพื่อนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

 

และเมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาลงมา ครม. จะพิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ตามมาตรา 42 นั้น เห็นว่า ในเรื่องขั้นตอนการตรวจสอบ “คำสั่งทางปกครอง” เป็นคนละคดีคนละประเด็นกับที่จะนำเข้า ครม. ที่มีส่วนต่างรัฐต้องเสียหายมากกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท

 

คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่อ้างเป็นคนละคดีคนละประเด็นกัน เรื่องที่นำเข้า ครม. ศาลยังไม่เคยตัดสิน การดำเนินการประมูลครั้งล่าสุด จนได้บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ชนะการประมูลครั้งที่ 2 เป็นเหตุการณ์ภายหลังฟ้องคดีฟ้องร้องตามคำพิพากษาฯ

 

สำหรับการประมูลครั้งที่ 2 กระผมและคณะได้ยื่นเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2565 ให้ตรวจสอบเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กับพวก

 

ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมที่เป็นความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 มาตรา 11 มาตรา 12 และมาตรา 13 และแสวงหาผลประโยชน์มิชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ประเทศชาติเสียหาย

 

ผลการประกวดราคาเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 โดยระบุว่า BEM เป็นผู้ชนะการประมูล ที่มีส่วนต่างราคาที่รัฐบาลต้องชดเชย (เสียหาย) จำนวนมากกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท นั้น คำถามมีว่า

 

1. ) เหตุใด ITD ที่มีประสบการณ์ประมูลโครงการรัฐมาอย่างโชกโชน ถึงกล้าเสนอราคาสูงถึง 102,635 ล้านบาท มากกว่าราคากลางที่เป็นกรอบวงเงินที่ ครม.อนุมัติไว้ 9,675 ล้านบาท ที่ส่อไปไม่สุจริต

2) เป็นการ “จงใจ” ยื่นข้อเสนอเพื่อให้พ่ายแพ้ตั้งแต่ในมุ้งหรือไม่ ? หรือ “จงใจ” ทำให้ข้อเสนออีกเจ้า “ดูดี” หรือไม่ ?

.

3) ในช่วงที่ รฟม.ประกาศรายชื่อผู้ผ่านเกณฑ์ข้อเสนอด้านเทคนิคเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2565 ก่อนเดินหน้าพิจารณาข้อเสนอราคาต่อไป หลายฝ่ายได้ออกโรงทักท้วง ต่อกรณีที่ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ พิจารณาให้ ITD ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ

 

ทั้ง ๆ ที่กรรมการผู้มีอำนาจของ ITD ต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ซึ่งเข้าข่ายลักษณะ “ต้องห้าม” การร่วมลงทุนหรือเข้าประมูลโครงการรัฐตั้งแต่แรก ตามประกาศของคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง ลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. 2562 (ประกาศคณะกรรมการนโยบายฯ)

 

การปล่อยให้ ITD Group ซึ่งมีคุณสมบัติขัดหรือแย้งกับประกาศคณะกรรมการนโยบายร่วมลงทุนฯ ทั้ง ๆ ที่ มาตรา 39 ของ พ.ร.บ. ร่วมลงทุน พ.ศ. 2562 ประกอบกับข้อ 9.3 ของประกาศเชิญชวนดังกล่าวได้กำหนดอย่างชัดเจนว่า

 

คณะกรรมการคัดเลือกและ รฟม. ต้องประเมินให้ ITD Group ไม่ผ่าน และต้องไม่เปิดข้อเสนอด้านราคาของ ITD Group ต่อไปหรือจะเป็นไปเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามมาตรา 40 ของ พ.ร.บ. ร่วมลงทุน พ.ศ. 2562 ที่กำหนดว่า ถ้าเหลือผู้ยื่นข้อเสนอถูกต้องเพียงรายเดียวและการดำเนินการต่อไปไม่ทำให้รัฐได้ประโยชน์ จะต้องยกเลิกการประมูล

 

4) ผลประโยชน์ที่รัฐเสียหายจากการเปิดซองราคาของกิจการร่วมค้า BSR (BTS – STECON) ต่อหน้าสื่อมวลชน โดยกิจการร่วมค้า BSR ได้ขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากภาครัฐสุทธิเพียง 9,675 ล้านบาทเท่านั้น ต่ำกว่ากลุ่ม BEM ที่ยื่นขอรับเงินชดเชยจากภาครัฐสูงกว่า 78,287.95 ล้านบาท มีส่วนต่างที่รัฐต้องเสียหายมากถึง 68,432 ล้านบาท ก่อให้เกิดข้อวิพากษ์อย่างกว้างขวาง

 

พฤติกรรมสมคบกันสร้างคู่เทียบเทียบ เพื่อวัตถุประสงค์ที่ให้กลุ่มบริษัทของตัวเองเข้าทำสัญญากับ รฟม. โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม หรือโดยการกีดกันรายอื่น เอาเปรียบรัฐ เข้าข่ายฮั้วประมูล และยังทำให้สามารถ จะถลุงเงินที่ซุกอยู่ในสัมปทานโครงการนี้

 

ย่อมมีความผิดตาม มาตรา 10-11-12 และ 13 พระราชบัญญัติความผิดว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และผิดทั้งหลักเกณฑ์และขั้นตอนตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 39 และ 40 ของ พ.ร.บ ร่วมลงทุน พ.ศ. 2562

 

ตามหลักของธรรมชาติที่ “อำนาจสามารถปกปิดความจริงได้ แต่ไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงความจริงได้เลย” รถไฟฟ้าสายสีส้มที่กำลังจะนำเข้า ครม. รัฐบาลหวังฟอกด้วยคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคนละคดีคนละประเด็นกัน เสมือน “ฟอกดำให้เป็นดำ” ที่ ครม. ด้วย

 

ยกคำพิพากษาศาลปกครอง ชี้ ศักดิ์สยาม แจงกรณีรถไฟฟ้าสีส้ม “ฟอกดำให้เป็นดำ”