posttoday

ขึ้นดอกเบี้ยคุมอาหารแพง? เมื่อเอเซียให้ยาไม่ถูกอาการ

24 มกราคม 2554

“วิกฤตราคาอาหารแพง” ในเอเชีย โดยเฉพาะในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ กำลังสร้างความวิตกกังวลมากขึ้นในหมู่รัฐบาลประเทศต่างๆ ว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยวิกฤตอาหารเหมือนเมื่อปี 2551 ที่กลายเป็นชนวนของการก่อจลาจลทั่วภูมิภาค

“วิกฤตราคาอาหารแพง” ในเอเชีย โดยเฉพาะในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ กำลังสร้างความวิตกกังวลมากขึ้นในหมู่รัฐบาลประเทศต่างๆ ว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยวิกฤตอาหารเหมือนเมื่อปี 2551 ที่กลายเป็นชนวนของการก่อจลาจลทั่วภูมิภาค

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

 

ขึ้นดอกเบี้ยคุมอาหารแพง? เมื่อเอเซียให้ยาไม่ถูกอาการ

“วิกฤตราคาอาหารแพง” ในเอเชีย โดยเฉพาะในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ กำลังสร้างความวิตกกังวลมากขึ้นในหมู่รัฐบาลประเทศต่างๆ ว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยวิกฤตอาหารเหมือนเมื่อปี 2551 ที่กลายเป็นชนวนของการก่อจลาจลทั่วภูมิภาค

หนึ่งในสัญญาณอันตรายที่ถูกส่งออกมาอย่างชัดเจนที่สุด คือ ข้อมูลขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ที่ระบุว่าผู้คนหลายคนกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง หลังจากดัชนีราคาอาหารโลกของเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว พุ่งสูงสุดเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน โดยอยู่ที่ 214.7 จุด หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 4.2% จากเดือนก่อนหน้า

ไม่เพียงเท่านั้นยังทุบสถิติดัชนีราคาอาหารโลกเมื่อเดือน มิ.ย. 2551 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤตอาหารแพงทั่วโลก และยังเป็นดัชนีที่สูงสุดนับตั้งแต่เอฟเอโอเริ่มเก็บข้อมูลในปี 2533

ในมุมหนึ่ง สัญญาณอันตรายนี้อาจเป็นเพียงภาพรวมของราคาอาหารโลก แต่หากลงไปจับชีพจรราคาอาหารในแต่ละประเทศ จะพบว่าแต่ละประเทศอาการสาหัสสากรรจ์ไม่แพ้กัน

เมื่อปีที่แล้ว กลุ่มประเทศ BRIC ที่ประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ต้องเผชิญศึกหนักจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะมังกรจีนมีตัวเลขเงินเฟ้อสูงถึง 5% อินเดียที่สูงถึง 18% และบราซิลที่ 5.9% สูงสุดในรอบ 6 ปี

ภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรงในประเทศเหล่านี้ยังผลให้ราคาสินค้าถีบตัวสูงขึ้นอย่างรุนแรง หลายประเทศต้องออกมาตรการที่คิดว่าแรงพอจะขวางกั้นการทะยานขึ้นของราคาสินค้า รวมถึงอาหารและพลังงาน

เริ่มจากมังกรจีน ที่จัดทัพดันสารพัดมาตรการ ออกมาใช้ชะลอราคาสินค้าที่พุ่งสูงขึ้น หลังดัชนีราคาอาหารประจำเดือน พ.ย. ปรับขึ้นมาถึง 11.7% ไม่ว่าจะเป็นการเซอร์ไพรส์ตลาดด้วยการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยถึง 2 ครั้งในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีที่แล้ว การปล่อยให้ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย เพื่อลดต้นทุนการนำเข้าอาหารและสินค้าโภคภัณฑ์ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็สั่งคุมเข้มการปล่อยกู้ของธนาคาร รวมทั้งเข้าไปควบคุมราคาสินค้า กวาดล้างการกักตุนสินค้าเพื่อเก็งกำไร

ส่วนแดนภารต ซึ่งตัวเลขเงินเฟ้ออาหารขยับขึ้นมาสูงกว่า 18% นั้น ไม่เพียงธนาคารกลางจะคุมเข้มนโยบายการเงินมากขึ้น พร้อมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นถึง 6 ครั้งเมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลยังบรรเทาความทุกข์ยากของประชากรด้วยการระบายสต๊อกข้าวและข้าวสาลี รวมทั้งขยายเวลาห้ามส่งออกถั่วอีกด้วย

เช่นเดียวกับบราซิล ที่ธนาคารกลางกัดฟันตัดสินใจประกาศขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แม้ว่าวิธีการดังกล่าวอาจจะกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ขณะที่รัสเซียสั่งห้ามส่งออกข้าวสาลี หลังเผชิญภาวะแห้งแล้งและอัคคีภัยทั่วประเทศเมื่อปีที่แล้ว

ในส่วนของประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงไทย อย่างอินโดนีเซีย ซึ่งดัชนีเงินเฟ้อผู้บริโภคเดือน ธ.ค. ทะยานไปอยู่ที่เกือบ 6.96% สูงสุดในรอบ 20 เดือน ไม่เพียงแย้มพรายว่าจะเริ่มปรับเปลี่ยนนโยบายทางการเงินเพื่อต่อสู้กับปัญหาเงินเฟ้อในประเทศ แต่ผู้นำแดนอิเหนายังประกาศให้ประชาชน “ปลูกพริก” ไว้ที่บ้าน หลังจากประสบกับปัญหาราคาพริกที่สูงขึ้นถึง 5 เท่าในช่วงปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ยังประกาศจะอุดหนุนภาษีโรงกลั่นน้ำมันปาล์มในอัตรา 10% หลังจากน้ำมันปาล์มในประเทศประสบปัญหาราคาทะยานสูงทุบสถิติ 2 ปี ในสัปดาห์นี้

แต่ทว่าท่ามกลางยาแรงหลายขนานที่รัฐบาลแต่ละประเทศงัดออกมากำราบเชื้อร้ายเรื้อรังข้ามปีมาอย่างต่อเนื่องนี้ โดยเฉพาะการยกให้มาตรการปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นฮีโร่กู้วิกฤตนั้น อาจไม่ใช่วิธีที่ฉลาดนัก

เพราะต้องไม่ลืมว่าวิกฤตเงินเฟ้อรอบนี้ไม่ได้เกิดจากสภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ขยายตัวร้อนแรงเกินไป จนต้องใช้นโยบายการเงินดึงเอาไว้ แต่เกิดจากความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานในตลาดโลก อันเป็นผลพวงจากสภาพอากาศโลกที่แปรปรวน ตั้งแต่ปีที่แล้วต่อเนื่องจนถึงปีนี้ ทำให้พื้นที่เกษตรหลักๆ ของโลกจมบาดาล กระทบต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตร

ยิ่งกว่านั้น ค่าตอบแทนที่ต้องแลกกับผลลัพธ์จากการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งจะช่วยดูดสภาพคล่องในตลาด ลดการเก็งสินค้าโภคภัณฑ์นั้น แทบจะไม่คุ้มค่าเอาซะเลย

เพราะการขึ้นดอกเบี้ยไม่เพียงเป็นการกวักมือเรียกให้นักลงทุนหอบหิ้วเงินร้อนเข้ามาทำกำไรระยะสั้น และดันให้สกุลเงินท้องถิ่นแข็งค่าขึ้น จนกระทบต่อเสาหลักเศรษฐกิจ อย่างภาคการส่งออก

แต่ยังเป็นการทับถมความทุกข์ยากของผู้บริโภค โดยเฉพาะบรรดาลูกหนี้รายย่อยของแบงก์ให้ต้องแบกภาระหนักขึ้นไปอีก ในช่วงที่สถานการณ์ส่อเค้าจะแย่เลวร้ายลงไปเรื่อยๆ

ตามรายงานแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีหน้าของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ระบุว่า ราคาอาหารหลักของโลกจะทะยานสูงขึ้นอีก หากบรรดานักลงทุนเริ่มหอบเงินหนีดอกเบี้ยต่ำในตะวันตกเข้ามาเก็งกำไรในสินค้าโภคภัณฑ์

ขณะที่ แอบโดเรซา แอบบาสเซียน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของเอฟเอโอ กล่าวกับหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ว่า เป็นเรื่องที่ “โง่” หากจะคิดว่าราคาอาหารในเวลานี้ได้ทะยานมาแตะจุดสูงสุดแล้ว

เช่นเดียวกับรายงานการวิจัยโดยเครดิตสวิส สถาบันการเงินชั้นนำที่ระบุว่าแนวโน้มสถานการณ์น่าเป็นห่วง และคาดการณ์ว่าภาวะเงินเฟ้อในสินค้าประเภทอาหารทั่วเอเชียจะสูงถึง 15% ในช่วงกลางปีนี้ ทว่าสถานการณ์ในเอเชียในปีนี้จะไม่เลวร้ายเท่ากับวิกฤตราคาอาหารเมื่อปี 2551

อย่างไรก็ตาม แม้ภาวะข้าวยากหมากแพง ที่กำลังลามไปทั่วภูมิภาคเอเชียขณะนี้ จะยังไม่วิกฤตหนักเหมือนเมื่อ 3 ปีก่อน แต่หากรัฐบาลหลายประเทศยังนิ่งนอนใจ มัวแก้ปัญหาไม่ถูกโรคอยู่แบบนี้เชื่อว่าไม่ช้าสึนามิทางเศรษฐกิจที่ไม่มีใครอยากเห็นลูกนี้ คงถูกนำมารีรันในไม่ช้า

ดั่งเช่นที่ธนาคารโลกระบุในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกว่า หนึ่งในภัยคุกคามที่ธนาคารโลกให้น้ำหนัก นอกเหนือจากวิกฤตในตลาดเงินยูโรโซน และการไหลทะลักของทุนร้อน คือปัญหาราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น

“เรารู้สึกกังวลมากต่อราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น เรามองเห็นบางอย่างที่คล้ายกับสถานการณ์อาหารแพงที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2551” ฮานส์ ทิมเมอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาของธนาคารโลก กล่าว

เห็นทีวิกฤตครั้งนี้คงเป็นอีกโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลทั่วโลกต้องเร่งตีโจทย์ให้แตก