posttoday

จับตา บทสรุปสุดท้าย คดีไอทีวี กับ สปน. กระทบชิ่ง พิธา พรรคก้าวไกล

07 มิถุนายน 2566

หากไม่มีอะไรผิดพลาด ในเดือนมิถุนายนนี้ ศาลปกครองสูงสุด จะวินิจฉัยชี้ขาด คดีพิพาทระหว่าง สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กับ ไอทีวี อันมีผลโยงมาถึง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากปมถือหุ้นไอทีวี คำวินิจฉัยตัดสินนี้ จึงถือเป็น ลายแทงทางกฎหมายสำคัญยิ่ง สำหรับ พิธา และ พรรคก้าวไกล

ปัญหาข้อพิพาททางคดี ระหว่าง ไอทีวี และ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(สปน.) ปัญหาคาราคาซังมาเนิ่นนาน นับแต่วันที่ 14 ม.ค. 2559 คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาด ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 1/2559 สปน. บอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานกับ ไอทีวี ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ สปน. ต้องชำระค่าเสียหายให้แก่ไอทีวีเป็นจำนวนเงินประมาณ 2,890 ล้านบาท และ ไอทีวี ต้องชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนหรือค่าตอบแทนส่วนต่างพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ สปน. เป็นจำนวนเงินเท่ากัน จึงทำให้ต่างฝ่ายไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระแก่กัน

 

สปน. ไม่เห็นพ้องด้วย ได้ยื่นฟ้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าวต่อศาลปกครองกลางวันที่ 29 เม.ย. 2559 คดีหมายเลขดำที่ 620/2559

แม้ว่าศาลปกครองกลางจะยกคำร้องของ สปน.วันที่ 17 ธ.ค. 2563 เนื่องจากวินิจฉัยว่า คดีไม่มีเหตุตามกฏหมายที่จะให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดได้ แต่ สปน. ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2564 ซึ่งปัจจุบันคดีนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด

 

ตามการคาดการณ์ ผู้บริหารไอทีวี ตอบข้อสงสัย ผู้ถือหุ้น วิเคราะห์การพิจารณานับจากอุทธรณ์ครั้งล่าสุด น่าจะใช้เวลา 2ปีครึ่ง จึงเป็นที่มา ไทม์ไลน์ ภายในเดือนมิถุนายน 2566 คดีนี้ น่าจะมีคำตัดสินออกมาจาก ศาลปกครองสูงสุด  

ผลจากคดี มีผลเกี่ยวพันทั้งทางตรง ทางอ้อม ไปถึง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล กำลังมีปัญหา การถือครองหุ้นไอทีวี 4.2 หมื่นหุ้น แม้ในเวลาต่อมา พิธา เปิดเผยว่า มีการโอนหุ้นไปให้ ทายาท บุคคลในครอบครัวตั้งแต่ ปลายเดือนพฤษภาคม2566  

ประเด็นข้อพิจารณา จากข้อพิพาท ระหว่างองค์กร แต่เกี่ยวพันไปถึง สถานะบุคคล ที่ดันไปถือเคยหุ้นอยู่ ถึงวันลงนามสมัครรับเลือกตั้งส.ส. ในเดือนเมษายน2566 กระทบ พิธา อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะถูกยื่นหนังสือให้ กกต.ตรวจสอบ 

- พิธา เข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ตามรัฐธรรมนูญมาตรา98 (3) หรือไม่ 


- หากไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง คุณสมบัติของหัวหน้าพรรค การลงนามรับรองผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.แบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ ของพรรคก้าวไกล จะมีปัญหาทางข้อกฎหมาย หรือ ส่งผลกระทบมาถึงพรรคด้วยหรือไม่ 

พรรคก้าวไกล และ พิธา แสดงความมั่นใจ ฝ่ายกฎหมาย เตรียมข้อมูล เอกสาร หลักฐานต่างๆ พร้อมทั้งการไปชี้แจงต่อ กกต. และ พร้อมต่อสู้คดี ตามกระบวนการกฎหมาย
 
“….ผมมีความมั่นใจว่า ก่อนที่ผมจะดำเนินการโอนหุ้น ITV นั้น บริษัท ITV ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อมวลชนใดๆ ผมมั่นใจข้อเท็จจริงในอดีต แต่ข้อเท็จจริงที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ผมไม่อาจคาดหมายได้ว่า บริษัท ITV จะถูกทำให้ฟื้นคืนชีพเป็นสื่อมวลชนอีกครั้งหรือไม่ การโอนหุ้นให้แก่ทายาทอื่นจึงเกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นการโอนหุ้นเพราะหลีกหนีความผิดแต่อย่างใด

กระบวนการถัดจากนี้ ผมขอยืนยันทุกท่านว่า ผมมีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการชี้แจงต่อ กกต. ไม่มีความเป็นห่วงหรือกังวลใดๆ ต่อกรณีนี้ และจะไม่เสียสมาธิในการทำงานเด็ดขาด

หลังจากนี้ผมจะเดินหน้าทำงานเตรียมการเปลี่ยนผ่านอำนาจ จัดตั้งรัฐบาลก้าวไกลที่มีพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีให้สำเร็จจงได้ในที่สุด...”

เนื้อหาบางตอน พิธา โพสต์เฟซบุ๊คชี้แจง การโอนหุ้นไอทีวี พร้อมกับ ตั้งข้อสงสัยบางประการ ในการฟื้นคืนชีพไอทีวี เพื่อหวังมาเล่นงานการเมือง หรือไม่ 

ว่ากันว่า ในมุมของ พิธา พรรคก้าวไกล ให้น้ำหนัก การโอนหุ้นไปให้ทายาท คนในครอบครัว เพื่อป้องกัน เรื่องที่จะเกิดในอนาคต โดยเฉพาะในมุมที่ว่า หากผลคำตัดสินออกมา ไอทีวี ชนะคดี โดยวัตถุประสงค์ ไอทีวี ยังดำเนินกิจการสื่อ ยังมีรายได้

 การที่ สถานะบริษัทยังคงอยู่ ประกอบกิจการ มีรายได้ หาก พิธา ยังคงถือหุ้นอยู่ จนถึงวันตัดสินคดี อาจไม่เกิดผลดี  

เป็นอีกมุม นำมาสู่ การโอนหุ้นออกไปก่อน ที่ศาลปกครองสูงสุด จะมีคำตัดสินออกมา 

ไม่ว่าผลคำตัดสิน ศาลปกครองสูงสุด คดีข้อพิพาทระหว่าง สปน. กับ ไอทีวี ภายในเดือนมิถุนายน จะออกมาเป็นผลบวก หรือผลลบ กับ องค์กรใด คงเป็น ลายแทงทางกฎหมาย ให้ พิธา ฝ่ายกฎหมายพรรคก้าวไกล นำเป็นข้อมูลประกอบ อ้างอิง นำไปต่อสู้ ในชั้น กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ อันเป็นด่านหิน ด่านสำคัญ สามารถตัดสินชะตากรรม พิธาและพรรคก้าวไกล ได้เลย