posttoday

"ศรีสุวรรณ" ร้องกกต.สอบผู้สมัคร ส.ก.เพื่อไทยจบ "ดร."จริงหรือไม่

16 พฤษภาคม 2565

"ศรีสุวรรณ" เข้าร้องกกต.ตรวจสอบผู้สมัคร ส.ก.พรรคเพื่อไทยจบปริญญาเอกจริงหรือไม่ หลังใช้ "ดร." นำหน้าชื่อหาเสียง

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา ตนได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ กกต.กทม. เพื่อขอให้ตรวจสอบคุณวุฒิของผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตสัมพันธวงศ์ หมายเลข 4 พรรคเพื่อไทย ซึ่งเน้นใช้คำว่า “ดร.” นำหน้าชื่อหาเสียง สงสัยจบ ป.เอกจริงหรือไม่ ซึ่งหากไม่จบจริง อาจเป็นการหลอกลวง หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัคร ต้องห้ามตามกฎหมายได้

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตสัมพันธวงศ์ หมายเลข 4 พรรคเพื่อไทย ได้โฆษณาหาเสียงและจัดทำเอกสารและแผ่นป้ายประชาสัมพันธ์คุณสมบัติของตนว่าเป็น “ดร.” จบ ปริญญาเอก จาก ม.ชาวพุทธ แห่งประเทศมองโกเลีย(THE BUDDHIST UNIVERSITY, MONGOLIA Doctoral Degree of Philosophy) ซึ่งเมื่อทำการตรวจค้นชื่อมหาวิทยาลัยและหลักสูตรดังกล่าว กลับไม่ปรากฏชื่อในเว็บไซด์ หรือรายละเอียดใดๆเกี่ยวกับสถาบันดังกล่าวในประเทศมองโกเลียแต่อย่างใด จึงอาจเชื่อได้ว่าอาจไม่มีสถาบันดังกล่าวอยู่จริง ในระบบการศึกษาหรือสถาบันการศึกษาในประเทศมองโกเลีย

นอกจากนี้ เมื่อตรวจสอบไปยังสำนักงาน ก.พ. ของไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้การรับรองคุณวุฒิของผู้สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ เพื่อประโยชน์ในการบรรจุและการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ ก.พ. จะรับรองคุณวุฒิที่ได้รับด้วยวิธีการศึกษาตามหลักสูตรเต็มเวลา (full time) จากสถาบันการศึกษาที่ได้รับการรับรองวิทยฐานะจากหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของประเทศนั้น ๆ ก็ไม่ปรากฎว่าให้การรับรองหรือปรากฎว่ามีชื่อ THE BUDDHIST UNIVERSITY, MONGOLIA อยู่ในสารบบของ ก.พ. แต่อย่างใด

ดังนั้น การที่ผู้สมัคร ส.ก.หมายเลข 4 พรรคเพื่อไทย เขตสัมพันธวงศ์ กทม.จัดทำสิ่งพิมพ์ประเภทแผ่นพับ โดยนำมาใช้โฆษณา แจกจ่าย ประชาสัมพันธ์ให้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ และป้ายหาเสียงติดตั้งบริเวณสถานที่ต่าง ๆ ในพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ โดยใช้คำนำหน้าเพื่อระบุสถานะทางการศึกษาของตนว่า “ดร.” ซึ่งปุถุชนทั่วไปเข้าใจได้ว่า หมายถึงการจบการศึกษาในระดับ “ปริญญาเอก” แล้วนั้น

จึงอาจเข้าข่ายกระทำการเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ลงคะแนนให้แก่ตนเอง ด้วยวิธีการหลอกลวง หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัคร อันเป็นการฝ่าฝืนตามมาตรา 65(5) แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 ซึ่งอาจมีโทษตาม ม.126 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 20 ปีด้วย