posttoday

มท.เตรียมส่งมอบ"ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา"ลายผ้าพระราชทาน

07 กุมภาพันธ์ 2565

นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทยจัดประชุมทีมที่ปรึกษา-อุปนายกสมาคมฯหารือเตรียมการจัดพิธีมอบลายผ้าพระราชทาน“ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ที่ได้พระราชทานแก่ราษฎรอันเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย

เมื่อวันที่ 7 ก.พ. ที่กระทรวงมหาดไทย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานการประชุมหารือเพื่อเตรียมการจัดพิธีมอบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” และเตรียมการจัดประชุมคณะกรรมการสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ครั้งที่ 1/2565 โดยมี นางรชตภร โตดิลกเวชช์ ที่ปรึกษาสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นางกุลทรัพย์ ชื่นโกสุม นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ นางกุสุมาล พงษ์สิทธิถาวร พร้อมด้วยคณะกรรมการสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ร่วมประชุม

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เปิดเผยว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้พระราชทานแบบลายผ้า “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ผ่านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และตนเพื่อมอบให้กับช่างทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค นำไปใช้ทอผ้าผลิตผ้าตามอัตลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นทั่วประเทศ ซึ่ง “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” พระองค์ทรงได้รับแรงบันดาลพระทัยจาก “ผ้าขิดลายสมเด็จ” ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานแก่ราษฎรอันเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย

มท.เตรียมส่งมอบ"ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา"ลายผ้าพระราชทาน

ทั้งนี้ ในลวดลายผ้าแต่ละลวดลายแฝงไปด้วยความหมายที่มีความลึกซึ้ง ได้แก่ “ลาย S ที่ท้องผ้า” หมายถึง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงเป็นต้นแบบในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าไทย โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ทรงออกแบบให้เว้นช่องว่างไว้ เพื่อให้ราษฎรได้ร่วมถักทอลวดลายของตนเองลงในช่องว่าง เป็นการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวจากแต่ละท้องถิ่น ต่อมา “ลายบิดที่เป็นกรอบล้อมรอบตัว S” หมายถึง ความจงรักภักดีที่ปวงชนชาวไทยมีต่อพระบรมราชจักรีวงศ์ “ลายเชิงผ้ารูปหัวใจ” หมายถึง ความรักของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย “ลาย S ประกอบกับลายขิดที่เชิงผ้า” หมายถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงปรารถนาให้คนไทยอยู่ดีมีสุข “ลายต้นสนที่เชิงผ้า” หมายถึง พระดำริในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการฟื้นฟูประวัติศาสตร์ของโครงการศิลปาชีพฯ ซึ่งลายต้นสนนี้ เป็นลวดลายพื้นถิ่นที่ถักทออยู่บนผืนผ้าของบ้านนาหว้า จังหวัดนครพนม ที่เป็นจุดกำเนิดโครงการศิลปาชีพฯ และ “ลายหางนกยูงที่เชิงผ้า” หมายถึง ความตั้งพระทัยมั่นของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสืบสาน รักษาและต่อยอด พระราชกรณียกิจของสมเด็จย่าของพระองค์ ในการฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าไทยให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดิน

ดร.วันดี กล่าวว่า เพื่อเป็นการสนองพระมหากรุณาที่พระองค์ท่านได้พระราชทานแบบลายผ้า “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ให้กับช่างทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค ทั่วประเทศ สมาคมแม่บ้านมหาดไทยจึงได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กำหนดจัดพิธีมอบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดและประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดทั่วประเทศ ในช่วงเช้าของวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อเชิญแบบลายผ้า “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” มอบให้กับช่างทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค นำไปใช้ทอผ้า ผลิตผ้าตามอัตลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นทั่วประเทศ และจะมีการเสวนาขับเคลื่อนโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ประจำปี 2565 โดยผู้ทรงคุณวุฒิด้านผ้าไทย

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีผ้ามากที่สุดในโลก เช่น ผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าทอ ผ้าตีนจก ผ้าหม้อห้อม ฯลฯ ซึ่งถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรม เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ เป็นศิลปะที่มีความวิจิตรสวยงาม เป็นวิถีชีวิตของคนไทย และนับเป็นความโชคดีของพวกเราพสกนิกรชาวไทยทุกคน ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงส่งเสริมให้พี่น้องคนไทยรวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มศิลปาชีพ โดยนำเอาภูมิปัญญาฝีไม้ลายมือที่บรรพบุรุษถ่ายทอด ผลิตเป็นงานหัตถศิลป์ หัตถกรรมมากมาย และมี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการส่งเสริมทักษะและต่อยอดแนวคิดในการพัฒนาลวดลายผ้าให้แก่สมาชิกกลุ่มทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค ทั่วประเทศ และทรงเน้นย้ำถึงการใช้สีธรรมชาติในการย้อมผ้าเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย นอกจากนี้ ยังทรงเป็นแบบอย่างให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบเสื้อผ้าไทยให้ทันสมัย สามารถสวมใส่ได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกโอกาส อันเป็นการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทย ก่อให้เกิดรายได้สู่ชุมชนเศรษฐกิจฐานราก เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนผู้ประกอบการผ้าไทยให้มีรายได้ไปจุนเจือครอบครัว เงินทองของพวกเราที่ซื้อผ้าไทย ตามกำลังตามความสามารถ ก็จะหมุนเวียนสร้างรายได้ให้กับพวกเราคนไทยด้วยกันอย่างยั่งยืน” ดร.วันดีกล่าว