posttoday

พรรคการเมืองจับมือ สกัดนายกฯคนนอก

27 พฤศจิกายน 2560

พรรคการเมืองชี้เซตซีโร่ระบบ คสช. ทุกพรรคต้องจับมือกันตั้งรัฐบาล แทนที่จะสู้กันจนตายไปข้างหนึ่ง

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ในงานเสวนา เรื่อง “ปรองดองแบบ คสช. เมื่อไรจะเจออุโมงค์” จัดโดยคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ที่สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า คำว่าปรองดองไม่ใช่ว่าทุกคนจะเห็นต่างไม่ได้ ต้องเห็นเป็นเสียงเดียวกัน แต่คำว่าสังคมปรองดองนั้นสามารถเห็นขัดแย้งแตกต่างกันได้ แต่ต้องไม่ใช้ความรุนแรง

ทั้งนี้  การที่รัฐบาลเชิญฝ่ายต่างๆไปหารือโดยอ้างเรื่องการสร้างความปรองดองนั้น ความจริงเชิญไปเพื่อปิดปากไม่ให้วิจารณ์คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่เคยแลกเปลี่ยนด้วยเหตุผลถึงต้นเหตุของปัญหาอย่างแท้จริง ไม่มีกรรมการที่เป็นอิสระและเป็นกลาง สุดท้ายข้อเสนอต่างๆ ก็หายไปกับสายลม

นอกจากนี้ ตลอดระยะเวลาสามปีกว่าที่ผ่านมา คสช.ยังสะสมเงื่อนไขความวุ่นวายมากขึ้น เพราะต้องการบริหารประเทศยาวนานและมีการใช้คำสั่งตามมาตรา 44 ในเรื่องสำคัญที่กระทบประชาชนและสิ่งแวดล้อม กดคนเห็นต่างไว้ จะทำให้เกิดปัญหากลายเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนมากขึ้นในอนาคต

ด้านแกนนำพรรคเพื่อไทย ระบุว่า รัฐธรรมนูญใหม่นี้ยังจะทำให้เกิดปัญหามาก เพราะการทำประชามติไม่เป็นเสรี ถือเป็นการขยายความขัดแย้งไปในวงกว้างเพื่อต้องการบริหารประเทศยาวนาน ไม่ฟังความเห็นต่าง เมื่อกลายเป็นความอึดอัดและขัดแย้งกับประชาชนจำนวนมาก อาจจะมีการใช้กำลังในการแก้ไขปัญหาอีกก็ได้ เป็นเงื่อนไขว่า คสช.ต้องอยู่ในอำนาจต่อ

อย่างไรก็ตาม การที่เห็นว่าสังคมสงบในขณะนี้ก็เพราะการกดทุกฝ่ายเอาไว้ ซึ่งจะคงอยู่แค่ชั่วคราว เพราะสังคมไม่สามารถอยู่อย่างนี้ได้ ให้ทหารบริหารทำให้ประเทศเสียหายอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ได้ ต้องคลายปมด้วยการเลือกตั้ง แต่ตอนนี้เรายังไม่ได้ใช้รัฐธรรมนูญจริง หากใช้รัฐธรรมนูญจริงความขัดแย้งที่สะสมไว้จะปะทุขึ้น

“เราต้องยอมรับกติกาที่กำหนดในรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะต้องการรัฐบาลแบบไหน ถ้าคนนอกต้องการเป็นรัฐบาลก็ต้องหาคนมาร่วมให้ได้ 280 เสียง ถ้ามีพรรคใดพรรคหนึ่งได้ 200 เสียงก็อยู่ยาก รัฐบาลต้องมีเสียงเกินครึ่งหนึ่งในสภาไม่อย่างนั้นออกกฎหมายไม่ได้ หรือถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐบาลก็ล้มแล้ว

ส่วนพรรคการเมืองที่จะรวมกันก็ต้องได้ 376 เสียงขึ้นไป ซึ่งโอกาสยากมาก เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เป็นคนตั้ง สว. ก็ต้องคัดเลือกคนที่เชื่อฟังตัวเอง ดังนั้นพรรคใหญ่ 2 พรรคต้องจับมือเกือบจะเป็นคณิตศาสตร์แบบนั้น แต่ก็เกิดขึ้นได้ และไม่ควรปิดโอกาสในการร่วมมือกันของ 2 พรรคใหญ่ ถ้าจะไม่ให้คนนอก หรือ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ อีก” จาตุรนต์ กล่าว

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า คสช.อ้างความขัดแย้งมาเป็นสาเหตุของการยึดอำนาจ จึงควรเร่งสร้างความปรองดองตั้งแต่วินาทีแรก แต่ คสช.กลับมาทำในช่วงสุดท้าย ทำให้สังคมไทยอยู่ในอุโมงค์ที่ไม่เห็นแสงสว่าง และเป็นเรื่องยากที่จะหวังให้ คสช.เป็นผู้นำทางไปสู่แสงสว่าง สิ่งที่ดีที่สุดคือต้องคืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด

“แต่รัฐบาลกลับพยายามอยู่ให้นานที่สุด โดยไม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์แต่กลับเดินซ้ำรอยประวัติศาสตร์อยู่ และเปลี่ยนสภาพจากกรรมการมาไล่นักมวยลงจากเวที แล้วเอาถ้วยรางวัลมาเป็นของตัวเอง ทำให้ความปรองดองเกิดขึ้นยาก” นิพิฏฐ์ กล่าว

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เงื่อนไขในรัฐธรรมนูญไม่เอื้อต่อความปรองดอง เพราะไม่สามารถตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ หาก สว. 250 คน ไม่เอาด้วย เมื่อตั้งรัฐบาลไม่ได้ คสช.ก็อาจใช้เป็นเหตุผลอยู่ต่อ จึงอาจเกิดสภาพที่นักมวยหันมาจับมือกันไล่ถลุงกรรมการ เพื่อเปลี่ยนกติกาที่ไม่เป็นธรรม และเอาระบบที่ไม่พึงปรารถนาออกไป เซตซีโร่ระบบ คสช. ด้วยการที่พรรคการเมืองทุกพรรคจับมือกันตั้งรัฐบาล แทนที่จะสู้กันจนตายไปข้างหนึ่ง แม้ว่าโอกาสจะน้อยก็ตาม โดยเห็นว่าเราคุยกันด้วยเลือดและชีวิตพอแล้ว ต้องหันมาใช้สันติวิธี

ด้าน ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ตัวแทนกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)  กล่าวว่า ไม่ได้ตั้งความหวังว่า คสช.จะสร้างความปรองดอง แม้แต่ในร่างสัญญาประชาคมก็เป็นเหมือนคำขวัญไม่มีรูปธรรมในการแก้ปัญหา ในทางกลับกันผู้มีอำนาจก็ยังมีทัศนะเหมือนเดิม

“คำว่าปรองดองกลายเป็นวาทกรรมที่ผู้มีอำนาจเข้ามาต้องพูด แต่ไม่มีความชัดเจนว่าจะทำ ขณะเดียวกันกติกาใหม่ก็ไม่เอื้อให้เกิดการปรองดอง แต่จะสร้างความขัดแย้งใหม่ โดยเฉพาะความไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ผ่านรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก” ณัฐวุฒิ กล่าว

แกนนำ นปช. กล่าวว่า ขอเสนอว่าต้องให้ประชาชนเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และลงประชามติ รวมทั้งต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาคำสั่ง คสช. เพื่อยกเลิกหรือแปรสภาพให้เป็นกฎหมายปกติ

ด้าน อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวว่า  เสียใจที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่รับข้อเสนอของคณะกรรมการศึกษาเรื่องปรองดองชุดของ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ซึ่งตนเองร่วมเป็นกรรมการด้วย

ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าวระบุให้อัยการสามารถพิจารณายุติคดีที่จะสร้างความปั่นป่วนในบ้านเมืองได้ และหลายข้อเสนอที่ส่งไปกลายเป็นอุโมงค์ที่ คสช.หาไม่เจอ หาก คสช.เต็มใจที่จะสร้างความปรองดองก็น่าจะเกิดขึ้นได้ แต่เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งคำถาม 6 ข้อ ทำให้กลายเป็นคนที่เข้ามาร่วมชกมวยด้วย

“รู้สึกผิดหวัง เพราะนายกรัฐมนตรีควรถอยกลับบ้าน แสดงให้เห็นว่า คสช.ไม่มีความตั้งใจที่จะทำเรื่องปรองดองเลย และอยากเตือน คสช.ว่า สามปีกว่าที่ผ่านมาทุกพรรคการเมืองรวมทั้งประชาชนยอมสงบนิ่ง ไม่ใช่เพราะเห็นด้วยกับแนวทางที่ คสช.ทำ ไม่ต้องสร้างความปั่นป่วน เนื่องจากมีเหตุการณ์สำคัญหลายเรื่อง” อดุลย์ กล่าว