posttoday

กปปส.กางแผนเผด็จศึก!ไล่ครม.พ้นยกพวง

30 เมษายน 2557

กุญแจจะอยู่ที่รัฐบาลใหม่ภายหลังการออกไปของยิ่งลักษณ์ จะใช้การเจรจาพูดคุย หรือใช้กฎหมายจัดการกับบางคน

โดย...ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์, ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

สถานการณ์การเมืองอึมครึมใกล้เห็นความชัดเจนจะมีทิศทางอย่างไรในเดือน พ.ค.นี้

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงหรือไม่ จากการโยกย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี พ้นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คาดการณ์ไม่เกินกลางเดือน พ.ค.จะรู้ผล
ขณะที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. เตรียมแถลงแนวทางเผด็จศึกครั้งสุดท้ายวันนี้ เวลา 19.00 น. สอดรับผลคดีประวัติศาสตร์ที่จะออกมาในอีกไม่กี่วัน

สาทิตย์ วงศ์หนองเตย แกนนำ กปปส. ฉายภาพ “จุดเปลี่ยนสถานการณ์” ในเดือน พ.ค.ว่า ทุกอย่างขึ้นกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่จะตัดสินออกมาทางหนึ่งทางใด หากให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง แต่คณะรัฐมนตรียังอยู่ สูตรนี้ กปปส.ต้องเดินหน้าขับไล่ต่อ เพราะเท่ากับระบอบทักษิณยังยื้ออยู่ในอำนาจ ดังนั้น กปปส.ต้องทำทุกวิถีทางด้วย เพื่อไม่ให้ ครม.อยู่ได้อีก

“หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้นายกรัฐมนตรีลาออกและ ครม.หลุดทั้งคณะ โดยที่รัฐบาลยอมรับผลการพิจารณา การเปลี่ยนผ่านอำนาจจะราบรื่น แต่ถ้ารัฐบาลไม่ยอมรับคำวินิจฉัยเหมือนอย่างที่ ชัยเกษม นิติสิริ และ ศอ.รส. ระบุจะทูลเกล้าฯ ให้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า ครม.ต้องพ้นทั้งคณะหรือไม่ ถือเป็นการดึงฟ้าต่ำ แปลว่าดึงพระมหากษัตริย์ลงสู่ความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งจะเป็นชนวนใหญ่และร้อนแรงมาก และตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีข้อหานี้อยู่ และทำให้ศึกนี้มันมากกว่าปกป้องประชาธิปไตย ไปสู่การปกป้องสถาบันด้วย รุนแรงแน่”

แกนนำ กปปส.ระบุว่า รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลกองโจรเพราะหมดความชอบธรรมไปแล้ว จากที่ไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อเป็นเช่นนี้ การต่อสู้ขั้นตอนสุดท้าย มวลมหาประชาชนจะขุดรากถอนโคน นัดชุมนุมใหญ่ เพื่อไม่ให้กองโจรเหล่านี้มาบริหารราชการแผ่นดิน

“แนวทางการต่อสู้เรายังมีวิธีการอยู่ หลายอย่างยังไม่ได้ทำ ซึ่งก็ต้องคอยดูว่าครั้งนี้เป็นอย่างไร โดยเฉพาะถ้าเขาไม่ยอมรับคำตัดสินศาลและ ป.ป.ช. มันต้องดูเงื่อนไข ณ วันนั้นเป็นอย่างไร เพราะสังคมไทยไม่เคยเจอสภาวการณ์แบบนี้ เคยเจอปฏิวัติของทหาร เอาปืน เอารถถังมาปิด ประกาศว่ายึดอำนาจแล้ว ไม่มีใครกล้าสู้กับอาวุธ แต่แนวทางของมวลมหาประชาชนเดินไปสู่จุดนั้นแน่ ถ้ายิ่งลักษณ์ยังดื้อดึง”

กปปส.จะยุติชุมนุมเมื่อใด?

“เมื่อมีรัฐบาลของประชาชนเกิดขึ้น เมื่อ ครม.ยิ่งลักษณ์ พ้นไปแล้วจะด้วยวิธีใดก็แล้วแต่”

สาทิตย์ คาดว่า รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาหลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ ครม.หลุดทั้งคณะ ก็น่าจะอยู่ที่ปลายเดือน พ.ค. จากนั้นรัฐบาลต้องตั้งสภานิติบัญญัติของประชาชน จะโดยวิธีไหนก็ว่ากัน คาดว่าเดือน มิ.ย.ถึง ก.ค. ถึงทำงานได้ รัฐบาลใหม่ต้องเชิญทุกฝ่ายมามีส่วนร่วมในการปฏิรูป โดยจัดรับฟังความเห็น ถ้าทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ 1 ปีก็ไปได้ เพราะมันเป็นสภาเฉพาะกาล มาทำเรื่องปฏิรูปอย่างเดียว ไม่ได้มาออกกฎหมายเหมือนอย่างหลายครั้งที่เคยเกิดขึ้น

หลายฝ่ายเชื่อว่ารัฐบาลใหม่จะบริหารประเทศลำบากเพราะจะถูกต่อต้านจากคนเสื้อแดง ประเด็นนี้ สาทิตย์ ยอมรับ โอกาสที่คนเสื้อแดงจะกลับมาชุมนุมคัดค้านก็มีสูง แต่เป็นเรื่องที่รัฐบาลใหม่ต้องแก้ปัญหา ถ้ายังยอมไปตามข้อต่อรองของเสื้อแดง ก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร เพราะเรายอมมา 10 กว่าปีแล้ว ดังนั้น จะยอมอีกไม่ได้แล้ว เพราะระบอบทักษิณเอาสมุนอันธพาลมาข่มขู่ทุกคน ถ้าต้องเผชิญหน้า ก็ต้องเผชิญหน้า แต่รัฐบาลใหม่ต้องเดินหน้า และบังคับใช้กฎหมายกันไป

“กุญแจจะอยู่ที่รัฐบาลใหม่ภายหลังการออกไปของยิ่งลักษณ์ จะจัดการอย่างไรก็สุดแท้แต่ จะใช้การเจรจาพูดคุย หรือใช้กฎหมายจัดการกับบางคน แยกกลุ่มออกไปคุยก็เป็นอีกเรื่อง แต่ประเทศต้องเดินต่อ รัฐบาลใหม่ต้องเข้ามาสร้างเป้าหมายร่วมของคนในชาติ กระตุ้นให้ทุกส่วนเห็นว่าปฏิรูปกันก่อน ทำเรื่องง่ายก่อนทำเรื่องยาก เช่น กระบวนการเลือกตั้ง โครงสร้างตำรวจ ตามแนวทางที่ประกาศไป โดยมีเวลาจำกัดตามสุเทพบอก 1 ปี 6 เดือน”

ถามว่ารัฐบาลใหม่ควรดึงเสื้อแดงมาร่วมด้วยหรือไม่? “ถ้าจะมา ก็คงไม่มาหมด 100% แต่ว่าลึกๆ มีคนอยากเห็นประเทศเดินหน้าก็มีเยอะ ส่วนฮาร์ดคอร์ดึงให้ตายยังไงก็ไม่มาร่วม เพราะพวกนี้ต้องการกลับไปมีสถานะเหมือนตอนทักษิณอยู่ แต่เชื่อว่ามีหลายคนในเพื่อไทยไม่เห็นด้วยกับ ยิ่งลักษณ์ กับสุรพงษ์ เฉลิม ทำ เพราะเหมือนเป็นการเผาบ้านตัวเอง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลใหม่ต้องไม่มีคนของนักการเมือง แม้กระทั่ง กปปส.เองก็ต้องไม่มีตำแหน่ง ไม่มีการซูเอี๋ย”

การแตกหักช่วงรอยต่อ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไป และรัฐบาลใหม่มา สาทิตย์ ไม่กล้าฟันธงจะเกิดการนองเลือดอย่างที่วิเคราะห์หรือไม่ เพราะมีหลายฝ่ายไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เช่น ทหาร เขาอาจมีกันชน แต่ยอมรับว่าเมื่อถึงจุดนั้น ต้องแตกหักแน่นอน เพราะจุดยืนของทั้งสองขั้วไปด้วยกันไม่ได้ โดยเฉพาะ พ.ต.ท.ทักษิณ มีแนวคิดว่า ถ้ากูอยู่ไม่ได้ พวกมึงก็อย่าอยู่สบายแล้วกัน

“จากประวัติศาสตร์โลก สังคมที่เป็นประชาธิปไตย กระบวนการเปลี่ยนผ่านไม่อาจราบรื่นได้ทั้งหมด บางประเทศเกิดสงครามกลางเมือง เช่น สหรัฐ แต่ในประเทศไทยเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ตลอด แต่กลับไปฟูมฟักโรคร้ายระบอบทักษิณให้เติบโตเกาะกินสังคมไทย และถึงเวลานี้หากต้องเสียอวัยวะเพื่อรักษาชีวิตก็ต้องทำ”

การชุมนุมของ กปปส.ผ่านมาเกินกว่า 180 วัน และกำลังทำลายสถิติของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ปักหลักยาวนานถึง 193 วันขับไล่รัฐบาล “สมัคร-สมชาย”

สาทิตย์ให้ภาพบวกการชุมนุมมวลมหาประชาชนว่า เกิดผลด้านบวก 3 เรื่องด้วยกัน คือ 1.เปิดโปงระบอบทักษิณถึงรากถึงโคน แม้กระทั่งคนเสื้อแดงเองก็ตาสว่าง เพราะได้เห็นว่าเป็นระบอบทำเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง ไม่ใช่ประเทศชาติ

2.จุดกระแสปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง สูงสุดในรอบ 80 ปี ของประชาธิปไตยไทย กระแสปฏิรูปจึงมาพร้อมกับความคิดคนที่บอกว่า นักการเมือง ระบอบตัวแทน สุดท้ายแล้วไม่ได้เป็นตัวแทนประชาชน แต่เป็นตัวแทนของนายทุน และทุนสามานย์เจ้าของพรรค และนำไปสู่กฎเกณฑ์ กติกา บ้าบอทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเลือกตั้ง ต้องมีการปฏิรูปใหม่ ตำรวจ ข้าราชการ ทุจริตคอร์รัปชั่นและระบบการเลือกตั้ง

3.ทำให้เกิดการตื่นตัวของคนในทุกระดับชั้นมากขึ้น

“หลายคนพยายามแช่งให้มวลชนลด แต่มันไม่ลดมา 5-6 เดือน แม้กระทั่งวันที่ 29 ก.พ. ขบวนที่เดินไปอนุสาวรีย์ ร.5 สะท้อนว่าประชาชนเห็นด้วยกับการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง และยังสนับสนุนการกำจัดระบอบทักษิณอย่างไม่เสื่อมคลาย”

“เห็นได้ชัดว่าพลังที่เคยสนับสนุนทักษิณเมื่อปี 2553 ลดลงไปแล้ว การชุมนุมอักษะที่ล้มเหลว เพราะรัฐบาลประกาศตัวว่าเป็นรัฐบาลของไพร่ ชาวบ้าน คนยากจน แต่สองปีกว่าไม่ได้ดูแลคนยากจน ค่าครองชีพสูง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และโกงชาวนาอีก จนชาวนาผูกคอตายไปแล้ว 16 ราย ถึงวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา แต่รัฐบาลไปเดินหน้าทำกฎหมายนิรโทษกรรม ทำให้เสื้อแดงตาสว่าง พลังจึงลดลง และแนวทางการต่อสู้เน้นใช้ความรุนแรง ไปปิดสำนักงาน ป.ป.ช.แสดงถึงสัญลักษณ์ความรุนแรง เผาโลงศพ ประกาศใช้อาวุธ โกตี๋ และ ตั้ง อาชีวะ จาบจ้วงสถาบัน ประกาศแยกประเทศ”สาทิตย์ปิดท้าย