posttoday

เมื่อ AEC มา การกีฬาต้องขยับ

07 กันยายน 2556

การเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 นั้น มีการคาดการณ์กันว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ เพราะมีการรวมกลุ่มเศรษฐกิจเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน

การเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 นั้น มีการคาดการณ์กันว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ เพราะมีการรวมกลุ่มเศรษฐกิจเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน ซึ่งนั่นย่อมทำให้เกิดการค้า การลงทุน และการแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างประเทศสมาชิกกันมากขึ้น แต่ทราบหรือไม่ว่าก่อนที่จะมีการรวมเป็นประชาคมอาเซียนนั้น กลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้มีการรวมตัวกันเพื่อร่วมมือร่วมใจจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาที่เรียกว่า “กีฬาแหลมทอง”

เมื่อ AEC มา การกีฬาต้องขยับ

 

กีฬาแหลมทอง (Southeast Asian Peninsular Games) มีจุดเริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2501 โดยการริเริ่มของหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ เพื่อก่อตั้งการแข่งขันกีฬาระหว่างกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสนับสนุนความเข้าใจและความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2502 ได้มีการจัดตั้งสหพันธ์กีฬาแหลมทองและจัดการแข่งขันกีฬาแหลมทองขึ้นเป็นครั้งแรกที่กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 1217 ธ.ค. โดยมีชาติสมาชิกเข้าร่วมแข่งขัน ได้แก่ มลายา เวียดนามใต้ ราชอาณาจักรลาว พม่า ราชอาณาจักรกัมพูชา และสิงคโปร์ ถือเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2520 สหพันธ์กีฬาแหลมทองได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “สมาพันธ์กีฬาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” และเปลี่ยนชื่อการแข่งขัน “จากกีฬาแหลมทอง” มาเป็นกีฬา “ซีเกมส์” พร้อมกันนั้นยังมีมติให้ประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน เข้าร่วมการแข่งขันอย่างเป็นทางการ รวมถึงในปี 2546 ประเทศติมอร์ตะวันออกได้กลายเป็นชาติสมาชิกล่าสุดที่เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาซีเกมส์

ถึงแม้ว่าวันนี้ประเทศติมอร์ตะวันออกจะยังไม่ได้เป็นสมาชิกประชาคมอาเซียน แต่การเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558 ที่จะถึงนี้ ได้มีการคาดการณ์ว่ากรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจจะเข้ามามีส่วนทำให้วงการกีฬาในอาเซียนเปลี่ยนแปลงไปอีกด้วย ซึ่ง ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ได้ให้ความเห็นกับเราว่า AEC จะมีส่วนในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับวงการกีฬาอาเซียน เพราะเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรมากถึง 600 ล้านคน ซึ่งเป็นแรงดึงดูดให้เกิดการลงทุนเกี่ยวกับกีฬาและการแข่งขัน ดังนั้น เมื่อ AEC มาถึงจะก่อให้เกิดกระบวนการคัดสรรค์สิ่งที่ดีที่สุดทางด้านกีฬา เช่น การเพิ่มขีดความสามารถนักกีฬา การสร้างศักยภาพในการจัดการแข่งขันกีฬา รวมไปถึงการเปิดรับสมาชิกใหม่อย่างประเทศติมอร์ตะวันออกเพื่อเข้าร่วมแข่งขันกีฬาซีเกมส์ สิ่งต่างๆ เหล่านี้คือหนึ่งในกรอบของความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนเหมือนเช่นกรอบของความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

เมื่อ AEC มา การกีฬาต้องขยับ

 

ในปัจจุบันวงการกีฬาของประเทศไทยเติบโตอย่างก้าวหน้าจนกลายมาเป็นหนึ่งในผู้นำอันดับต้นๆ ของอาเซียน เพราะมีกลไกการสนับสนุนจากภาครัฐ นั่นก็คือการกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งถือกำเนิดขึ้นโดยหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ เมื่อปี พ.ศ. 2507 โดยใช้ชื่อว่า “องค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย” หลังจากนั้นในปี 2528 จึงเปลี่ยนชื่อมาเป็น “การกีฬาแห่งประเทศไทย” จนถึงปัจจุบัน

ทุกวันนี้วงการกีฬาไทยได้รับการยอมรับว่ามีพัฒนาการและความก้าวหน้าเป็นลำดับต้นๆ ในอาเซียน สะท้อนได้จากสถิติในการครองความเป็นเจ้าเหรียญทองจากกีฬาหลากหลายประเภท แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อกีฬาได้กลายมาเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของการพัฒนาประเทศ ซึ่ง ณ เวลานี้ ดูเหมือนว่าสิงคโปร์จะหยิบยกเรื่องของกีฬามาพัฒนาประเทศได้อย่างก้าวหน้าที่สุดในอาเซียน เพราะมีการประกาศนโยบายส่งเสริมให้กีฬาเป็นส่วนหนึ่งของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงส่งเสริมให้กีฬาเป็นหนึ่งในธุรกิจที่สร้างมูลค่าด้วยการลงทุนก่อสร้างศูนย์กีฬาขนาดใหญ่ มีการสร้างบุคลากรทางด้านกีฬา มีการผลิตอุปกรณ์กีฬาภายใต้แบรนด์สิงคโปร์ และรวมไปถึงการพัฒนากีฬาอาชีพ ซึ่งนั่นทำให้วงการกีฬาของสิงคโปร์มีการพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด แม้ว่าจะมีข้อจำกัดเรื่องของจำนวนประชากร ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องไม่ประมาทและจะต้องศึกษาจุดแข็งและจุดอ่อนทั้งของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อนำมาพัฒนาและรักษาระดับความเป็นผู้นำทางด้านกีฬาในอาเซียน

เมื่อ AEC มา การกีฬาต้องขยับ

 

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ณ เวลานี้นอกจากสิงคโปร์แล้วเรายังจะต้องจับตามองมาเลเซียอีกด้วย เพราะมีพัฒนาการทางด้านกีฬาตามหลังสิงคโปร์มาแบบติดๆ นอกจากนั้นแล้วยังมีอินโดนีเซีย ซึ่งมีทรัพยากรและประชากรมากที่สุดในอาเซียน จึงเร่งพัฒนาในทุกๆ ด้าน รวมไปถึงด้านกีฬาอีกด้วย ดังนั้น ประเทศไทยควรจะต้องส่งเสริมให้กีฬาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทย ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของการแข่งขันเพียงอย่างเดียว นอกจากนั้นแล้วจะต้องลบค่านิยมในการพนันกีฬาให้หมดไปจากสังคมไทย รวมถึงการส่งเสริมการเคารพกฎกติกาและความโปร่งใสในการแข่งขันกีฬา เพื่อให้นักกีฬาได้แข่งขันอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน ซึ่งนั่นจะนำไปสู่การคัดสรรนักกีฬาที่มีความเป็นเลิศทางกีฬาอย่างแท้จริง

แวดวงกีฬาในยุโรปและสหรัฐอเมริกา คือแบบอย่างสำคัญในการพัฒนาวงการกีฬาโลก อันเนื่องมาจากกีฬาได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจที่มีการศึกษาวิจัยลงทุนและพัฒนากีฬาเพื่อให้ก้าวสู่ความสำเร็จและสร้างผลกำไรตอบแทนในทางธุรกิจ ซึ่งฟุตบอลคือตัวอย่างสำคัญในการพัฒนาและยกระดับจนกลายเป็นกีฬาอาชีพที่มีการลงทุนและการแข่งขันกันสูง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสนามแข่งขันที่มีมาตรฐาน การนำวิทยาศาสตร์กีฬามาเพิ่มขีดความสามารถ การซื้อขายนักกีฬาทั้งในและต่างประเทศ การสนับสนุนจากเอกชนและรวมไปถึงความนิยมชมชอบจากผู้ชมจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้กีฬาฟุตบอลจึงเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญของการใช้โอกาสจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเพื่อมาพัฒนาความเป็นเลิศด้านกีฬาให้กับประเทศไทย

เมื่อ AEC มา การกีฬาต้องขยับ

 

ร.ต.ท.เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในชื่อของ “ซิโก้” อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทยที่ประสบความสำเร็จทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้มุมมองกับโลก 360 องศา ว่า ในวันนี้ AEC อาจไม่ได้หมายถึงเรื่องเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะจะมีหลากหลายมิติเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น เรื่องกีฬา ซึ่งจากประสบการณ์การค้าแข้งในต่างแดนทำให้ซิโก้เห็นว่า AEC จะเข้ามามีส่วนในการทำให้วงการฟุตบอลในอาเซียนจับมือเพื่อร่วมกันพัฒนามากขึ้น เพราะต่อไปนี้จะไม่มีการแข่งขันแค่เพียงฝีเท้าของนักฟุตบอลเท่านั้น แต่จะแข่งขันกันทางด้านองค์ความรู้ การจัดการ การตลาด และระบบสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องกับกีฬา ซึ่งแต่ละประเทศก็มีจุดดีและจุดด้อยแตกต่างกันไป จึงต้องจับมือเพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนสิ่งที่มีและสิ่งที่ขาด ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องไม่ประมาทและเตรียมพร้อมในทุกๆ ด้านเกี่ยวกับกีฬา ไม่เฉพาะเพียงแค่ฟุตบอลเท่านั้น โดยส่วนตัวแล้วซิโก้มองว่าประเทศไทยมีความพร้อมและมีศักยภาพทางด้านกีฬาสูง ไม่ว่าจะเป็นทักษะและความสามารถของนักกีฬา สนามแข่งขันและระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพ แต่อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์พบว่าภาษาคือปัญหาสำคัญของนักกีฬาไทย ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาที่ทวีความสำคัญมากขึ้นเมื่อ AEC มาถึง เพราะภาษาอังกฤษถึงแม้ว่าจะเป็นภาษาหลักของอาเซียน แต่สามารถใช้ได้เพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้น เช่น มาเลเซีย และสิงคโปร์ เพราะชาติสมาชิกส่วนใหญ่ล้วนมีภาษาท้องถิ่นเป็นของตัวเอง เช่น พม่า เวียดนาม และอินโดนีเซีย ดังนั้น การจะสร้างความได้เปรียบก็จะต้องเรียนรู้ภาษาท้องถิ่นของแต่ละประเทศด้วย มากไปกว่านั้นจากประสบการณ์ส่วนตัวซิโก้มองว่า การใช้ภาษาท้องถิ่นสื่อสารจะทำให้เข้ากับคนท้องถิ่นได้ง่ายเหมือนเป็นการซื้อใจคน แต่อย่างไรก็ตาม ภาษาอังกฤษก็ต้องไม่ทิ้งด้วย ซิโก้ กล่าวทิ้งท้าย

กีฬาอาจจะไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนโดยตรง แต่สามารถจะเชื่อมโยงเข้าหากันได้ อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยจะใช้ประโยชน์จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเพื่อการพัฒนากีฬาได้นั้น จำเป็นที่จะต้องวางแผนอย่างเป็นระบบและสร้างรากฐานให้แข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนามาตรฐานสนามกีฬา เพิ่มพูนองค์ความรู้ทางด้านกีฬา เพิ่มศักยภาพนักกีฬา รวมไปถึงการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน เพียงเท่านี้ก็จะทำให้ประเทศไทยสามารถใช้โอกาสจากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้มากยิ่งขึ้น เพื่อที่วันข้างหน้าประเทศไทยจะกลายมาเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และรวมไปถึงศูนย์กลางทางด้านกีฬาของอาเซียนก็เป็นไปได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าวันนี้เราเริ่มจะกระดิกตัวกันแล้วหรือยัง

เมื่อ AEC มา การกีฬาต้องขยับ