posttoday

วุฒิสภาผ่านพรบ.ก่อการร้าย-ฟอกเงิน

20 พฤศจิกายน 2555

วุฒิสภาผ่านพรบ.ก่อการร้าย-ฟอกเงิน "สว." ติง ไทยเสี่ยงเสียอธิปไตยทางศาล

วุฒิสภาผ่านพรบ.ก่อการร้าย-ฟอกเงิน "สว." ติง ไทยเสี่ยงเสียอธิปไตยทางศาล 

การประชุมวุฒิสภาได้มีมติเอกฉันท์ 85 เสียงเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ตามที่คณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้อำนาจสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเสนอรายชื่อบุคคล คณะบุคคล นิติบุคคล หรือองค์กรใดที่เป็นผู้ที่มีการกระอันเป็นการก่อการร้ายภายใต้มติหรือประกาศของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) โดยขั้นต่อจากนี้จะส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาว่าจะเห็นชอบกับการพิจารณาของวุฒิสภาหรือไม่

ทั้งนี้ นายตวง อันทะไชย สว.สรรหา อภิปรายตั้งข้อสังเกตในมาตรา 2 ว่า การแก้ไขในมาตรานี้ของกมธ.ด้วยการกำหนดให้กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ 30 วันจากเดิม 120 วัน กำลังจะสร้างปัญหาให้กับการปฎิบัติจริง เนื่องจากร่างพ.ร.บ.มีการกำหนดเอาไว้ว่ามีบทบัญญัติบางประการที่เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญในบางประเด็น เช่น การประกอบอาชีพ สิทธิของบุคคลในครอบครัว เป็นต้น จึงสงสัยว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีกระบวนการในการทำความเข้าใจกับประชาชนให้รับทราบถึงปัญหาเหล่านี้อย่างไร

นายตวง กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในมาตรา 4 ยังมีลักษณะที่ทำให้ไทยต้องสูญเสียอำนาจอธิปไตยชัดเจน เนื่องจากไปกำหนดว่าการประกาศและถอนรายชื่อบุคคลที่เข้าข่ายสนับสนุนการก่อการร้ายต้องเป็นไปตามมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เท่ากับว่าไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลโดยระบบกระบวนการยุติธรรมของไทย ซึ่งถือเป็นอำนาจอธิปไตยของไทยโดยสมบูรณ์

“สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ การนำประเด็นไปกลั่นแกล้งทางการเมือง หากในอนาคตเกิดใครไม่พอใจใครแล้วนำเสนอชื่อให้องค์กรระหว่างประเทศดำเนินการประกาศให้เป็นผู้สนับสนุนและเกี่ยวข้องกับกระบวนการก่อการร้าย จะทำอย่างไร มีมาตรการป้องกันเรื่องนี้หรือไม่”นายตวงกล่าว

พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ในฐานะรองเลขานุการกมธ. ชี้แจงว่า สาเหตุที่ต้องแก้ไขให้เหลือ 30 วันเพราะเดิมคาดว่าสภาฯได้พิจารณาได้เร็วจึงกำหนดเอาไว้ 120 วัน แต่เมื่อสภาฯมีเหตุต้องพิจารณาล่าช้าออกไปและมาถึงขั้นตอนของวุฒิสภาจำเป็นต้องพิจารณาแก้ไขให้กฎหมายมีผลบังคับหลังจาก 30 วันเพื่อให้ทันกับการประชุม คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน (Financial Action Task Force:FATF)  ซึ่งจะช่วยให้ไทยสามารถปลดล็อคจากการถูกขึ้นบัญชีดำได้

พ.ต.อ.สีหนาท กล่าวอีกว่า ยืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ทำให้สูญเสียอธิปไตยของประเทศ เพราะมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 1904 ระบุว่า ให้ความเคารพอำนาจและอธิปไตยศาลของแต่ละประเทศ และการเสนอรายชื่อผู้ก่อการร้ายต้องมีรายละเอียดมากเพื่อไม่ให้เกิดการระบุผู้ก่อการร้ายผิดตัวโดยต้องผ่านกระบวนการศาลไทยอยู่แล้วตามมาตรา 5 ของร่างพ.ร.บ.นี้ก่อนที่จะเสนอให้ยูเอ็นเอสซีพิจารณา

ภายหลังการประชุมวุฒิสภา พ.ต.อ.สีหนาท ให้สัมภาษณ์ว่า มีแนวโน้มว่าอาจมีการตั้งคณะกมธ.ร่วมกันของสภาฯและวุฒิสภา เพราะในชั้นวุฒิสภาได้แก้ไขถ้อยคำในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าหากพิจารณาในชั้นกมธ.ในเร็วจะสามารถให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ก่อนการประชุมFATF ได้ทันในเดือนก.พ.2556แน่นอน

อย่างไรก็ตาม การประชุมวุฒิสภาเมื่อวันที่ 20 พ.ย.ได้มีมติเอกฉันท์ 87เสียงเห็นชอบกับร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน โดยมีการเพิ่มเติมถ้อยคำในมาตรา 3 ว่าด้วยนิยามความผิดมูลฐานใน (15) ว่า ความผิดเกี่ยวกับการยึดหรือครอบครองทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมจะต้องเป็นลักษณะที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีและเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดข้ามชาติ จากเดิมกำหนดถ้อยคำไม่ได้ครอบคลุมแต่อย่างใด