posttoday

งบน้ำ งามหน้า

13 กันยายน 2555

ใครที่ได้ฟัง ปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.)

โดย...บากบั่น บุญเลิศ จตุพล สันตะกิจ

ใครที่ได้ฟัง ปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ชี้แจงสาเหตุที่น้ำจากแม่น้ำยมเอ่อล้นเข้าท่วมตลาดในเทศบาลสุโขทัยธานี อ.เมือง จ.สุโขทัย แล้ว ชาวบ้านริมน้ำคงได้แต่ลุ้นกันจนนอนกันไม่หลับ ไม่รู้วันดีคืนดีน้ำจะทะลักเข้าบ้านตัวเองวันไหน

“สาเหตุที่น้ำท่วม เพราะน้ำเซาะใต้เขื่อนซีเมนต์ที่สร้างโดยเทศบาลเมื่อปี 2544 เขื่อนสร้างมานานแล้ว และเขื่อนก็ไม่ได้ตอกเสาเข็ม ทำให้น้ำมุดลอดไปได้ ผมต้องขอโทษ เพราะเราไม่อาจล่วงรู้ได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นใต้เขื่อน แต่จะเป็นอุทาหรณ์ให้เราได้ตรวจสอบโครงสร้างสิ่งต่างๆ ที่สร้างมานาน” ปลอดประสพ ระบุ

ปลอดประสพตีหน้าซื่อๆ อธิบายสาเหตุที่น้ำเข้าท่วมตลาดเทศบาลสุโขทัยฯ ที่สูงถึง 0.8-1 เมตร

ฟังแล้วก็ต้องสะอึก เพราะปลอดประสพที่มีอำนาจบริหารจัดการน้ำเบ็ดเสร็จ กลับปัดความผิดชอบไปให้เทศบาลสุโขทัยเต็มๆ ค้านสายตาชาวบ้านเดินดินกันพอสมควร

นั่นอาจเป็นเพราะปลอดประสพลืมไปแล้วว่า ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้จัดสรรงบกลางปี 2555 รายการเงินเยียวยา ฟื้นฟู และป้องกันความเสียหายจากอุทกภัยอย่างบูรณาการก้อนมหึมาถึง 1.2 แสนล้านบาท เกือบครึ่งหนึ่งของงบลงทุนของประเทศในแต่ละปี

และขณะนี้เบิกจ่ายงบแล้ว 97-98% ของงบที่จัดสรรทั้งหมด แม้แต่ตัวปลอดประสพก็ถือได้ว่าเป็นหัวเรือใหญ่ที่นั่งหัวโต๊ะเคาะงบประมาณและดูแลการจัดการเองด้วยซ้ำ

โดยหากพิจารณาจากงบประมาณที่ได้รับจัดสรรไป จ.สุโขทัย มีโครงการลงทุนสำคัญๆ ที่ได้รับการอนุมัติ 4 โครงการ ได้แก่ โครงการขุดลอกแหล่งน้ำบึงใหญ่ การใช้จ่ายในการฟื้นฟูฯ โครงสร้างพื้นฐาน 479 รายการ โครงการแก้มลิงหนองทุ่งพันทลาย อ.คีรีมาศ และการฟื้นฟูฯ ทางสายหลักและโครงข่ายที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยที่มีวงเงินหลายพันล้านบาท

งบน้ำ งามหน้า

และเนื้องานที่แจ้งต่อ กบอ.ก็เสร็จไปแล้ว 95-100%

แต่น้ำก็ยังทะลักเข้าท่วม 4 อำเภอของ จ.สุโขทัย จนได้ คือ อ.เมือง ศรีสัชนาลัย กงไกรลาศ และสวรรคโลก

ข้อมูลเหล่านี้เหมือนกับสะท้อนให้เห็นว่าเงินมหาศาลที่รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตัดสินใจลงทุนไปกับระบบป้องกันน้ำถูกละเลงหายไปกับสายน้ำ

หลักฐานน้ำท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจและสถานที่ราชการที่สำคัญ เช่น ศาลากลาง จ.สุโขทัย จนชาวบ้านหลายพันคนเดือดร้อน คนไทยนับล้านตื่นตระหนก ต้องถือเป็นผลงานชิ้น “โบดำ” ของรัฐบาลได้เลยทีเดียว

และชี้ให้เห็นว่างบประมาณที่จัดสรรไปในโครงการลงทุนระบบน้ำมี “ไอ้เข้” ตัวใดตัวหนึ่งหรือยกโขลงงาบงบไปอย่างไม่ต้องสงสัย

ยกตัวอย่าง เช่น การซ่อมแซมคันกั้นน้ำริมแม่น้ำยมเพื่อป้องกันเขตเมืองสุโขทัยนั้น เป็นไปได้อย่างไรที่ไม่มีการตรวจสอบว่า เขื่อนกั้นน้ำเก่าจะทนแรงน้ำได้อีกหรือไม่

ทั้งๆ ที่รู้ทั้งรู้อยู่ว่าเขื่อนกั้นน้ำสร้างมาแล้วเป็น 10 ปีแล้ว พอน้ำทะลักเขื่อนพัง ก็อ้างโน่นอ้างนี่ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย

ทีตอนขอรับการจัดสรรงบประมาณก็ขอกันไป “เต็มร้อย” แต่ตอนลงมือทำงานงานกลับซ่อมแซมเพื่อป้องกันน้ำกันเป็นหย่อมๆ

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พลานุภาพของมวลน้ำจะทำให้รัฐบาลหน้าแหกหมอไม่รับเย็บ

ล่าสุด ปลอดประสพสั่งตรวจสอบเจ้าหน้าที่เขื่อนและพนังกั้นแม่น้ำ 4 จังหวัด ได้แก่จ.นครสวรรค์ อ่างทอง สิงห์บุรี และพระนครศรีอยุธยา

แต่ถามว่า ถ้ารู้จักจุดอ่อนของพนังกั้นน้ำแล้วจะซ่อมแซมทันน้ำมาหรือไม่ เพราะอีกไม่เกินครึ่งเดือนน้ำก็ถึงจังหวัดเป้าหมายแล้ว หากการใช้บริการ “บิ๊กแบ็ก” ก็ทำได้ แต่ถ้าเอาไม่อยู่ก็ต้องพึ่งแท่งคอนกรีตสำเร็จรูปมาตอกเป็นเขื่อนกันน้ำชั่วคราว

ที่แน่ๆ คนไทยต้องเอาเงินภาษีไปจ่ายเป็นค่าจัดการน้ำกันซ้ำซากและซ้ำซ้อน

หากรัฐบาลไม่อยากเสียหน้า เพราะอาจมีน้ำท่วมในพื้นที่อื่นๆ อีก ไม่แคล้วต้องให้เขื่อนและประตูน้ำตามรายทาง “อมน้ำ” เอาไว้ เพื่อประวิงเวลาเอาไว้

แต่ถ้ายิ่งกักน้ำไว้มากๆ แล้วเกิดมีฝนตกหนักและตกนานเข้ามาซ้ำก็อาจซ้ำรอยปีก่อน โดยเฉพาะการเฝ้าระวังระดับน้ำที่ จ.นครสวรรค์

เพราะข้อมูลของกรมชลประทานระบุชัดว่า หากการไหลของน้ำเกิน 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเมื่อไหร่ ก็เป็นสัญญาณที่ต้องระวังว่าน้ำเสี่ยงท่วมได้

ดังนั้น วิธีการจัดการของรัฐบาลคือ ต้องตัดยอดน้ำเข้าแก้มลิงในพื้นที่ตอนบนของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา 1 ล้านไร่ และจัดหาพื้นที่อีก 1 ล้านไร่ บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างก่อนน้ำเข้าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เขตเศรษฐกิจ และกรุงเทพฯ

ทว่า วันนี้ไม่มีใครรู้ว่า พื้นที่ 2 ล้านไร่ เพื่อรับน้ำเฉพาะหน้าในปี 2555 มีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว แก้มลิงอยู่ที่ไหน อัตราการชดเชยให้คนเดือดร้อนเป็นอย่างไร

ส่วนทางน้ำหลาก หรือฟลัดเวย์ ก็ยังไม่ชัดว่าจะเป็นตรงไหนแน่

ขณะที่ระบบจัดการน้ำเบ็ดเสร็จ หรือ “ซิงเกิล คอมมานต์” วันนี้ก็ไม่รู้กำลังทำอะไรกันอยู่

การจัดการน้ำวันนี้ จึงไม่มีการจัดการอย่างมีแบบแผนเรียกได้ว่า ท่วมตรงไหนก็อุดกันตรงนั้น

โดยเฉพาะ “บางระกำโมเดล” ที่จะมีการสร้างทางด่วนน้ำ (Water Way) ให้น้ำได้ไหลผ่านพื้นที่ลุ่มต่ำ อ.บางระกำ และรักษาพื้นที่ส่วนใหญ่ของ จ.พิษณุโลก เอาไว้ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นโมเดลที่ “ถูกใจ” นายกฯ เป็นอย่างยิ่งเมื่อครั้งลงตรวจพื้นที่ จ.พิษณุโลก ในเดือน ส.ค.ปีที่แล้ว ก่อนลงพื้นที่ตรวจซ้ำเมื่อคราวทัวร์ลุ่มน้ำเมื่อเดือน มิ.ย.

แต่พลันที่น้ำเหนือจากสุโขทัยไหลบ่าลงมาที่ อ.บางระกำ คนบางระกำก็ยังช้ำใจกับน้ำท่วมเหมือนเดิม

บางระกำโมเดลที่รัฐบาลภูมิใจนักภูมิใจหนาก็ยังคงเป็นฝันที่วาดไว้บนกระดาษ หรือกุหลาบที่โรยหน้าเท่านั้น

หากย้อนกลับไปเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องสั่งการใน ครม.ให้เร่งรัดลงทุนระบบป้องกันน้ำท่วม เพราะฝนใกล้จะมาแล้ว ถึงขนาดต้องเดินไปบัญชาการประชุมเรื่องน้ำที่ “ตึกแดง” หรือสำนักงาน สบอช.ด้วยตัวเอง

ถึงวันนี้ “น้ำเหนือ” ที่ไหลลงทางใต้จะทยอยทดสอบผลงานก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมระยะเร่งด่วนของรัฐบาล และพิสูจน์ประสิทธิภาพการบริการจัดการงบน้ำ 1.2 แสนล้านบาท ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้เป็นอย่างดีว่าเอาอยู่หรือไม่

นี่ยังไม่นับรวมถึงการจ่ายเงินเยียวยาบ้านเรือนที่เสียหายไม่เกิน 2 หมื่นบาทต่อหลัง ที่ชาวบ้าน 5 จังหวัด ได้แก่ จ.ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร นครปฐม พระนครศรีอยุธยา กว่า 2 แสนหลัง ยกเว้น กรุงเทพฯ ขอยื่นอุทธรณ์ขอเงินเยียวยาใหม่

เพราะเงินที่สั่งจ่ายงวดแรกต่ำกว่าความเป็นจริงมาก โดยเฉพาะการหารเฉลี่ยเงินเยียวยาให้ทุกบ้านได้เงินเท่ากันทุกหลัง

ด้านการลงทุนภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 วงเงินก้อนใหญ่ถึง 3.5 แสนล้านบาท แทบไม่ต้องพูดถึง

เพราะตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ. 2555 แต่ ณ วันที่ 15 ส.ค. 2555 มีการจัดสรรงบไปแค่ 1.78 หมื่นล้านบาท แต่เบิกจ่ายจริงเพียง 462.7 ล้านบาทเท่านั้น

การเร่งรัดออก พ.ร.ก.กู้เงินฯ ที่ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.คลัง ย้ำนักย้ำหนาว่า จำเป็นเร่งด่วนที่สร้างความมั่นใจให้ประชาชนและนักลงทุนว่า น้ำจะไม่ท่วมอีก เวลานี้เหมือนเป็นชนักปักหลัง กิตติรัตน์ เข้าจังหนับ

แม้ วรวิทย์ จำปีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ จะระบุว่า หากการเบิกจ่ายเงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ ไม่ทันวันที่ 30 มิ.ย. 2556 ได้ รัฐบาลสามารถเสนอขยายระยะเวลาเบิกจ่ายได้เช่นเดียวกับการกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก.ไทยเข้มแข็งฯ 2555 เพราะการลงทุนน้ำเป็นโครงการเร่งด่วน

แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องเร่งเบิกจ่ายเงินให้หมดภายในเวลาที่กำหนด

แต่ฟังดูก็เหมือนกับการเอาสีข้างเข้าถู

เพราะแทนที่จะเร่งรัดให้มีการเบิกจ่ายเงินโดยเร็ว กลับอ้างผลงานเบิกจ่ายงบเร่งด่วนของรัฐบาลที่แล้วก็ช้าเหมือนกัน

วันวาน ปลอดประสพ เรียกประชุมคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกกรอบแนวคิด (Conceptual Plan) เพื่อออกแบบก่อสร้างระบบบริการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย

แต่เนื้อหาของการประชุมกลับไม่มีอะไรใหม่

มีเพียงแค่การร่ายปฏิทินการคัดเลือกเอกชนที่จะมาลงทุนโครงการน้ำใหม่ โดยมีผลสรุปออกมาว่าให้เลื่อนวันที่จะได้ผู้ที่เข้ารอบการคัดเลือก 3 รายของแต่ละแผนงาน จากที่กำหนดไว้ในวันที่ 31 ม.ค. 2556 มาเป็นวันที่ 15 มี.ค. 2556 จากนั้นจะคัดเลือก 3 รายในแต่ละแผนให้เหลือ 1 รายต่อ 1 แผนงาน ในวันที่ 16 เม.ย. 2556

ดังนั้น การก่อสร้างหรือการลงทุนระบบน้ำระยะยาว ทั้งแก้มลิง ฟลัดเวย์ การสร้างพื้นที่ปิดล้อมเขตเศรษฐกิจและชุมชน จะต้องล่าช้าไปอย่างน้อยก็กลางปี 2556

การทำงานของรัฐบาลอย่างนี้ จะไม่ให้เรียกว่างามหน้ากันทั้งบางได้อย่างไร!