posttoday

กู้วิกฤตศรัทธาองค์กรยุติธรรม ต้องเอาผิด“ผู้รับใช้”พลิกคดีช่วยคนรวย

01 สิงหาคม 2563

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

**********************

ยิ่งตรวจสอบก็ยิ่งพบความผิดปกติออกมาเป็นสายน้ำ และเห็นความบิดเบี้ยว การปั้นพยาน แต่งเรื่อง ตัดตอนกระบวนการยุติธรรม เพื่อช่วยเหลือทายาทกระทิงแดงพ้นผิดหลุดรอดทุกข้อหาคดีขับรถชนตำรวจตาย

คดีนี้สะท้านแผ่นดินไทย ทะลุไปถึงหัวใจแห่งความเป็นธรรมของปุถุชนทั้งประเทศ คนรวยทำผิดมีเจ้าหน้าที่คอยช่วยเหลือให้รอดคดี ส่วนคุกมีไว้ขังคนจน ความเชื่อมั่นต่อองค์กรตำรวจและอัยการสูญสิ้น สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมไทย

คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดี “บอส- วรยุทธ อยู่วิทยา” ขับรถยนต์ชนตำรวจเสียชีวิต ที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้นมี วิชา มหาคุณ เป็นประธาน มีเวลา 30 วัน ที่จะสร้างความกระจ่างจากข้อสงสัยมากมายในการสั่งไม่ฟ้องของ “อัยการ-ตำรวจ”

ประเด็นที่สังคมคาใจ และนับวันยิ่งเห็นความพิรุธของเจ้าหน้าที่ตำรวจ อาทิ ทำไมถึงไม่ระบุในสำนวนฟ้องว่า บอสมีสารเสพติดโคเคน อยู่ ทั้งที่เจ้าหน้าที่ตรวจพบและส่งเรื่องให้โรงพยาบาลพิสูจน์ก็ยืนยันตามมาว่า มีสารโคเคน แต่กลับมาอ้างข้างๆคูๆ โยนความผิดให้หมอฟันระหว่างชี้แจงกับกรรมาธิการ (กมธ.) สภาว่า โคเคนในตัวบอส มาจากสารที่หมอฟันใช้รักษาบอสนั่นแล จนวงการทันตแพทย์ลุกฮือว่า ตำรวจมั่วนิ่มเพราะเขาเลิกใช้มาเป็นร้อยปีแล้ว ก่อนที่ บิ๊กตำรวจจะออกมาแก้เกี้ยวว่า เป็นความเข้าใจผิดของพนักงานสอบสวนผู้นั้นที่ไปชี้แจงกับกมธ. แท้จริงแล้ว เรื่องสารโคเคนมีจริง แต่ตำรวจไม่รู้เป็นยาเสพติดหรือไม่ ขอส่งให้กระทรวงสาธารณสุขตรวจสอบ

ยังมีประเด็น การลดความเร็วรถ ในสำนวนเดิม ผู้ตรวจสอบความเร็วของตำรวจระบุว่า บอสขับรถเฟอร์รารี่ 177 กม./ชม. เมื่อบอสร้องขอความเป็นธรรมผ่านอัยการ ตำรวจก็มีข้อมูลใหม่อย่างน่าฉงน ความเร็วรถถูก กดปุ่มลดลงเหลือ 76 กม./ชม. อ้างข้อมูลทางเทคนิคต่างๆ นาๆค้านความรู้สึกสังคม

ทั้งสองประเด็น เรื่องความเร็วลด และ สารเสพติด หากพบหลักฐานที่หักล้างข้อมูลของตำรวจ ก็เป็นช่องทางให้ฟ้องคดีเอาผิดบอสใหม่ได้

คณะกรรมการฯชุด วิชา มิใช่แค่ดูปมซ่อนเงื่อนจนคดีพลิกเท่านั้น จะต้องหา “ผู้รับผิดชอบ” ในเปลี่ยนสำนวนเพื่อฟอกขาวบอสด้วย คนช่วยเหลือผู้กระทำผิดต้องรับผิด รับโทษ ถูกฟ้องดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด ยิ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่ต้องรักษากฎหมาย ผดุงความยุติธรรมด้วยแล้ว ต้องไม่ปล่อยไว้

การพลิกคดีจนทายาทกระทิงแดงพ้นผิด มีตัวละคร 10 ตัวที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ตั้งแต่ อธิบดีอัยการ รักษาการรองอัยการสูงสุด ที่ลงนามคำสั่งไม่ฟ้อง ,ผู้ช่วยผบ.ตร. ที่ไม่แย้งคำสั่งฟ้องอัยการ

กลุ่มเจ้าหน้าที่ที่ให้เปลี่ยนคำให้การ เรื่องความเร็วรถเฟอร์รารี่ของบอส เป็นนายตำรวจระดับนายพัน กองพิสูจน์หลักฐาน สารวัตรงานช่างเครื่อง ช่วงเหตุการณ์เกิดใหม่ๆระบุว่า รถแล่นด้วยความเร็วเฉลี่ย 177 กม./ชั่วโมง แต่ 4 ปีต่อมา หลังมีการร้องขอความเป็นธรรม จึงแก้คำให้การใหม่มาเป็น 79.23 กม.ต่อชั่วโมง โดยอ้างว่า คำนวณคลาดเคลื่อน

กลุ่มพยานใหม่ที่เพิ่งปรากฏตัวทั้งที่เหตุการณ์ผ่านมาหลายปี เช่น พลอากาศโทจักกฤช ถนอมกุลบุตร อ้างว่า เห็นเหตุการณ์เพราะขับรถตามหลังบอสมา ยืนยันว่า บอสขับรถช้า ประมาณ 60 กม.ต่อชม.

เช่นเดียวกับ จารุชาติ มาดทอง ที่ไม่ปรากฎว่าเป็นใครมาก่อน ก็เพิ่งโผล่ให้การปี 2562 ย้อนหลังเหตุการณ์ถึง 7 ปี แต่ก็เกิดเรื่องน่าตกตะลึงขึ้นเมื่อจู่ๆ จารุชาติ พยานปากเอกผู้นี้เกิดอุบัติเหตุเสียชีวิตกระทันหันที่จ.เชียงใหม่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ก็ยังเป็นปริศนาคาใจอยู่

ทุกตัวละคร สะท้อนให้เห็น เครือข่ายอุปถัมภ์ในการช่วยเหลือคดีขับรถชนตำรวจเสียชีวิต ที่ดูไม่น่ายากซับซ้อน แต่กลับถูกทำให้ซับซ้อนซ่อนเงื่อน

ที่น่าแปลกและมีพิรุธจุดใหญ่ คือ กลไกอย่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กลับมีส่วนชงเรื่องให้อัยการเปลี่ยนสำนวนเสียด้วย ดังที่ปรากฎในสำนวนลับอัยการที่สั่งไม่ฟ้อง ระบุตอนหนึ่งว่า

“ผู้ต้องหาที่ 1 (บอส) ได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดหลายครั้ง รวมถึงยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมต่อคณะกรรมาธิการกฎหมายกระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ( สนช. 2557 ) ด้วย จนอัยการสูงสุดมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมตามหนังสือร้องขอความเป็นธรรมอีกหลายครั้ง”

นั่นหมายความว่า การชงเรื่องของ กมธ. สนช.ชุดนี้ ซึ่งแต่งตั้งโดยคสช. ปัจจุบันหมดวาระไปแล้ว มีน้ำหนักมากพอ จนอัยการอ้างว่า จำเป็นต้องสอบคดีใหม่

เมื่อส่องกมธ.กฎหมาย ชุดนี้ ประกอบด้วย ผู้มีอำนาจ นายตำรวจระดับบิ๊ก ร่วมเป็นกมธ.คับคั่ง มี พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ น้องชาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐเป็นประธาน ยังมีน้อง “บิ๊กป้อม” อีกคนคือ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. เป็นกรรมาธิการ รวมถึง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.คนปัจจุบันด้วย

กลไกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่ออกกฎหมาย แต่ทำไมต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ ทายาทกระทิงแดง พูดตามจริงแล้ว คือ การแทรกแซงคดีเพื่อช่วยมหาเศรษฐี ทั้งที่อัยการคือองค์กรอิสระ และ สนช.ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีนี้เพราะเป็นคดีธรรมดาที่ประชาชนขับรถชนเจ้าหน้าที่ หากกมธ. จะรับเรื่องร้องเรียนก็น่าจะช่วยคนจน คนไร้ที่พึ่ง ที่ถูกนายทุนกลั่นแกล้งมากกว่า หรือ เพราะถูกล็อบบี้จากเครือข่ายผู้ต้องหาวีไอพีที่กระจายอยู่ทุกวงการ ทั้งกระบวนการยุติธรรม องค์กรการเมือง สุดท้ายเมื่อเรื่องแดง กมธ.ก็จำนนรับว่า คนที่ชงเรื่องให้กมธ. คือ ทนายความของบอส นั่นเอง

พล.ร.อ.ศิษฐวัชร ยอมรับว่า หลังจากทนายความของบอส ได้ขอความเป็นธรรมมายังคณะกมธ.แล้ว กมธ.ก็ได้ทำเรื่องขอให้อัยการส่งกลับคดีให้ตำรวจทบทวนเพราะมีพยานใหม่ จนเป็น “จุดเปลี่ยน” ในการสั่งไม่ฟ้องคดี

ถามว่า เป็นหน้าที่ของกมธ. สนช. หรือไม่ที่ร้องอัยการให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมเพื่อให้ทายาทมหาเศรษฐีพ้นผิด ? การที่ กมธ.สนช. เข้าไปสอบคดีนี้เองมีแรงจูงใจพิเศษ หรือ ผลประโยชน์อะไรหรือไม่ เพราะทำหน้าที่แทนพนักงานสอบสวน ถึงขั้นเชิญพยานปากเอกมาให้การต่อกมธ.นั้น จนล่าสุด อัยการ อ้างว่า เพราะกมธ.สนช. ชุดนี้ ส่งเรื่องมาโดยสอบสวนพยานที่มีน้ำหนัก อัยการจำเป็นต้องรับฟัง เพราะถือเป็นการกลั่นกรองมาในระดับหนึ่งแล้ว

ผลของกมธ. ทำให้อัยการสูงสุด สั่งสอบเพิ่มเติม ทั้งที่ขณะนั้นข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติแล้วว่ามีความเห็นสั่งฟ้อง จนสุดท้ายทำให้อัยการสั่งไม่ฟ้อง ตำรวจก็ไม่ได้เห็นแย้ง คดีจึงสิ้นสุด

คณะกรรมการชุดวิชา ควรเรียกกมธ.ชุดนี้ มาสอบให้กระจ่าง เพราะถือเป็น “ตัวการหลัก” ที่เป็นจุดเปลี่ยนคดี และยังน่าสงสัยไม่สิ้นสุด เพราะมีการแถลงขัดกันเองระหว่างอดีตกมธ.ด้วย

พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร อดีตผบช.น. ออกมาขึงขังว่า ในชั้นกมธ.ได้ตีตกเรื่องนี้ไปแล้ว

“ตอนนั้น ผมเป็น ผบช.น. ก็ยอมไม่ได้ และบอกในที่ประชุม กมธ. อย่าไปฟังนักวิชาการ(ตรวจสอบความเร็ว) บ้าบอ ที่อาจอุปโลกน์มา เรื่องนี้มันเสียหาย และไม่ใช่หน้าที่ของกรรมาธิการ… สนช.จะไปสั่งอัยการ สั่งตำรวจได้หรือ ใครไปทำก็นอกเหนือรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้กรรมาธิการคุยกันวันเดียวก็จบแล้วคือไม่เอาด้วย”

แต่ ธานี อ่อนละเอียด สมาชิกวุฒิสภา อดีตเลขานุการกมธ.ชุดนี้ แถลงข่าวไปอีกทางยืนยันว่า กมธ. ได้พิจารณาเรื่องนี้จริงเพราะทนายบอสได้ยื่นเรื่องมา และกมธ.ได้เชิญบุคคล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อเท็จจริงตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง 8 คน คืออดีตรองอัยการสูงสุด อธิบดีอัยการ พนักงานสอบสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ตรวจสอบสภาพรถยนต์ พยาน 2 ปาก และพยานแวดล้อม 2 ปาก ก่อนสรุปว่า บอสไม่ผิด

จนถึงวันนี้ยังไม่มีคำชี้แจงว่า กมธ.ชุดนี้แอบไปพิจารณาช่วยบอสเมื่อไร ทำไมกมธ.บางคนจึงไม่ทราบเรื่อง กระทำการผิดรธน.หรือไม่ที่ไปแทรกแซง อัยการซึ่งเป็นองค์กรอิสระ นำมาสู่คำถามที่สะท้อนถึงระบบบ้านเมืองขณะนั้น สมาชิกที่มาจากการสรรหา สนช. ก็มักจะช่วยเหลือพวกเดียวกัน ไม่มีใครถ่วงดุล ตรวจสอบ และเป็นต้นเหตุชงเรื่องฉาวโฉ่ ช่วยคนรวยพ้นผิด สร้างความไม่เป็นธรรมในใจคน

หากผลการตรวจสอบของคณะกรรมการฯชุดวิชา พบว่า มีการช่วยเหลือ เป่าคดี ปั้นแต่งพยานเรื่องความเร็วรถ ก็ควรนำมาใช้เอาผิดซ้ำกับ กมธ.ชุดนี้ โดยเฉพาะ อดีต บิ๊กสนช. ที่เข้าร่วมประชุมและมีมติกมธ.ส่งเรื่องให้อัยการจะต้องถูกดำเนินคดีทางการเมืองและคดีอาญาด้วย

แต่หาก ไม่สามารถเอาผิดใครได้ หรือ แค่เพียงลงโทษเจ้าหน้าที่ปลายแถว ก็คงไม่สามารถกอบกู้วิกฤตศรัธาที่เกิดขึ้นกับกระบวนการยุติธรรม หนำซ้ำยังทำให้ผู้คนหมดความหวังกับความยุติธรรมในสังคมไทย

สุดท้าย ขอนำคำให้สัมภาษณ์ของ โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2562 เมื่อครั้งที่ศาลอาญาตัดสินจำคุก 1 ปี เปรมชัย กรรณสูต มหาเศรษฐีของไทย ผู้บริหารบริษัทอิตาเลียนไทยฯ ในคดีติดสินบนเจ้าหน้าที่คดีล่าเสือดำ มาบันทึกไว้

“นี่เป็นคดีตัวอย่างที่ยืนยันได้ว่ากฎหมายไม่ได้เลือกปฏิบัติ คำกล่าวที่เป็นอคติต่อกระบวนการยุติธรรม ที่ว่าคุกมีไว้ขังแต่คนจนคนรวยไม่ติดคุก ควรเลิกคิดกันได้แล้ว เจ้าพนักงานที่มีหน้าที่ปฏิบัติงานตามกฎหมาย จะต้องปฏิบัติงานโดยยึดหลักนิติธรรม กล่าวคือไม่มีการเลือกปฏิบัติ ทุกคนไม่ว่าจะมีฐานะทางสังคมเช่นไร ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน.... เรื่องนี้ลบคำกล่าวหากระบวนการยุติธรรมว่าเลือกปฏิบัติระหว่างฐานะจน รวย ขอให้คนที่ยังมีอคติเรื่องฐานะกับกระบวนการยุติธรรมเลิกคิด และมาช่วยกันตรวจสอบให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์และมีประสิทธิภาพจริง"

ผ่านไป 1 ปี สังคม กลับมาตั้งคำถามหนักหน่วงถึงองค์กรอัยการ และ ตำรวจ ต้นทางกระบวนการยุติธรรม ถึงเวลาหรือยังที่องค์กรอำนวยความยุติธรรมนี้ ต้องถูกปฏิรูปอย่างจริงจัง

*******************