posttoday

วัดใจพรรคใหญ่ ศึกชิงฐานเสียง เลือกตั้งท้องถิ่น

30 สิงหาคม 2562

ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

*********************

การเลือกตั้งท้องถิ่นของไทย ถูกแช่แข็งมายาวมากกว่า 5 ปีในยุค คสช.แม้จะปลดล็อคมีรัฐบาลใหม่ แต่รัฐบาลส่งสัญญาณว่า อาจต้องเลื่อนไปอีกครึ่งปี เป็นเร็วสุดในเดือนมี.ค.ปี 2563 เป็นต้นไป จากปัญหาความล่าช้าในการผ่านร่างพรบ.งบประมาณประจำปี 2563 ที่ต้องรอเม็ดเงินมาใช้ในการเลือกตั้งท้องถิ่นทั้งประเทศ

ตามแผน ของกระทรวงมหาดไทย และกกต. กำหนดให้มีการเลือกตั้งตามขนาดของท้องถิ่น โดยผู้ว่ากทม.และสก. 50 เขต อาจเสนอให้เลือกเป็นลำดับแรกพร้อมๆกับนายกฯองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 76 แห่งทั่วประเทศ ตามด้วย เทศบาลต่างๆ สุดท้ายคือ การเลือกสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ร่วม 6 หมื่นตำแหน่ง ทำให้ปีหน้าจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นทุกประเภทที่ว่างลงพร้อมกันตามกฎหมายใหม่ 97,940 ตำแหน่ง จากเดิม 142,590  ตำแหน่ง

วัดใจพรรคใหญ่  ศึกชิงฐานเสียง เลือกตั้งท้องถิ่น

**************

จับตาศึกผู้ว่าฯกทม.

วัดเรตติ้ง รัฐบาลลุงตู่

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กล่าวว่า  ความจริงรัฐบาลควรจัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นหลังการเลือกตั้งระดับชาติไปแล้ว 6 เดือน นั่นหมายความว่าเดือน ส.ค.น่าจะเริ่มเลือกตั้งได้ แต่หากต้องเลื่อนเป็นต้นปีหน้าก็ถือว่าช้าไป เพราะถูกแช่แข็งมานานกว่า 5 ปี  อีกทั้งการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นสิ่งสำคัญของพื้นฐานระบอบประชาธิปไตย ที่ประชาชนจะได้เลือกคนมาปกครองตนเอง จึงเชื่อว่า ยิ่งนานวัน ความตื่นตัวก็ยิ่งสูง

ปริญญา กล่าวว่า ที่ต้องจับตามากที่สุด คือ การเลือกตั้งผู้ว่ากทม. เพราะเชื่อว่า จะเป็นการแข่งขันเข้มข้นจาก 4 พรรคใหญ่ ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะแชมป์เก่า ซึ่งไม่ได้ สส.กทม.แม้แต่คนเดียวในการเลือกตั้งใหญ่ ขณะที่พรรคพลังประชารัฐต้องส่งตัวแทนลงแน่นอนเนื่องจากเป็นพรรครัฐบาล ส่วนฝ่ายค้าน เชื่อว่า ทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคอนาคตใหม่ ก็ต้องส่งสู้ ซึ่งอาจตัดคะแนนกันเองอีก  สุดท้ายแล้วพรรคที่ชนะผู้ว่ากทม.อาจได้คะแนนไม่ถึงครึ่งของจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์

สำหรับการเลือกตั้งนายกฯอบจ. 76 จังหวัด พรรคพลังประชารัฐในฐานะแกนนำรัฐบาล ก็ต้องสู้อย่างถึงที่สุดไม่ว่าจะรูปแบบไหนก็ตามเพื่อครองใจระดับท้องถิ่นให้ได้ อีกทั้งแพ้การเลือกตั้งสส.เขตให้กับพรรคเพื่อไทย เช่นเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้ สส.เพียง 52  ที่นั่ง จึงต้องให้ความสำคัญกับท้องถิ่นเพื่อสะสมคะแนน ขยายฐานเสียง ดังนั้น เชื่อว่าทั้ง 5 พรรค พลังประชารัฐ เพื่อไทย อนาคตใหม่ ประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย ต้องสู้กันในระดับท้องถิ่นอย่างเข้มข้น 

“การเลือกตั้งท้องถิ่นในหลายจังหวัด จะเป็นตัววัดคะแนนนิยมรัฐบาล เมื่อเทียบกับตอนเลือกตั้ง 24มี.ค. 2562 ว่าจะดีขึ้นหรือลดลง ซึ่งจะเป็นการวัดทุกๆ 3 เดือนในแต่ละการเลือกตั้ง และอุณหภูมิการเมืองก็จะเข้มข้น” นายปริญญา กล่าว 

อย่างไรก็ตาม ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลับมองว่า แม้จะมีจำนวนสมาชิกสภาท้องถิ่นให้เลือกมากก็จริง แต่ก็อาจไม่คึกคักถึงขีดสุด เพราะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง สส.ั  แต่ถ้าเกิดก่อนการเลือกตั้งใหญ่ก็อาจจะเข้มข้น ที่สำคัญ การเลือกตั้งท้องถิ่นในแต่ละจังหวัด มีความแตกต่างเทียบไม่ได้กับการเลือกตั้ง สส. เช่น ภาคใต้  ชาวบ้านอาจไม่เลือกผู้สมัครท้องถิ่นสังกัดพรรคประชาธิปัตย์เสมอไป เพราะคิดว่า ถ้าเลือก ส.ส.พรรคหนึ่งก็ควรเลือกผู้แทนท้องถิ่นอีกพรรคมาถ่วงดุล หรือการเลือกตั้งผู้ว่ากทม.ก็เช่นกันที่คาดการณ์พฤติกรรมการเลือกของคนกรุงได้ยาก ส่วนพรรคอนาคตใหม่ที่ชูธงจะลงท้องถิ่น ก็อาจได้แค่ในเมืองบางจังหวัด แต่ในระดับรากหญ้า กระแสคงไปไม่ถึง

****************

อนาคตใหม่เปิดตัวก.ย.

ขอปักธง 20 นายกฯอบจ.

เมื่อสำรวจความพร้อมของพรรคการเมืองต่อนโยบายส่งตัวแทนลงเลือกตั้งท้องถิ่น พบว่า จนถึงขณะนี้มีเพียงพรรคอนาคตใหม่โดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ที่ประกาศจะส่งตัวแทนลงนายกฯอบจ.ใน 30 จังหวัด  มีการหาเสียงล่วงหน้า เดินสายพบประชาชน รับฟังปัญหาในจังหวัดต่างๆ ที่พรรคได้คะแนน popular vote สูง ส่วนพรรคหลักๆ ที่เหลือ ยังเป็นเพียงการเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยตั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบายและคัดสรรผู้สมัครในพื้นที่ที่คิดว่าต้องส่งอย่างเป็นทางการ

ชำนาญ จันทร์เรือง รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองผู้สมัครเลือกตั้งท้องถิ่น กล่าวว่า พรรคให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้มาก และต้องการปักธงมีผู้แทนในท้องถิ่นให้ได้ เพราะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้การเมืองระดับชาติเข้มแข็ง ยืนยันจะไม่มีการฮั้วกับพรรคเพื่อไทย แม้ว่าจะเป็นพันธมิตรฝ่ายค้านด้วยกัน

นายชำนาญ กล่าวว่า ผลการเลือกตั้ง สส.ที่ผ่านมา พรรคอนาคตใหม่ชนะเหนือความคาดหมาย ในเมืองใหญ่ ๆ ได้ สส.พื้นที่ ทั้งภาคกลาง ตะวันออก ภาคเหนือ  โดยเฉพาะที่กทม. พรรคได้คะแนน popular vote อันดับหนึ่ง ส่วนพื้นที่ใดที่ไม่ได้ สส.แต่ก็พบว่าคะแนนผู้สมัครของพรรคอยู่ในลำดับต้นไม่ 2 ก็ 3 ดังนั้น พรรควางเป้าหมายเบื้องต้นจะส่งตัวแทนลงเลือกตั้งนายกอบจ.ใน 20-30 จังหวัด ที่พรรคมีคะแนนดี เช่น เชียงใหม่ แพร่ ชลบุรี สมุทรสาคร

ทั้งนี้ พรรคได้เปิดรับสมัคร ตัวแทนมาลงนายกฯอบจ.และทีมสมาชิกอบจ. ส่วนใหญ่เน้นผู้สมัครหน้าใหม่ คละกับคนเก่าบ้าง เพราะต้องการทำการเมืองรุ่นใหม่ โดยพบว่า มีความตื่นตัวสูงมาก เพราะมียอดสมัครเข้ามาที่พรรค รวม 77 ทีมใน 44 จังหวัด  ที่มากสุดคือ จ.สมุทรสาคร 5 ทีม ชลบุรี 4 ทีม รวมถึง ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์  ซึ่งจะต้องคัดด้วยการแสดงวิสัยทัศน์อีกครั้ง  โดยจะประกาศรายชื่อผู้สมัครนายกฯอบจ.ได้ในเดือนก.ย.นี้ สำหรับจังหวัดนำร่องที่สามารถส่งชิงได้เลยเพื่อให้เป็นจังหวัดต้นแบบ ประกอบด้วย จ.นนทบุรี จ.บึงกาฬ และ จ.สมุทรสาคร

“เราหวังได้นายกฯอบจ. 20 ที่นั่ง ถ้าถึงก็ประสบความสำเร็จ แต่ในระดับรากหญ้าเราอาจจะยังไปไม่ถึง ส่วนในเทศบาลซึ่งมีเยอะเกือบ 2,000 แห่ง  เราก็หวังหลายพื้นที่ ครั้งนี้ประชาชนตื่นตัวสูงมาก” นายชำนาญ กล่าว

**************

พรรคใหญ่หวั่นเสี่ยง

ลับลวงพรางเป็นกองหนุน

นั่นคือส่วนของพรรคอนาคตใหม่ อย่างไรก็ตาม พรรคใหญ่ที่เหลือ ต่างมีคนของตัวเองพร้อมลงชิงชัยนายกฯอบจ. ในจังหวัดฐานเสียงตัวเอง อาจมี ส.ส.ในพื้นที่ส่งกันถึง 3-4 ทีม แย่งชิงเก้าอี้นายกฯอบจ. เพราะ ส.ส.ในจังหวัดต่างต้องการคุมอำนาจในระดับจังหวัดด้วยการยึดเก้าอี้นายกฯ อบจ. จนเคยเกิดความขัดแย้งกันในพรรคมาแล้ว  หลายพรรคจึงปล่อยให้เป็นเรื่องของ สส.กันเอง  พรรคจะไม่มีมติว่าจะสนับสนุนใครอย่างเป็นทางการเพราะกลัวจะแตกแยก  

ขณะเดียวกัน ด้วย กฎระเบียบ บทลงโทษที่เข้มข้น  หลายพรรคจึงกังวลว่า หากส่งผู้สมัครลงอย่างเป็นทางการแบบเหวี่ยงแหในหลายพื้นที่ ก็ต้องระวังการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง เพราะอาจกระทบถึงการยุบพรรคตามมา

นายสุชาติ ชมกลิ่น ประธาน สส.พรรคพลังประชารัฐ  กล่าวว่า พปชร.ได้พูดคุยเรื่องเลือกตั้งท้องถิ่นระดับหนึ่ง แต่เห็นว่า ยังมีเวลาอีกหลายเดือน ส่วนตัวได้แจ้งกับผู้ใหญ่ในพรรคว่า ถ้าส่งแข่งในนามพรรคกันหมด ระวังจะเป็นดาบสองคม ได้ไม่คุ้มเสีย ยิ่งพปชร.เป็นพรรคใหม่และเป็นรัฐบาลด้วย ขณะที่ ผู้สมัครสภาท้องถิ่นบางคน เราก็ไม่รู้จักประวัติดี ยิ่งต้องระวัง หากสมมติมีผู้สมัครคนใดไปทำผิดกฎหมายเลือกตั้งก็อาจกระทบถึงแบรนด์ของพรรค  อีกทั้ง การเลือกตั้ง ส.ส.กับการเลือกตั้งท้องถิ่น ไม่เหมือนกัน มีปัจจัยให้พิจารณามากมาย ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่อีก  อย่างไรก็ตาม ในส่วนของพรรคอาจมีส่งลงเป็นทางการ เช่น ที่ จ.สงขลา ซึ่งพรรคได้ สส.มา 4 คนครึ่งจังหวัด  ตรงนี้ก็อาจใช้ชื่อพรรคเพื่อเสริมจุดแข็งของผู้สมัครนายกฯ อบจ.  

สุชาติ ยังได้ยกตัวอย่าง จ.ชลบุรี ที่ใช้ชื่อ “กลุ่มเรารักชลบุรี” มา 20 ปีลงชิงนายกฯอบจ.  ซึ่งตอนนี้ทีมงานย้ายมาอยู่กับพปชร. และตัวเขาก็สนับสนุนอยู่ ก็ไม่จำเป็นต้องลงในนามพปชร. เพราะคนในพื้นที่มองผลงานที่กลุ่มป็นหลัก

“ตอนเลือกตั้งปี 2550  พรรคประชาธิปัตย์ชนะ สส. ยกจังหวัด 8 คน แต่พอปชป.ส่งลงนายกฯอบจ.ชลบุรีกลับแพ้กลุ่มเราที่ส่งวิทยา คุณปลื้ม ลงชิง ทั้งที่กลุ่มเพิ่งตั้งมาปีแต่ประชาชนชื่นชอบผลงานท้องถิ่นของกลุ่มที่มีมายาวนาน คราวนี้ก็เช่นกัน พรรคอนาคตใหม่ก็หวังจะเอาชนะนายกฯอบจ. แต่เขาก็ไม่มีผลงานในท้องถิ่นเหมือนเรา”

“ที่อนาคตใหม่เขาส่งนายกฯอบจ.หลายจังหวัดเพราะเขาทดสอบกระแสว่า ยังขลังอยู่หรือเปล่า วัดเรตติ้งตัวเอง อย่างว่า เขาเป็นพรรคใหม่ได้มาเพราะการตลาด เขาก็ไม่มีอะไรจะเสีย”  ประธาน สส. พรรคพลังประชารัฐ กล่าว

ด้านพรรคอันดับ1 อย่างพรรคเพื่อไทย ซึ่ง พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง  “บิ๊กแจ๊ส” อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ประกาศลงชิงนายกฯอบจ.ปทุมธานี ในนามพรรคเพื่อไทย  เป็นรายแรกของพรรค  น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคฯ กล่าวว่า ขณะนี้พรรคได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อดูเรื่องนโยบายและกำหนดผู้สมัครผู้บริหารสภาท้องถิ่นแล้ว ยังตอบไม่ได้ว่า จะส่งกี่คน ในระดับไหนบ้าง  เพราะยังมีเวลา ซึ่งการเลือกตั้งท้องถิ่นไม่เหมือนกับการเลือกตั้งระดับชาติ ขึ้นอยู่กับสภาพแต่ละจังหวัดอีก 

เลขาธิการพรรคเพื่อไทย คาดว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดขึ้นอย่างเร็วสุดในเดือนเม.ย.ปี 2563 เพราะรัฐบาลอ้างเรื่องงบประมาณจัดการเลือกตั้งไม่มีต้องรอร่างพรบ.งบประมาณปี  2563 บังคับใช้ก่อนในเดือนก.พ. แต่ได้ยินว่า รัฐบาลจะทิ้งไว้อีก 2 เดือนเพื่อให้งบประมาณขับเคลื่อน มีผลานก่อนถึงจะเลือกตั้งในเดือนเม.ย. ตรงนี้ก็เท่ากับว่าเป็นการใช้กลไกรัฐมาสร้างความได้เปรียบให้ผู้สมัครของทีมตัวเอง ซึ่งพรรคจับตาเรื่องนี้อยู่

ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ นิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ มีฐานเสียงอยู่ที่ภาคใต้ 70-80% ที่ผ่านมาแม้พรรคจะสนับสนุนการกระจายอำนาจ แต่พรรคก็แทบไม่ส่งตัวแทนในนามพรรคลงชิงสนามท้องถิ่นมากนัก  เพราะเกรงจะเกิดความแตกแยกในพื้นที่และในพรรคกันเอง  จึงให้เป็นเรื่องส่วนบุคคลไป แต่ครั้งนี้ก็อาจมีที่พรรคอาจส่งนายกฯอบจ. ลงทางการ เช่น สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี

นิพิฎฐ์ คาดว่า จะมีผู้สมัครหน้าใหม่และคนหนุ่มสาวเข้าสู่การเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้มากกว่าทุกครั้ง เพราะถูกเว้นมานาน 6-7 ปี รวมถึงการที่พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นพรรคใหม่ได้รับเลือกจากคนหนุ่มสาวเข้ามามาก  เวทีนี้จึงจะเป็นโอกาสของคนหนุ่มสาวอีกเช่นกัน

“ผมห่วงเรื่องการใช้เงิน เพราะบางพื้นที่ใช้เงินแล้วประสบความสำเร็จ การเมืองท้องถิ่น ซื้อได้ง่ายกว่าการเมืองระดับชาติ ดังนั้น กกต.ต้องทัน” นิพิฎฐ์ กล่าว

/*/*/*/*