posttoday

"กระบวนการต้องสำคัญกว่า แพ้ชนะการเลือกตั้ง" ไชยันต์ ไชยพร

01 มกราคม 2562

วิเคราะห์การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือนก.พ.62 ผ่านสายตาของ ศ.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วิเคราะห์การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือนก.พ.62 ผ่านสายตาของ ศ.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

*******************************

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นถูกตั้งความหวังว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญนำพาประเทศกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างเต็มรูปแบบ แต่ทว่ารายละเอียดระหว่างทางกลับพบประเด็นปัญหาที่บั่นทอนความเชื่อมั่น จนอาจกลายเป็นชนวนความวุ่นวายรอบใหม่ ซ้ำเติมปัญหาการรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลในอนาคต

“ถามว่าหลังเลือกตั้งจะเป็นยังไง จะนำไปสู่ประชาธิปไตยได้ไหม ต้องรอดูก่อนว่าผลการเลือกตั้งคนจะยอมรับได้แค่ไหน ตรงนี้คือปัญหา พรรคการเมืองบางพรรคซึ่งดูเหมือนมีคนของรัฐบาลเข้าไปจัดตั้งนั้นมีความได้เปรียบหลายเรื่อง ทั้งเรื่องหาเสียง หรือบัตรเลือกตั้งที่มีปัญหา อันอาจทำให้การเลือกตั้งไม่ลงเอยด้วยดี ไม่ต้องพูดถึงการเปิดประชุมสภาจัดตั้งรัฐบาลที่จะเป็นไปด้วยความยุ่งเหยิง” ศ.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว

ศ.ไชยันต์ ให้สัมภาษณ์โพสต์ทูเดย์ตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค. ว่า แม้กฎหมายจะผ่านกระบวนการต่างๆ เรียบร้อย แต่ถ้านักการเมืองเห็นว่ายังเป็นกติกาที่ไม่เหมาะสมเป็นธรรมก็ควรออกมาร้องเรียน ไม่ใช่หิวเลือกตั้งแล้วจะเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งทั้งที่ยังเห็นว่าไม่เหมาะสม เพื่อไปลุ้นว่าเพื่อตัวเองจะชนะ หากแพ้เลือกตั้งค่อยออกมาโวยวาย ซึ่งจะทำให้ถูกมองว่าเป็นขี้แพ้ชวนตีหรือเปล่า รวมทั้งประชาชนที่เห็นว่าอะไรไม่ถูกไม่ควรเกี่ยวกับการเลือกตั้งก็ควรจะร้องเรียน

อีกทั้งถ้าจำเป็นต้องเลื่อนการเลือกตั้ง เพื่อไปดำเนินการให้เกิดความถูกต้องชอบธรรมสำหรับทุกฝ่ายที่เข้าสู่การแข่งขันก็ต้องทำ ดีกว่าปล่อยให้เลือกตั้งแล้วมีปัญหามาตีกันทีหลัง ซึ่งมีรายละเอียดต่างๆ ทั้ง บัตรเลือกตั้ง ป้ายหาเสียง โซเชียลมีเดีย งบประมาณหาเสียง ขณะที่บางพรรคการเมืองที่ได้ชื่อรัฐบาล มีความได้เปรียบเพราะหาเสียงมานานแล้วในฐานะรัฐบาล ถือเป็นการตีกินแบบอ้อมๆ ซึ่งไม่ควรทำตัวเป็นศรีธนญชัย

นอกจากนี้ กกต.ชุดปัจจุบันซึ่งได้ชื่อว่ากลั่นกรองมาเป็นอย่างดี เวลานี้มีบางพรรคใหม่ๆ ที่ได้ชื่อว่ามีส่วนร่วมกับรัฐบาล ถ้าทำผิดกฎกติกาแล้วถึงขั้นต้องยุบพรรคก็ต้องยุบ ประชาชนก็จะสรรเสริญการทำหน้าที่ว่าไม่เลือกปฏิบัติ หรือถ้าสมมติยุบพรรคพลังประชารัฐก็จะทำให้ภูมิทัศน์ทางการเมืองก่อนการเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงไปเยอะ โดยจะเหลือพรรคที่เป็นพรรคซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการสืบทอดอำนาจ

“แต่ถ้าสังคมเห็นถึงความผิดพลาดของนักการเมืองชัดเจน แล้ว กกต.ไม่ทำอะไร หลังเลือกตั้งเละแน่ ไม่ต้องพูดไปไกล ถึงจะนำไปสู่ประชาธิปไตยและมีเสถียรภาพ แค่ผลเลือกตั้งก็ยังจะไม่เป็นที่ยอมรับ ดังนั้นจึงอยากเตือนพรรคการเมืองว่าอย่าไปหวังลุ้นว่าเผื่อจะได้คะแนนเสียง โดยไม่สนใจกระบวนการเลือกตั้งจะเป็นธรรมแค่ไหน ตอนนี้หากจำเป็นต้องร้องเรียนก็ต้องร้องเรียน หรือจำเป็นต้องบอยคอตก็ต้องบอยคอต”

ศ.ไชยันต์ ประเมินว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นศึกหนักที่พรรคการเมืองจะต้องแข่งกันเอง แข่งกับการสืบทอดอำนาจ งานนี้สนุกตรงที่คาดเดาอะไรไม่ได้ การที่เราคาดผลการเลือกตั้งไม่ได้ด้านหนึ่งก็แฟร์ ไม่เหมือนที่ผ่านมาที่พอมองได้ว่าพรรคไหนจะชนะ อังกฤษถึงเบื่อเลือกตั้ง เพราะไม่ว่ายังไงสุดท้ายก็ยังเป็นพรรคเลเบอร์ หรือพรรคคอนเซอร์เวทีฟ ส่วนอเมริกาไม่ใช่พรรคเดโมแครตก็รีพับลิกัน คนจึงเบื่อไม่อยากเลือก

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักการเมืองหรือพรรคการเมือง ทั้งเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา ฯลฯ ต้องคิดว่าที่ผ่านมาปัญหาการเมืองนั้น นักการเมืองถูกกล่าวหาโจมตีว่าเป็นตัวปัญหา ถ้าคราวนี้นักการเมืองมารวมกันคิดว่าทำไงให้ 500 คนที่เป็น สส. รวมตัวกันจัดตั้งรัฐบาล 376 เสียงโดยไม่ต้องรวมเสียง สว. 250 เสียง

“ถ้านักการเมืองตกลงจูบปากกันได้ก็เป็นนิมิตหมายอันดีที่จะพาประเทศไปสู่ประชาธิปไตยเร็วขึ้น ไม่ต้องรอ 5 ปี เพราะบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญกำหนดให้ สว.เฉพาะกาลอยู่ได้ 5 ปี สูตรนี้เป็นสูตรที่ดีที่สุด พล.อ.ประยุทธ์เอง หรือ คสช.เองก็ควรจะเห็นว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีที่พรรคการเมืองที่เป็นคู่ขัดแย้งสามารถร่วมมือทำงานกันได้”

"กระบวนการต้องสำคัญกว่า แพ้ชนะการเลือกตั้ง" ไชยันต์ ไชยพร

ศ.ไชยันต์ กล่าวว่า หากพรรคพลังประชารัฐได้คะแนนเกิน 124 คะแนน การจัดตัั้งรัฐบาลของพรรคการเมืองฝั่งที่ไม่ใช่พรรคสืบทอดอำนาจก็จะทำไม่ได้เลย เพราะหากไปรวมกับเสียง สว.250 เสียง และหาเพิ่มอีกไม่มากก็จะได้ 376 เสียง ตัวเลข 124 เสียงจึงสำคัญที่จะตัดโอกาสพรรคการเมืองอื่นๆ

อีกประเด็นที่สำคัญคือกรณีพรรคพลังประชารัฐได้ 124 เสียงแล้ว มีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ถ้ามีก็จัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ถ้าไม่มีชื่อและเกิดสมมติได้เสียงออกมาเท่านี้ก็ไม่รู้ว่าใครจะเป็นนายกฯ และสมมติไม่มีพรรคไหนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ นายกฯ คนในก็ไม่ได้ นายกฯ คนนอกก็ไม่ได้ ก็จะกลายเป็นปัญหา และนำไปสู่การใช้ประเพณีการปกครองมาตรา 5

ทั้งนี้ ไม่ได้หมายถึงประเด็นในส่วนของพระมหากษัตริย์ แต่เมื่อถึงทางตันทางการเมืองก็มีทางออกคือการยุบสภา หรือตั้งนายกฯ เสียงข้างน้อย กรณีการยุบสภาหากนายกฯ ที่มาจากรัฐประหารต้องไปยุบสภาที่มาจากการเลือกตั้ง สส.ก็คงไม่ยอม ดังนั้นคงจะมีการดึงดันจัดตั้งรัฐบาลบีบให้ สว.เทเสียงให้เขา บีบให้ สว.เทเสียงให้ได้ 376 เสียง เป็นนายกฯ ที่เป็น สส.

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าสงสัยคือกรณีที่ไม่มีพรรคได้คะแนนเสียงเกิน 250 เสียง พรรคที่ได้อันดับหนึ่งก็จะต้องเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเวลานี้พรรคเพื่อไทยแตกออกเป็นอย่างน้อย 3 พรรค คะแนนก็อาจจะไม่ได้อันดับหนึ่ง ขณะที่พลังประชารัฐก็ยังเดาไม่ถูกว่าจะมาได้เยอะแค่ไหน หรือประชาธิปัตย์ที่ซึ่งไม่ได้แตกตัวเป็นพรรคอื่น แต่มีย้ายไปพรรคอื่นบ้าง ก็ยังมีแฟนคลับที่เหนียวแน่น ดังนั้นก็ยังมีโอกาสได้คะแนนอันดับหนึ่งแม้จะไม่เยอะ ซึ่งต้องไปดูต่อไปว่าจะสามารถจูบปากใครตั้งรัฐบาลได้

รวมทั้งรอบนี้ต้องจับตาไปยัง “งูเห่า” ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีนักการเมืองจำนวนไม่น้อยจากฝั่งไทยรักไทยย้ายเข้ามายังพลังประชารัฐ หากพูดแบบสุภาพก็คือเสรีชน แต่หากพูดแบบไม่ดีก็คือ “งูเห่า” ซึ่งยังอยากทำวิจัยเลยว่างูเห่าเป็นปัจจัยที่ดีหรือไม่ดีสำหรับประชาธิปไตยของไทย เพราะบางครั้งก็ทำให้เราสามารถก้าวข้ามทางตัน บางครั้งก็นำไปสู่วิกฤตก็ได้ รอบนี้กลุ่มงูเห่าก็ยังคงมีความสำคัญ