posttoday

"ว่าที่นายกรัฐมนตรี" ตัวแปรสำคัญชนะเลือกตั้ง

09 ธันวาคม 2561

นาทีนี้ "พรรคพลังประชารัฐ" กลายเป็นพรรคเต็งหนึ่งที่จะมีโอกาสได้จัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง

นาทีนี้ "พรรคพลังประชารัฐ" กลายเป็นพรรคเต็งหนึ่งที่จะมีโอกาสได้จัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง

*************************

โดย...ปริญญา ชูเลขา

พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นาทีนี้กลายเป็นพรรคเต็งหนึ่งที่จะมีโอกาสได้จัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง วันที่ 24 ก.พ. 2562 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ คีย์แมนสำคัญในการคุมเกมสู้ศึกเลือกตั้งของ พปชร.ในครั้งนี้ ต้องยกให้ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” เลขาธิการพรรค

“สนธิรัตน์” ถือเป็นมือประสานสิบทิศฝีมือระดับพระกาฬ โดยในช่วงไม่กี่เดือนสามารถดีลกลุ่มการเมืองกลุ่มก๊วนใหญ่ๆ เข้ามาสังกัดพรรคได้จำนวนมาก ทำให้ พปชร.กลายเป็นพรรคขนาดใหญ่ ส่วนจะมีแนวทาง กลยุทธ์ในการเอาชนะการเลือกตั้งได้อย่างไรนั้น “สนธิรัตน์” ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษโพสต์ทูเดย์ มีรายละเอียดน่าสนใจดังนี้

สนธิรัตน์ บอกว่า ในระยะสั้น พรรค พปชร. มีเป้าหมายขับเคลื่อนประเทศให้เดินหน้าต่อเนื่อง ด้วยการรวบรวมคะแนนเสียงให้มากพอในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเชื่อมั่นว่ารัฐบาลหน้าเป็นรัฐบาลผสมอย่างแน่นอน เพราะตามรัฐธรรมนูญทุกคะแนนไม่ตกน้ำ จึงเป็นเรื่องยากที่พรรคใดพรรคหนึ่งจะได้เสียงข้างมากในสภา และคงไม่มีพรรคไหนจะชนะแล้วเป็นรัฐบาลพรรคเดียวได้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาให้เป็นรัฐบาลผสม

ทั้งนี้ ในส่วนพรรค พปชร.นั้น “สนธิรัตน์” อธิบายว่า วันนี้ทุกกลุ่มการเมืองที่เข้ามาร่วมไม่มีเงื่อนไขใดๆ จึงไม่มีปัญหาในการอยู่ร่วมกันระหว่างกลุ่ม หรือก๊วนการเมือง สิ่งที่วิพากษ์วิจารณ์กัน คือ วาทกรรมทางการเมืองของคู่แข่งหรือฝ่ายตรงข้ามสร้างขึ้น เช่น คำว่า พลังดูด หรือการต่อรองเรื่องคดีความ สร้างกระแสเพื่อให้ประชาชนรู้สึกว่า นี่คือเหตุและผลที่สูญเสียกลุ่มการเมืองเหล่านี้มาอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ

แม้พลังประชารัฐ จะมีกลุ่มก๊วนการเมืองมากมาย แต่ไร้ปัญหาแรงกระเพื่อมภายใน เช่น ระบบบัญชีรายชื่อ หรือ สส.เขต ไม่มีการต่อรองใดๆ ทั้งสิ้น โดยมีหลักการคัดเลือก คือ หนึ่ง ต้องมาจากอดีตรัฐมนตรี อดีต สส. อดีตข้าราชการระดับสูง หรือคนรุ่นใหม่ ดังนั้นจึงไม่มีปัญหาต่อรองเป็นระบบสมัครใจ ส่วนผู้สมัคร สส.เขต อาจมีปัญหาบ้างในบางพื้นที่ที่ทับซ้อน หลักเกณฑ์ คือ พรรคจะวัดความนิยมจากประชาชนเป็นตัวตั้ง เช่น ทำโพลผลคะแนนนิยมในพื้นที่มาชี้ขาดในการส่งตัวผู้สมัคร ไม่ได้ใช้ผลว่ามาจากค่ายไหน กลุ่มการเมืองใด หรือเด็กใคร สำหรับคนที่พลาดหวังจะให้เข้ามาช่วยงานพรรคด้านต่างๆ แทน

นอกจากนี้ ตัวแทนคนรุ่นใหม่ของพรรคพลังประชารัฐนั้นก็มีความต่างจากพรรคอื่นๆ คือ หนึ่ง เป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้ดีเด่นดัง จาก “ดีเอ็นเอ” กล่าวคือไม่ได้เป็นลูกหลานนักการเมือง และสอง เป็นคนรุ่นใหม่ที่ปากกัดตีนถีบต่อสู้จนประสบความสำเร็จ จึงอาสาเข้ามาทำงานการเมือง ส่วนใหญ่มีคุณภาพและประสบการณ์จริงโดยเน้นการทำงานในด้านที่ถนัด เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล เทคโนโลยี นวัตกรรรม การศึกษาแนวใหม่ สตาร์ทอัพ และการสื่อสารออนไลน์ ฯลฯ โดยเป็นการทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับนักการเมืองรุ่นเก่า

ขณะที่ยุทธศาสตร์การเสียงนั้น “สนธิรัตน์” บอกว่า จะใช้ยุทธวิธีเจาะรายภาค เน้นใช้ผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่มาร่วมคิด โดยแต่ละภาคจะตั้งคณะทำงานพิเศษขึ้นมา เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มี “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งภาคอีสาน พร้อมผนึกกำลังกับ “ปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข” พรรคเพื่อไทย “วิรัช รัตนเศรษฐ” อดีต สส.นครราชสีมา และ “สุพล ฟองงาม” อดีต สส.อุบลราชธานี ซึ่งทั้งหมดเป็นอดีต สส.พรรคเพื่อไทย มารวมกำลังเป็นทีมยุทธศาสตร์ชนะการเลือกตั้งต่อกรกับคู่แข่งสำคัญ 2 พรรค คือ เพื่อไทยกับภูมิใจไทย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พรรคจะชูเพื่อทำให้ชนะเลือกตั้งนั้น มีดังนี้ 1.นโยบาย 2.ตัวบุคคล ที่ประชาชนเชื่อถือศรัทธา 3.กระแสพรรค และ 4.ว่าที่นายกรัฐมนตรี เพราะมีผลต่อการตัดสินใจสูงมาก เช่นเดียวกับ ภาคใต้ ที่มีความผูกพันเหนียวแน่นกับพรรคประชาธิปัตย์ แต่อีกยุทธศาสตร์ของพรรคที่จะชูในการสู้ศึกในภาคใต้ คือ พลังประชารัฐ คือ ทางเลือกใหม่ โดยนำเสนอนักการเมืองท้องถิ่นและนักการเมืองรุ่นใหม่ขึ้นมาแข่งขัน เช่นเดียวกับภาคเหนือมีทิศทางเดียวกัน คือ ชูนโยบาย ตัวบุคคล กระแสพรรค และว่าที่นายกรัฐมนตรี

“วันนี้ถ้าไม่มีพลังประชารัฐ คำตอบคืออะไร จะถอยไปปี 2553 ได้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือถอยไปอีก เมื่อปี 2551 รัฐบาลหลังเกิดปฏิวัติรัฐประหาร ปี 2549 ที่พิสูจน์แล้วว่าการเมืองไทยจะเป็นอย่างไร นักการเมืองเหล่านั้นเห็นว่า พลังประชารัฐ คือ ทางออก ที่จะเอาประเทศไทยออกจากเดดล็อก ทางการเมืองกว่าสิบปีที่ผ่านมา แม้ความขัดแย้งทางการเมืองยังมีอยู่แค่จางๆ ลงไปเท่านั้น แต่หากการเมืองยังคงเป็นการเมืองสองฝ่ายหรือสองขั้ว ความเข้มข้นของความขัดแย้งเรื่องสีเสื้อก็จะกลับมารุนแรงขึ้นอีกทันที จากนั้นก็นำประเทศไปจุดที่เดินต่อไปไม่ได้” สนธิรัตน์ ระบุ

"ว่าที่นายกรัฐมนตรี" ตัวแปรสำคัญชนะเลือกตั้ง

เมื่อถามถึงว่าที่หรือผู้ท้าชิงนายกรัฐมนตรี ในนามพรรคพลังประชารัฐ “สนธิรัตน์” บอกว่า วันนี้พรรคยังไม่ได้ตัดสินใจเสนอว่า จะชูใครเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรี หรือแม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่ยอมรับว่าการเลือกตั้งครั้งนี้กดดันพอสมควร เพราะเป็นการเลือกตั้งโดยใช้บัตรใบเดียว ตัวแปรสำคัญที่จะชนะเลือกตั้ง คือ ชื่อว่าที่นายกรัฐมนตรี มีผลต่อการตัดสินใจของประชาชนสูงมาก เพราะประชาชนต้องเลือกทั้ง สส.เป็นผู้แทน พรรคการเมืองที่อยากได้ และนายกรัฐมนตรีที่อยากให้เป็น โดยเลือกเพียงครั้งเดียว ดังนั้นวันนี้พรรคยังไม่ขอเปิดชื่อ

“ที่มาของพรรค คือ สานต่อการทำงานขับเคลื่อนประเทศจากรัฐบาลปัจจุบันที่ตัวแทนพรรคมีส่วนผลักดันเพราะเป็นนโยบายที่ดีและต่อยอดได้ รวมถึงจะเป็นนโยบายสำคัญของพรรค โดยจะเลือกเฉพาะนโยบายที่ดีมาสืบสานต่อไป เช่น นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยจะเลือกมาเฉพาะที่สำคัญ เพราะรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ผลงานยาวเป็นหางว่าวจะนำมาทั้งหมดคงไม่ได้”

สำหรับเรื่องเป้าจำนวน สส.ของพรรค พปชร.นั้น “สนธิรัตน์” กล่าวว่า วันนี้ยังเร็วเกินไปที่จะตอบว่าพรรคจะได้กี่ที่นั่ง ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประชาชน หากได้ที่นั่ง สส.มากก็สามารถกำหนดทิศทางนโยบายได้ชัดเจน แต่หากได้น้อยบทบาทในการจัดตั้งรัฐบาลก็ลดลงตามลำดับ เพราะผลการเลือกตั้งจะมีผลสำคัญในการกำหนดทิศทางการบริหารประเทศ แต่สิ่งสำคัญ คือ จะเลือกนายกรัฐมนตรีที่เข้มแข็ง และเป็นคนที่มีความเชื่อถือศรัทธาจากประชาชน

“รัฐบาลผสมไม่อาจที่จะคิดทำนโยบายตัวเองได้เต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้องรวมสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน การบริหารทางการเมืองแบบนี้ คือ ประชาธิปไตยแท้ๆ ที่ต้องเคารพซึ่งกันและกันถือเป็นระบบถ่วงดุล โดยพลังประชารัฐเปิดกว้างพร้อมเป็นพันธมิตรกับทุกฝ่ายเพื่อยุติความขัดแย้งและเดินหน้าประเทศ โดยยึดหลักเพียงอุดมการณ์หรือนโยบายไปด้วยกันได้หรือไม่ นี่คือหลักการรัฐบาลผสม” สนธิรัตน์ กล่าว

ในส่วนที่มองกันว่าพรรค พปชร.เป็นพรรคพลังดูด พลังเงินนั้น “สนธิรัตน์” แย้งทันทีว่าลองคิดดู พลังประชารัฐเป็นพรรคเดียวที่มีทุกเสื้อสีอยู่ในพรรค แปลว่ามีความพร้อมในทางปฏิบัติที่จะสามัคคีปรองดองทางการเมือง โดยมีพรรคพลังประชารัฐเป็นตัวกลาง และที่สำคัญพรรคนี้ไม่มี คสช.สักคนเดียวที่เป็นกรรมการบริหารพรรค หรือชูนโยบายทหารให้สืบทอดอำนาจ หากย้อนกลับไปวันแรกๆ พรรคนี้เกิดจากศูนย์ กว่าจะทำให้นักการเมืองเชื่อถือศรัทธาเป็นเรื่องยากมาก เพราะต้องทำให้เป็นพรรคที่นักการเมืองฝากความหวังได้ไม่ใช่เรื่องง่าย

“เวลาใครจะสละเรือ นักการเมืองคิดหนักกว่าใคร คือ สอบได้หรือสอบตก ไม่มีใครที่จะตัดสินใจโดยจ่ายเงินให้ สำหรับนักการเมือง คือ อยู่ตรงไหนก็ได้ขอให้ตัวเองเป็น สส.ต่อไป หรือโอกาสชนะเลือกตั้ง ดังนั้นเงินไม่ใช่ปัจจัย แม้ได้เงินไปแล้วแต่ไม่ได้เป็น สส. เท่ากับรอไปอีก4 ปี ปัจจัยสำคัญ คือ ต้องได้เป็น สส.เท่านั้นเองเชื่อเถอะไม่มีนักการเมืองคนไหนเห็นแก่เงิน แต่เห็นว่าพลังประชารัฐเป็นทางออกและมีโอกาสในการเข้ามาทำงานให้กับประเทศชาติในทิศทางที่อยากจะทำหรืออยากจะเป็น เพราะนักการเมืองรู้ดีว่าแนวทางใดจะพาประเทศชาติให้ไปต่อได้”

ขณะเดียวกัน เลขาธิการพรรค พปชร.ยังได้ให้คำมั่นว่า จะทำให้พรรค พปชร.เป็นสถาบันทางการเมืองอย่างแท้จริง ไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจเพื่อชนะเลือกตั้งแล้วเลิก แต่สถาบันการเมือง คือ พรรคที่พี่น้องประชาชนฝากความหวังได้ และประชาชนมีสิทธิมีเสียงหรือมีส่วนร่วมกับพรรคในการช่วยขับเคลื่อนประเทศ ไม่จำเป็นต้องเป็นพรรคขนาดเล็กหรือใหญ่ หรือเก่าแก่ยาวนาน แต่ขอให้เป็นพรรคใหม่ที่มีองค์ประกอบสำคัญ คือ มีความเชื่อถือเชื่อมั่นประชาชนฝากความหวังไว้ได้ และเชื่อมโยงกับประชาชนในการใช้กลไกของพรรคในการขับเคลื่อนประเทศนั้นคือ พรรคพลังประชารัฐ