posttoday

นักวิชาการชี้ 3 สารพิษภาคเกษตร อันตรายหนุนรัฐแบนเลิกใช้

16 พฤษภาคม 2561

นักวิชาการเรียกร้องยกเลิกการใช้สารอันตราย "พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอสในภาคเกษตร

นักวิชาการเรียกร้องยกเลิกการใช้สารอันตราย "พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอสในภาคเกษตร

**************************** 

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

สถาบันวิชาการจากหลายมหาวิทยาลัย เครือข่ายทางวิชาการร่วมกันจัดเวทีวิชาการเพื่อให้ข้อมูล เรื่อง “ข้อเท็จจริงทางวิชาการในการควบคุมสารเคมีอันตราย : พาราควอต (Paraquat) ไกลโฟเซต (Glyphosate) และคลอร์ไพริฟอส (Chlorpyrifos)โดยเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการใช้สารอันตรายทั้ง 3 ชนิด

จุฑามาศ สัตยวิวัฒน์ รองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยา สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกระบุชัดเจน ว่าสารเคมีปราบศัตรูพืช โดยเฉพาะพาราควอตนั้นส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพ ซึ่งหากผ่านเข้าสู่ร่างกาย จะทำให้ร่างกายสร้าง อนุมูลอิสระตลอดเวลา หรือเกิดภาวะโมเลกุลหรืออะตอมที่ไม่เสถียรเนื่องจากขาดอิเลกตรอน ขาดความสมดุล ซึ่งส่งผลทำให้เซลล์ร่างกายเสียหาย เซลล์ตาย หากสูดดมเข้าปอดกลไกออกฤทธิ์ของพาราควอตจะทำให้ปอดเป็นฝ้า หายใจไม่ได้ และที่สำคัญ คือ พาราควอตเป็นสารพิษที่ไม่มียาถอนพิษ นอกจากนี้ ข้อมูลจากศูนย์พิษวิทยาโรงพยาบาลรามาธิบดี ปี 2553-2559 ยังระบุด้วยว่า มีผู้ป่วยจากที่ได้รับพิษ พาราควอต สูงถึง 46% โดยจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด 4,223 ราย เสียชีวิตถึง 1,950 รายขณะที่ ไกลโฟเซต นั้นถูกค้นพบว่า มีส่วนกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านม เพิ่มขึ้น ถึง 5- 13 เท่า

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่าหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ และทางการแพทย์มากมาย ชี้ตรงกันว่าสารเหล่านี้มีพิษในระยะยาวและก่อให้เกิดโรคทางสมองที่รักษาไม่ได้. ได้แก่โรคพาร์กินสัน โรคสมองเสื่อม และอาจจะเกี่ยวพันกับมะเร็ง

ทั้งนี้ มีการเฝ้าติดตามผู้ที่สัมผัสกับยาฆ่าหญ้าชนิดต่างๆตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา พบว่า ผู้ที่สัมผัสกับสารเคมีที่ใช้ในการฆ่าหญ้าและวัชพืชเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคพาร์กินสัน เพิ่มขึ้น มีการรายงานผลจากการติดตามผู้ที่สัมผัสกับสารเคมีเหล่านี้ในการติดตามเป็นเวลาเก้าปี และสรุปผลว่ามีความเสี่ยงจากการเกิดโรคพาร์กินสันเพิ่มขึ้นถึง 70% และในเวลาต่อมาได้พิสูจน์ว่าพาราควอท เป็นตัวการสำคัญและทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นถึง 2.5 เท่า

ศ.พรพิมล กองทิพย์ อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการศึกษากลุ่มหญิงตั้งครรภ์ในชุมชนเกษตรกรที่ไปฝากครรภ์ในโรงพยาบาล อำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ พบความสัมพันธ์ระหว่างการได้รับสารกำจัดศัตรูพืชในระหว่างตั้งครรภ์ ที่ส่งผลไปถึงกรรมพันธุ์ รวมถึงพบสะสมในน้ำนมแม่และกระทบต่อการพัฒนาระบบประสาทของทารก

นอกจากนี้ ยังพบว่า สารไกลโฟเสต นั้นออกฤทธิ์ทำลายระบบประสาทส่วนกลางในระยะยาว ขณะที่สารพาราควอต มีผลต่อการระคายเคืองของเนื้อเยื่อ โดยพบด้วย ว่า พาราควอตและไกลโฟเซตยังสามารถผ่านจากมารดาไปสู่ตัวอ่อนในครรภ์ โดยพบการตกค้างของพาราควอตในซีรั่มทารกแรกเกิดและมารดาระหว่าง 17-20% พบไกลโฟเซต ระหว่าง 49-54% และพบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมมีความเสี่ยงรับสารไกลโฟเซตมากกว่าคนทั่วไป 12 เท่า

พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล ผู้อำนวยการสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า พาราควอตและไกลโฟเซตที่ถูกพ่นลงดิน จะไม่ได้เสื่อมฤทธิ์ในทันที แม้จะดูดซับได้ดีในดิน แต่เมื่อมีการใช้สารเคมีต่อเนื่องซ้ำๆ หลายปี จะเกินสภาวะอิ่มตัวที่สารอินทรีย์ในดินจะดูดซับได้ จะทำให้สารเคมีถูกชะล้างออกจากดินไปสู่น้ำใต้ดินและแหล่งน้ำ ส่งผลให้พืชดูดซับสารเคมีเหล่านี้ไปสะสมในลำต้นได้ และเกิดการสะสมของสารเคมีเหล่านี้ในสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศวิทยา ผู้บริโภคไม่สามารถขจัดสารตกค้างที่ดูดซึมออกได้ด้วยการล้าง และในต่างประเทศยังพบพาราควอตตกค้างในอาหาร เช่น แป้ง เบียร์ และอาหารเด็ก อีกด้วย

ด้าน นพดล กิตนะ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการศึกษาของโครงการเฝ้าระวังภัยจากการใช้สารฆ่าวัชพืชในพื้นที่เกษตรกรรม ที่จ.น่าน พบ การตกค้างปนเปื้อน ใน กบหนอง ปูนา หอยกาบน้ำจืด และ ปลากะมัง มีค่ามากกว่าระดับสูงสุดที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Codex Alimentarius, FAO) จำกัดให้มีในอาหาร ซึ่งจำกัดให้มีพาราควอตในเนื้อสัตว์ไม่เกิน 5 ไมโครกรัม/กิโลกรัม โดยปริมาณที่พบในปูนาอยู่ระหว่าง 24 - 56 ไมโครกรัม/กิโลกรัม พบในกบหนอง 17.6 - 1,233.8 ไมโครกรัม/กิโลกรัม พบในปลา 6.1 - 12.5 ไมโครกรัม/กิโลกรัม และพบในหอยกาบน้ำจืด 3.5 - 7.7 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ถือเป็นสัญญาณเตือนถึงภัยใกล้ตัวจากการใช้สารฆ่าวัชพืชที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่อาศัยในพื้นที่เกษตรรวม