posttoday

"ผมจะไม่ยกมือให้นายกฯคนนอก" ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ

08 เมษายน 2561

"สิ่งที่ทำให้ผมไม่มีทางโหวตให้นายกฯ คนนอก เพราะประชาชนไม่เห็นชื่อเขาในวันที่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ผมว่าเขาไม่ได้ แมนเดต หรือ อาณัติ จากประชาชน"

"สิ่งที่ทำให้ผมไม่มีทางโหวตให้นายกฯ คนนอก เพราะประชาชนไม่เห็นชื่อเขาในวันที่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ผมว่าเขาไม่ได้ แมนเดต หรือ อาณัติ จากประชาชน"

********************

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

เปิดตัวสู่ถนนการเมืองแบบเต็มตัวกับการขันอาสาสวมเสื้อประชาธิปัตย์ลงสนามเลือกตั้ง พร้อมจุดประเด็น “ประชาธิปัตย์ยุคใหม่” จนนำไปสู่การขยับเตรียมปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ภายในพรรคอายุกว่า 72 ปี

ถึงจะเป็นหน้าใหม่แต่ในทางการเมืองเขาเคยชิมลางผ่านงานทั้งในบทบาท “ยุวประชาธิปัตย์” และมีส่วนช่วย พนิช วิกิตเศรษฐ์ หาเสียงในการเลือกตั้งซ่อมเมื่อปี 2553

วันนี้ ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ ตัดสินใจเลือกเส้นทางอาชีพนักการเมืองกับประชาธิปัตย์ ไม่ใช่เพราะสถานะความเป็นหลานหัวหน้าพรรค อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่เพราะคิดว่าเขาสามารถปรับพรรคไปสู่ประชาธิปัตย์ยุคใหม่ที่เขาเชื่อมั่นได้

“ถ้าถามว่าเลือกประชาธิปัตย์ยุคเก่าและถูกซึมซับโดยสิ่งที่เป็นมาและทำเหมือนเดิมต่อทุกอย่างผมจะเลือกไหม ก็คงไม่ แต่ตอนนี้ผมเชื่อมั่นว่าผมจะสามารถมีส่วนทำให้ประชาธิปัตย์เปลี่ยนจากยุคเก่าไปสู่ยุคใหม่”

ที่สำคัญ ไอติม ระบุว่า ไม่ได้เลือกว่าจะไปพรรคไหนเพราะมี “ลุง” หรือ “น้า” อยู่พรรคนั้นๆ แต่ดูที่อุดมการณ์ของพรรค อย่างพรรคเพื่อไทย ส่วนตัวยังไม่มั่นใจในอุดมการณ์ว่าจะตรงกับสิ่งที่เขาอยากเห็นประเทศไทยเป็นไปหรือไม่ นั่นก็คือ “เสรีประชาธิปไตย” ซึ่ง 10-15 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยยังเดินไปไม่ถึง “เสรีประชาธิปไตย” อย่างแท้จริง

ส่วนทางเลือกอย่างการตั้งพรรคใหม่นั้น ไอติม มองว่า นักการเมืองหน้าใหม่ หรือรัฐบาลใหม่ ไม่อาจเปลี่ยนแปลงประเทศได้แค่คนคนเดียว แต่ต้องเปลี่ยนไปพร้อมกับคนในกระทรวง ข้าราชการที่ทำงานมานานแล้ว คนมีประสบการณ์ มีความคิดตกผลึกซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อคนจากพรรคเก่าที่มีประสบการณ์ ย่อมเป็นเรื่องดี และหากสามารถปฏิรูปพรรคไปสู่ยุคใหม่ได้ เราก็จะสามารถปฏิรูปประเทศไปสู่ยุคใหม่ได้เหมือนกัน ในวันที่หากเรามีโอกาสบริหารประเทศ

"ผมจะไม่ยกมือให้นายกฯคนนอก" ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ

ถามว่าประชาธิปัตย์เคยพยายามปฏิรูปพรรคมาตลอดแต่ยังไม่เห็นผลเท่าที่ควร มั่นใจได้อย่างไรในรอบนี้อีกทั้งเป็นคนหน้าใหม่ด้วยจะสามารถเดินหน้าสู่เป้าหมายได้สำเร็จ พริษฐ์ บอกว่า 1.เขาไม่ใช่คนหน้าใหม่คนเดียวที่อยากทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแต่ยังมีอีกหลายคน 2.คนหน้าเก่ายอมรับฟังความคิดเห็นของคนหน้าใหม่ อย่างคำพูด “ประชาธิปัตย์ยุคใหม่” ที่เขาพูดครั้งแรกในงานของคุณ สุทธิชัย หยุ่น หลังจากนั้นก็เห็นคนในพรรคเริ่มเคลื่อนไหว ต่อยอดปรับปรุง เป็นการยอมรับความคิดเห็นของคนหน้าใหม่

“ประชาธิปัตย์อยู่มาได้ 70 กว่าปี เป็นพรรคเก่าแก่ที่สุดของประเทศแสดงให้เห็นว่าเขาก็ต้องปรับตัวมาเรื่อย เพราะ ผู้ก่อตั้งก็เสียชีวิตหมดแล้ว ถ้าอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ก่อตั้งคนเดียวก็คงอยู่มาไม่นานถึงตอนนี้”

ในมุมมองของ ไอติม บัณฑิตหนุ่มจากคณะปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด มองว่า “ประชาธิปัตย์ยุคใหม่” ต้องมี 3 อย่าง คือ อุดมการณ์ ปฏิรูป และ นโยบายอุดมการณ์ของประชาธิปัตย์จะต้องหนักแน่นขึ้นในการเคารพอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตย ซึ่ง 5-10 ปี ที่ผ่านมา มีการตัดสินใจของพรรคบางครั้ง ที่ทำให้คนตั้งคำถามได้ง่ายว่า เชื่อมั่นในประชาธิปไตยจริงหรือเปล่า

“เสรีประชาธิปไตยเป็นทางเลือกที่สามที่ประเทศไทยยังไปไม่ถึงเพราะมีภัยคุกคามรัฐประหาร เชื่อว่ามีคนที่รู้ดีกว่าประชาชนทำให้ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ฟังเสียงประชาชน ประชาธิปัตย์ยุคใหม่ต้องไม่มีทางสนับสนุน”

นอกจากนี้ คนยังมองความเป็นประชาธิปไตยแค่เลือกตั้ง เคารพเสียงข้างมากก็พอ ยกตัวอย่าง ประเทศหนึ่งมี 100 คน 60 คน นับถือศาสนา A อีก 40 คน นับถือศาสนา B คน ถ้า 60 คนรวมตัวกันบอกว่า จะไม่ให้คนนับถือศาสนา B อยู่ประเทศนี้ได้เลย ห้ามมีสิทธิโหวต ถือเป็นเสียงข้างมากไหม มาจากการเลือกตั้งไหม ก็ใช่ แต่เป็นประชาธิปไตย ที่ได้คุณค่าจากการนับถือความเท่าเทียมกันและอิสรภาพของคนไหม “ผมว่าไม่ใช่”

พริษฐ์ อธิบายว่า การยอมรับเสียงข้างมาก เป็นเพียง “ขาเดียว” ในระบบเสรีนิยมประชาธิปไตย แต่ยังมีขาอื่น เช่น การเคารพเสียงข้างน้อย การกระจายอำนาจทำยังไงไม่ให้อำนาจกระจุกตัวที่รัฐบาลกลางอย่างเดียว แต่ละจังหวัดมีอำนาจบริหารตัวเองได้ มีผู้ว่ามีอำนาจบริหารจัดการด้วยตัวเอง และอยากให้มีกลไกเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด

อีกขาหนึ่งคือการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ ทำยังไงให้ฝ่ายค้าน องค์กรอิสระ แข็งแรงขึ้นในการตรวจสอบรัฐบาลที่มาจากเสียงข้างมาก มีอิสรภาพการรับฟังความเห็นแตกต่างๆ สื่อมวลชนมีอิสรภาพ ให้ประชาชนมีแรงจูงใจตรจสอบรัฐบาล ด้วยการเปิดข้อมูล ทั้งหลายเหล่านี้เป็น 4 ขาหลักๆ ในระบบเสรีประชาธิปไตย

สำหรับรัฐธรรมนูญ 2560 ในส่วนบทเฉพาะกาลที่อนุญาตให้ สว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น ไอติม มองว่า สว. 250 คน น่าจะยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตย งดออกเสียง หรือสนับสนุน เคารพเสียงข้างมาก ที่มาจากประชาชนซึ่งแสดงออกผ่านการเลือกตั้ง สส. ไม่เข้ามาแทรกแซง

“ประเด็นนายกฯ คนนอก คนใน ผมบอกเลยว่า ผมจะไม่ยกมือให้กับนายกฯ คนนอก ถามว่าทำไม ผมเข้าใจถึงหลักการที่มีนายกฯ คนนอกได้ หาก 2 ใน 3 ของรัฐสภาร่วม ต้องโหวต ถึง สว. 250 คน จะเอานายกฯ คนนอก ก็ต้องมี สส. อีกเกินครึ่งที่จะโหวตให้นายกฯ คนนอก เข้าใจว่าเป็นการสะท้อนเสียงข้างมากของสภาผู้แทน ซึ่งก็อาจดูไม่แปลกมากในหลักประชาธิปไตย

แต่สิ่งที่ทำให้ผมไม่มีทางโหวตให้นายกฯ คนนอก เพราะวันที่ประชาชนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ประชาชนเขาจะเห็นรายชื่อ 3 คนที่แต่ละพรรคการเมืองเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี นายกฯ คนนอกคือ คนที่ไม่ปรากฏอยู่ในชื่อนั้น ประชาชนไม่เห็นชื่อเขาในวันที่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ผมว่าเขาไม่ได้ แมนเดต หรือ อาณัติ จากประชาชน ผมคิดว่าไม่สอดคล้องความต้องการของประชาชน ถ้า สส.คนอื่นมีความคิดเห็นต่าง และอยากสนับสนุนนายกฯ คนนอกก็เป็นสิทธิของเขา แต่ผมไม่มีทางสนับสนุน”

"ผมจะไม่ยกมือให้นายกฯคนนอก" ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ

ประเด็นการปฏิรูปพรรค พรรคการเมืองที่ดีต้องมีสองอย่างคือต้องมีความเป็นประชาธิปไตยในพรรค ถ้าพรรคสืบทอดอุดมการณ์ประชาธิปไตยระดับประเทศ พรรคก็ต้องเป็นประชาธิปไตย ความเป็นประชาธิปไตยในพรรคคือ เป็นพรรคของประชาชน หาสมาชิกให้เยอะที่สุดและเปิดให้สมาชิกกำหนดทิศทางว่าพรรคจะเดินไปแบบไหน รวมทั้งเลือกหัวหน้าพรรคซึ่งยังไม่เคยมีพรรคไหนทำมาก่อน

สองประเด็นเรื่องการตัดสินใจที่รวดเร็วเฉียบขาด ในสภาวะที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วกว่าสมัยก่อนมาก ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นจุดอ่อนของประชาธิปัตย์เพราะมีความเป็นประชาธิปไตยสูงทำให้การตัดสินใจไม่เฉียบขาด แต่การที่ประกาศให้สมาชิกเลือกหัวหน้าพรรคโดยตรงตอบโจทย์สองด้านคือความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นและทำให้หัวหน้าพรรคมีอิทธิพลเพราะได้รับแมนเดตหรืออาณัติจากสมาชิกที่จะตัดสินใจได้เฉียบขาดมากขึ้น

ในส่วนของนโยบาย พริษฐ์ ใช้คำว่า“สร้างใหม่” ไม่ได้ใช้คำว่า “รื้อ” ทุกอย่างที่ไม่ดีออกหมด แต่เราต้องสร้างอะไรใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ เช่น เศรษฐกิจที่ผ่านมารัฐบาลพูดมาตลอดจีดีพีโตขึ้น 3-4% แต่คนรายได้น้อยไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดี

ดังนั้น เราอาจต้องมีการเปลี่ยนตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ ซึ่งยังไม่รู้คำตอบคืออะไร ที่จะต้องตอบโจทย์ทั้งเรื่องความเหลื่อมล้ำ สิ่งแวดล้อม ธรรมาภิบาลมากขึ้น เทรนด์โลกกำลังพูดถึง GPI (Genuine Progress Indicator) ที่เริ่มใช้ไป 20 กว่าประเทศ โดยปรับเพิ่มจากจีดีพี 10-20 ปัจจัย เช่น ความเหลื่อมล้ำ สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้สิ่งที่รัฐบาลพยายามพาเศรษฐกิจไปสอดคล้องกับความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างแท้จริง

พริษฐ์ อธิบายเพิ่มว่า การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี มีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ เข้ามาทำงานแทนมนุษย์มากขึ้น มีความเสี่ยงที่คนจะตกงาน ต้องหาทางที่จะรองรับตรงนี้ ซึ่งเวลานี้มีการพูดถึง ประกันรายได้พื้นฐาน Universal Basic Income รวมทั้งต้องรองรับสภาพสังคมผู้สูงวัยที่กำลังเกิดขึ้น ทำอย่างไรให้คนมีแรงจูงใจออมทรัพย์พอเลี้ยงชีพในวันข้างหน้า

"ผมจะไม่ยกมือให้นายกฯคนนอก" ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ

ถามถึงเรื่องการลงสมัครรับเลือกตั้ง พริษฐ์ อธิบายว่า ขึ้นอยู่กับพรรคว่าจะให้ลงระบบ เขต หรือบัญชีรายชื่อ แต่ถ้าเลือกได้อยากเริ่มต้นด้วย สส.เขต เพราะการเป็นผู้แทนของคนกลุ่มๆ หนึ่ง พื้นที่หนึ่ง มันเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ ได้สัมผัสประชาชนจริง ซึ่งตามกฎหมายเป็นคน กทม. ถ้ามีโอกาสก็อยากลงสมัคร สส.เขต กทม. แต่ยังไม่ได้มีการพูดคุยวางตัวกัน

ส่วนเรื่องความเป็นหลานอภิสิทธิ์ จะทำให้มองว่าเป็น “เด็กเส้น” เข้าสู่การเมืองง่ายกว่าคนอื่นหรือไม่นั้น ไอติม บอกว่า จุดแข็งของประชาธิปัตย์คือความเป็นประชาธิปไตย ผู้สมัครของประชาธิปัตย์ต้องรับรองโดยสมาชิก ไม่ใช่ว่าผมเป็นลูกหลานใครแล้วจะไปชี้นิ้วสั่งได้ ทุกอย่างเป็นกระบวนการของสมาชิกพรรค

“ตรงนี้มองได้หลายด้านไม่ได้พูดเฉพาะกรณีของคุณอภิสิทธิ์ความเป็นหลานก็ทำให้ได้เรียนรู้งานการเมืองได้ง่ายขึ้น แต่ข้อเสียก็คือจะถูกมองว่าความคิดเป็นของตัวเราเองหรือเปล่า ก็พยายามพูดแสดงความคิดความเห็นของตัวเองมาตลอดเพื่อให้เห็นว่ามาจากตัวเองจริงๆ ไม่ได้ซึมซับ หรือมาจากความเป็นลูกหลานใคร ตรงนี้เวลาจะช่วยพิสูจน์ และพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง ไม่มีใครไปชี้ได้ว่าจะได้ตำแหน่งอะไรได้” ไอติม กล่าวทิ้งท้าย