posttoday

หนุนเลิกสอบเข้า ป.1 หยุดยั้งพ่อแม่รังแกลูก

24 มีนาคม 2561

เป็นเรื่องฮือฮาที่คณะกรรมการอิสระปฏิรูปการศึกษาชงมาตราสำคัญของร่าง พ.ร.บ.การปฐมวัย ที่เสนอห้ามไม่ให้โรงเรียนมีการ “สอบแข่งขัน” เพื่อวัดผลความเป็นเลิศทางปัญญาในการกรุยทางเด็กอนุบาลเข้าเรียนต่อในชั้น ป.1

โดย...กันติพิชญ์ ใจบุญ 

เป็นเรื่องฮือฮาที่คณะกรรมการอิสระปฏิรูปการศึกษาชงมาตราสำคัญของร่าง พ.ร.บ.การปฐมวัย ที่เสนอห้ามไม่ให้โรงเรียนมีการ “สอบแข่งขัน” เพื่อวัดผลความเป็นเลิศทางปัญญาในการกรุยทางเด็กอนุบาลเข้าเรียนต่อในชั้น ป.1

เสียงแห่งความห่วงใยถึงข้อกังวลว่าการให้เด็กหนูน้อยวัยเพียง 5-6 ขวบ ที่ต้องเล่นและรู้จักตัวเองรู้จักความสนุกสนาน กลับแปรเปลี่ยนเป็นการอัดแน่นความรู้วิชาการเพื่อเตรียมพร้อมให้สู่สนามสอบเข้าโรงเรียนดังๆ ในชั้น ป.1

ขณะที่ความสุขของเด็กและเสียงของเด็ก พ่อแม่ผู้ปกครองอาจจะยังไม่เคยได้เหลียวหันมอง

นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ขยายความให้ฟังอย่างน่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องการแข่งขันสอบเข้า ป.1 โดยเจ้าตัวยืนยันว่าเป็นผลกระทบในแง่ลบกับเด็กโดยตรง หมอสุริยเดว ระบุว่า เด็กไม่ได้มีความต้องการอยากจะสอบแข่งขัน แต่นั่นเป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องการล้วนๆ และการสอบแข่งขันในเด็กปฐมวัยก็คือความล้าสมัยอย่างแท้จริง

“ควรยกเลิกการสอบในเด็กปฐมวัย เพราะตราบใดที่ผู้ปกครองมีความหวังว่าจะให้เด็กมีคุณธรรม เอื้อเฟื้อ รู้จักแบ่งปัน แต่เราเอาการแข่งขันแบบแพ้คัดออกมาฝังในเด็กอนุบาล ความหวังที่ว่าเราจะเห็นเป็นรูปร่างได้อย่างไร เด็กที่กำลังจะเติบโตต้องมาถูกความคิดเห็นแก่ตัวไว้ก่อน ต้องสอบให้ชนะคนอื่น ก็เท่ากับพ่อแม่รังแกฉัน และพ่อแม่จำนวน มากๆ เข้าก็กลายเป็นสังคมรังแกเด็กไปในทันที” นพ.สุริยเดว ให้ภาพ

นพ.สุริยเดว เสริมว่า เด็กทุกคนที่เกิดมาไม่ใช่ผ้าขาว เพราะเกิดมาก็ถูกพ่อแม่นำไปเปรียบเทียบกับลูกคนอื่นๆ ทันที ซึ่งถือเป็นวิธีเลี้ยงในปัจจุบันที่ผิดกับเด็กอย่างมาก และกลายเป็นว่าสร้างความเครียด ความกดดันให้กับเด็กผ่านการสอบ ผ่านการเรียนการสอน หากแต่วิธีการที่ถูกต้อง พ่อแม่ต้องเข้าใจว่า เด็กปฐมวัยคือวัยแห่งจินตนาการ การเลี้ยงดูควรเป็นไปในลักษณะบูรณาการประสาทสัมผัส ให้เด็กได้คิด ได้เล่น ได้สร้างสรรค์ และสนุกไปกับการเรียนรู้จากการเล่น แต่การเอาเด็กมาฝึกมาติวด้วยสมการต่างๆ สำหรับเด็กอนุบาลมันเกินไป

“พ่อแม่เคยถามเด็กบ้างหรือไม่ว่าอยากจะเข้าเรียนโรงเรียนดังๆ จริงหรือเปล่า หรือเป็นเพราะความต้องการของพ่อแม่ที่อยากอยู่ในกระแสสังคมเท่านั้น การปลูกฝังให้เด็กแข่งขันเพื่อชนะแล้วผลลัพธ์จะได้อะไร เด็กก็ต้องชนะไปเรื่อยๆ แล้วจะเอาความคิดสร้างสรรค์ที่ควรมีติดตัวมาจากไหน”

นพ.สุริยเดว ย้ำอีกว่า การสอบแข่งขันควรจะอยู่ในช่วงวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่ต้องการความท้าทาย อยากลอง และประลองกำลัง นี่คือวัยที่ควรจะมีการสอบ แต่ระดับเด็กปฐมวัย คือตั้งแต่ 0 ขวบ ไปถึง 8 ขวบ ไม่ควรจะต้องมีการแข่งขัน หรือแม้แต่ยกเลิกการให้เกรดคะแนนไปด้วยซ้ำ เพราะจะทำให้เด็กสนุกกับการเรียน ไม่ใช่เกลียดการเรียนเหมือนในทุกวันนี้

“เรากำลังผลิตเด็กให้อยู่ในสายพานของการทำงานในอนาคตแบบเดียวกัน เด็กจบออกมาก็ทำงานแบบเดียวกัน เคยแข่งขันกันมาก็จะแข่งขันกันไปตลอดชีวิต ความมุ่งหวังของผู้ปกครองที่ต้องการให้เด็กเข้าสู่ระบบวิชาการที่เป็นเลิศตามแต่ละโรงเรียนที่ขึ้นชื่อจึงเป็นการยัดเยียด ทั้งๆ ที่เราก็ไม่รู้ว่าเด็กต้องการจริงหรือไม่ ลองคิดดูหากเราผลิตหมอกันทั้งประเทศ อาชีพอื่นจะอยู่อย่างไร ใครจะขับเคลื่อนอาชีพอื่นกัน”

ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ให้ภาพอีกว่า เพราะพ่อแม่ผู้ปกครองมีความคิดที่เป็นความกลัว กลัวที่ว่าลูกหลานของตัวเองจะไม่เก่งเหมือนใครเขา กลัวฉลาดไม่เท่ากัน ซึ่งไม่ใช่ควมจริงเลย และคิดว่าถ้าได้โรงเรียนที่ดีที่ต้องการก็จะทำให้เด็กเก่ง ทั้งๆ ที่เด็กอาจไม่มีความสุข

“การสอบแข่งขันเพื่อเข้าเรียนแค่ชั้น ป.1 เป็นการยัดเยียดให้กับเด็กอย่างไม่ถูกต้อง รู้กันบ้างหรือไม่ว่าทุกวันนี้คนที่ออกข้อสอบให้กับเด็กอนุบาลเพื่อแข่งขันเข้า ป.1 ก็ยากขึ้นทุกวัน ไม่ใช่แค่บวกลบคูณหารแล้ว มันมีถึงการถอดสมการคณิตศาสตร์กันแล้ว คิดดูสิว่ามันเหมาะสมกับเด็กหรือไม่ เขาแทบไร้จินตนาการไปเลย” นพ.สุริยเดว ทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจ