posttoday

เปิดความเห็นสนช. กฎหมายสว.ไร้มลทิน

12 มีนาคม 2561

เปิดรายงานสรุปความเห็น "สนช." ที่ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงกระบวนการในการได้มาซึ่ง สว. ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

เปิดรายงานสรุปความเห็น "สนช." ที่ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงกระบวนการในการได้มาซึ่ง สว. ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

****************************** 

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ส่วนหนึ่งของรายงานการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ของคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วมกัน 3 ฝ่าย ได้สรุปความเห็นของ ผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงกระบวนการในการได้มาซึ่ง สว. ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มีเนื้อหาน่าสนใจดังนี้

1.การเปลี่ยนแปลงจำนวนกลุ่มการสมัครจาก 20 กลุ่ม เหลือเพียง 10 กลุ่ม

เมื่อวุฒิสภายังคงมีบทบาทที่สำคัญ โดยนอกจากหน้าที่และอำนาจโดยทั่วไปแล้วยังมีหน้าที่และอำนาจเฉพาะตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ เช่น หน้าที่และอำนาจ ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศและการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติให้เสนอและพิจารณาในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และการให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญมีการกำหนดวิธีการได้มาซึ่ง สว.ไว้เป็นพิเศษตามมาตรา 269 ซึ่งในมาตรา 269 (1) (ก) กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการเลือก สว. ตามมาตรา 107 จำนวน 200 คนตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. จึงเห็นว่าอาจกำหนดที่มาของ สว.ในบททั่วไปและบทเฉพาะกาลของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ ให้มีความแตกต่างกันได้ เพื่อเป็นการรองรับการปฏิบัติหน้าที่ของ สว.ในวาระเริ่มแรก

2.การแบ่งผู้สมัครในแต่ละกลุ่มออกเป็น 2 ประเภท และการให้ผู้สมัครแต่ละประเภทเลือกกันเอง

หลักการของผู้สมัคร สว. แบ่งออกเป็นผู้สมัครโดยอิสระและจากการเสนอชื่อโดยองค์กร ถือว่าผู้สมัครได้มีหลายช่องทางในการเข้าสมัครเพื่อได้รับเลือกจากผู้สมัครด้วยกันเอง ทั้งนี้ การสมัครโดยอิสระอย่างเดียวจะทำให้ไม่สามารถได้ตัวแทนที่แท้จริง เนื่องจากผู้สมัครที่เข้ามาสมัครเพื่อได้รับเลือกเป็น สว. จะมีทั้งผู้สมัครที่ประสงค์สมัครเพื่อได้รับเลือกและอาจมีผู้สมัครที่ไม่ได้ประสงค์ได้รับเลือก

กรณีของผู้สมัครที่ได้รับการเสนอชื่อจากองค์กร ย่อมถือเป็นตัวแทนของกลุ่มวิชาชีพต่างๆ โดยในองค์กรจะมีการจัดประชุมใหญ่เพื่อคัดกรองข้อมูลในองค์กรสำหรับพิจารณาคัดเลือก และจะทำให้ได้ผู้สมัครที่เป็นตัวแทนขององค์กรวิชาชีพนั้นๆ กรณีนี้จึงถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งของผู้สมัคร กล่าวได้ว่าเป็นการเพิ่มโอกาสให้ประชาชนในการสมัครโดยอิสระ หรือเป็นตัวแทนจากองค์กรทั้งจากพื้นที่และกลุ่มอาชีพ

อย่างไรก็ตาม ช่องทางของผู้สมัครโดยอิสระย่อมจะมีการตกลงสมยอมกันได้ทุกขั้นตอนในกระบวนการเลือก แต่ช่องทางของผู้สมัครที่มาจากการเสนอชื่อขององค์กรอาจมีการตกลงสมยอมกันได้ แต่ก็ไม่อาจทำได้ทุกขั้นตอน เนื่องจากฝ่ายการเมืองอาจแทรกแซงองค์กรต่างๆ ได้น้อยกว่าผู้สมัครอิสระ

นอกจากนี้ ประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้อง กรณีบทเฉพาะกาล มาตรา 269 (1) (ค) ของรัฐธรรมนูญกำหนดว่า “ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติคัดเลือกผู้ได้รับเลือกตาม (ก) จากบัญชีรายชื่อที่ได้รับจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้ได้จำนวน 50 คน และคัดเลือกรายชื่อสำรองจำนวน 50 คน โดยการคัดเลือกดังกล่าวให้คำนึงถึงบุคคลจากกลุ่มต่างๆ อย่างทั่วถึง...”

กรณีดังกล่าว คสช.จะคัดเลือกจากบัญชีรายชื่อที่ได้รับจากคณะกรรมการการเลือกตั้งให้ได้ 50 คน และคัดเลือกจากบัญชีสำรอง 50 คน แต่การคัดเลือกต้องคำนึงถึงบุคคลกลุ่มต่างๆ อย่างทั่วถึง ซึ่งสอดคล้องกับมาตรา 93 ของร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ แม้มาตราดังกล่าวจะไม่ได้กำหนดให้เลือกแต่ละกลุ่มในจำนวนเท่าใด แต่การเลือกต้องคำนึงถึงบุคคลในกลุ่มต่างๆ อย่างทั่วถึงตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ รวมถึงการเลือกเพื่อขึ้นบัญชีสำรองก็เช่นเดียวกัน

3.การยกเลิกการเลือกไขว้

ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 กำหนดว่า “วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 200 คน ซึ่งมาจากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงาน หรือเคยทำงานด้านต่างๆ ที่หลากหลายของสังคม โดยในการแบ่งกลุ่มต้องแบ่งในลักษณะที่ทำให้ประชาชนซึ่งมีสิทธิรับเลือกทุกคนสามารถอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้”

รัฐธรรมนูญได้กำหนดโดยวิธีการเลือกกันเอง หรือวิธีการอื่นใดที่ผู้สมัครรับเลือกมีส่วนร่วมในการคัดกรองก็ได้ ซึ่งวิธีการที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเสนอ คือ การเลือกกันเองและการเลือกไขว้ เพราะเห็นว่าการเลือกไขว้จะทำให้การตกลงสมยอมกันกระทำได้ยาก แต่ สนช.เห็นว่าการเลือกไขว้ย่อมจะเป็นประโยชน์ต่อผู้สมัครที่มีการตกลงสมยอมกัน

แม้ว่าการเลือกไขว้จะทำให้วิธีการเลือกยากขึ้นในระดับหนึ่งและมีความซับซ้อน ซึ่งหากพิจารณาแล้วผู้สมัครอิสระหรือตัวแทนขององค์กรที่ส่งผู้สมัครคนเดียวจะเกิดความเสียเปรียบในวิธีการเลือกไขว้ เพราะเป็นไปได้ยากที่ผู้สมัครกลุ่มหนึ่งจะเลือกอีกกลุ่มหนึ่ง ดังนั้น จึงไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้สมัครโดยอิสระที่แท้จริงและไม่เป็นการป้องกันการตกลงสมยอมกันมาก่อนได้