posttoday

คดีล่าสัตว์ ต้องจัดการให้ถึงที่สุด

24 กุมภาพันธ์ 2561

จากกรณีของ เปรมชัย กรรณสูต ซีอีโอบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ยักษ์ใหญ่ด้านก่อสร้างของประเทศ พร้อมพวกตกเป็นผู้ต้องหาคดีล่าสัตว์ป่า ยังคงเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสำคัญ

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

จากกรณีของ เปรมชัย กรรณสูต ซีอีโอบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ยักษ์ใหญ่ด้านก่อสร้างของประเทศ พร้อมพวกตกเป็นผู้ต้องหาคดีล่าสัตว์ป่า ยังคงเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสำคัญ

เพราะสิ่งหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือ "เกมการล่าสัตว์" ยังคงมีอยู่ในประเทศไทย ทั้งจากคนในพื้นที่ที่อาจล่าเพื่อยังชีพ หรือผู้มากบารมีเศรษฐีที่อาจล่าเพื่อความมันและอยากลิ้มรสสัตว์ป่า

ขณะที่เส้นขนานควบคู่ไปกับความเป็นมนุษยธรรม ที่บางส่วนอ้างถึงความชอบธรรมของการล่าว่า มันคือเกมกีฬา หรือบางประเทศอาจกระทำให้ถูกกฎหมายตามแต่ละเหตุผล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการท่องเที่ยวที่เอาชีวิตสัตว์มาดึงดูด หรือแม้แต่การฆ่าเพื่อจำกัดจำนวนประชากรสัตว์ป่า

เฉกเช่นการเล่าผ่านประสบการณ์ของ เอ็ดวิน วีค เลขาธิการมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า ที่เดินทางมาทำงานเพื่อสัตว์ป่าในประเทศไทยกว่า 20 ปี ให้ภาพเปรียบเทียบกับคำว่ากีฬา และการล่าสัตว์กับกรณีของเปรมชัย แน่นอนคำตอบคือ เมื่ออยู่ภายใต้กฎหมายประเทศนั้นๆ กรณีของเปรมชัยที่ตกเป็นผู้ต้องหา ก็มีความผิดอย่างชัดเจน เพราะการล่าในประเทศไทยไม่ใช่เกมกีฬา แต่เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ซึ่งต้องดำเนินคดีให้ถึงที่สุด

เอ็ดวิน ให้ภาพว่า บางประเทศในทวีปแอฟริกา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ป่า แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลบางประเทศก็ให้สิทธิในการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินภายในป่า และแน่นอนว่าเจ้าของที่ดินที่อยู่ในผืนป่าก็เป็นคนระดับมหาเศรษฐี และสิ่งหนึ่งที่ชื่นชอบคือการเลี้ยงสัตว์ป่านานาชนิด เลี้ยงไว้เพื่อให้ตัวเองได้ออกล่า ได้ฆ่าอย่างสนุกมือ ขณะเดียวกันก็ยังเป็นเรื่องที่ถูกกฎหมายในประเทศนั้นๆ

"บางประเทศในแถบบ้านเรา เมื่อราว 3 ปีก่อน ที่กัมพูชามีแผนจะเปิดพื้นที่ป่าในประเทศตนเอง และปล่อยสัตว์ป่าเข้าไปเต็มพื้นที่เพื่อจัดเป็นพื้นที่ล่าสัตว์ จะเรียกนักท่องเที่ยวที่นิยมการล่าสัตว์ป่าเข้าไปล่าได้อย่างสะดวกสบาย เรียกว่าจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวของประเทศเขา ขณะเดียวกันก็ต้องการสร้างสวรรค์ของการล่าสัตว์ในพื้นที่ ซึ่งหากเขาทำเป็นกฎหมายนักอนุรักษ์สัตว์ป่าก็แทบจะเข้าไปเรียกร้องอะไรไม่ได้เลย การล่าคือผิด และบาป แต่เขากำลังทำให้ถูกกฎหมาย" เลขาธิการมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า ยกตัวอย่าง

อย่างไรก็ตาม การฆ่าสัตว์ป่าก็ยังมีอีกหลายเหตุผลที่สมควรกระทำ แต่ต้องเป็นสาเหตุที่จำเป็นจริงๆ ซึ่ง สมโภชน์ มณีรัตน์ โฆษกกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สะท้อนว่า ต้องเข้าใจความหมายของคำว่า "การจัดการสัตว์ป่า" กันก่อน การจัดการที่ว่านี้ไม่ได้หมายความถึงว่า "การเก็บสัตว์ป่า" แต่การจัดการที่ระบุในตำราคือการควบคุมประชากรสัตว์ให้สมดุลกับระบบนิเวศ นั่นก็คือการฆ่าเพื่อรักษาความสมดุล

"ในตำราจะเขียนไว้เลยว่ามันคือ เกม เกมในที่นี้หมายถึงการเอาออก การจัดการสัตว์ป่า เพราะหากมีสัตว์ป่าที่มากเกินกว่าพื้นที่จะรองรับได้ ประชากรสัตว์ก็จะรุกล้ำและเข้าไปทำลายพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่อาศัย ซึ่งบางประเทศที่เกิดปัญหาสัตว์ล้นระบบนิเวศก็ต้องจัดการ แน่นอนคือการฆ่า" สมโภชน์ ให้ภาพ

กระนั้นการเอาออกหรือการจัดการสัตว์ป่าตามนิยามที่สมโภชน์ให้ความกระจ่าง ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบและกฎหมายของแต่ละประเทศนั้นๆ ซึ่งจะระบุชัดเจนว่าผู้ที่จะเข้าไปล่าด้วยเหตุผลดังกล่าว จะต้องเสียค่าธรรมเนียม และมีการระบุเวลาล่าที่ชัดเจนว่าอยู่ในห้วงเวลาใดได้บ้าง แต่ละคนล่าได้กี่ตัว และต้องล่าเพศใดบ้าง

โฆษกกรมอุทยานแห่งชาติฯ สะท้อนว่า ในประเทศไทยสัตว์ป่าไม่ได้มากถึงขนาดที่ต้องจัดการ ตรงกันข้ามยังมีจำนวนที่น้อยเมื่อเทียบกับพื้นที่ป่า ขณะเดียวกันการเพิ่มประชากรสัตว์ป่าก็ยากเย็นแสนเข็ญอยู่แล้ว ยิ่งหากแอบลักลอบเข้าไปล่ากันอีก ก็ยิ่งเพิ่มปัญหาให้หนักขึ้น

"บ้านเรายังทำไม่ได้ เพราะ สถานการณ์ยังไม่ถึงขั้นนั้น ประชากรสัตว์ป่าน้อย ระบบนิเวศประเทศไทยขาดความอุดมสมบูรณ์ ห่วงโซ่อาหารมันเจ๊งกันไปหมด หลายครั้งเข้าป่าเจอแต่ต้นไม้ไม่เจอสัตว์ป่า หรือเจอแต่สัตว์กินพืชขนาดเล็ก สัตว์ผู้ล่าอย่างเสือแทบจะไม่เห็น เราเสียระบบไปแล้ว เพราะไม่มีตัวควบคุมประชากรกันเอง ซึ่งก็คือสัตว์ ผู้ล่า" สมโภชน์ ย้ำ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สมโภชน์ทิ้งท้ายเอาไว้ซึ่งเป็นทางออก และเป็นหัวใจหลักของการเพิ่มประชากรสัตว์ป่า คือการหยุดล่า และขณะเดียวกันก็ต้องรักษาผืนป่าเอาไว้ให้ได้ เพราะหากปล่อยป่าให้เสียหาย การเพิ่มประชากรสัตว์ป่าก็ยิ่งยาก