posttoday

นักวิชาการวิพากษ์มาตรา7 ประเพณีการปกครอง กับการผ่าตันของการเมืองไทย

20 กุมภาพันธ์ 2561

เสียงจากเวทีเสวนาวิชาการบทวิเคราะห์มาตรา 7 จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2540 ถึงรัฐธรรมนูญปัจจุบัน จากมุมมองทางรัฐศาสตร์

โดย...เอกชัย จั่นทอง

ความงุนงงเกี่ยวกับกฎหมายเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 คืออะไร แล้วจะใช้ได้เมื่อได้ และขอบเขตการใช้อยู่ที่สถานการณ์ หรือบริบทแบบไหน จึงสามารถใช้ได้ แล้วจะเป็นบรรทัดฐานของการใช้หรือไม่ใช้ มาตรา 7  หรือไม่ ล้วนเป็นคำถามที่ยังไม่ชัดเจนในการคำตอบ ซึ่งในเวทีเสวนาวิชาการเปิดตัวหนังสือ ประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข บทวิเคราะห์มาตรา 7 จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2540 ถึงรัฐธรรมนูญปัจจุบัน จากมุมมองทางรัฐศาสตร์ โดยเวทีอภิปรายถกเถียงในประเด็นมาตรา 7 อย่างน่าสนใจตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน

ศาสตราจารย์ ดร.ไชยันต์  ไชยพร หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ เผยบางช่วง บางตอนว่า  สาเหตุที่ทำให้สนใจเกี่ยวกับเรื่องประเพณีการปกครองฯ จากเหตุความขัดแย้งทางการเมืองช่วงการเมืองถึง 2 ครั้ง คือในปี 2549 และปลายปี 2556-2557 ซึ่งมีการถกเถียงถึงกลไกการใช้รัฐธรรมนูญ ในการแก้ไขปัญหาทางการเมือง โดยมีทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้านถึงการใช้อำนาจมาตรา 7 นั้นสามารถทำได้หรือไม่ เพื่อยุติความขัดแย้งหวังให้การเมืองไทยสามารถเดินหน้าต่อไปได้ และไม่แน่ชัดว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้เกิดรัฐประหาร เมื่อปี 2549 หรือไม่

นอกจากนี้ เพื่อยุติการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์เข้าสู่ความขัดแย้งทางการเมืองหรือไม่ และหากไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการจะทำได้หรือไม่ รวมถึงเรื่องพระราชอำนาจที่มีการข้อถกเถียงอย่างเข้มข้นว่ามีการดึงสถาบันเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งตกลงแล้วคำตอบผิดและถูกจริงๆคืออะไร

“อย่างของประเทศอังกฤษ พบว่าการใช้พระราชอำนาจนั้นสามารถใช้ได้ แม้จะไม่มีผู้ใดรับสนองพระบรมราชโองการ โดยหลักการสำคัญของการใช้พระราชอำนาจนั้น เพื่อให้การเมืองเดินหน้าต่อไปโดยไม่เกิดทางตัน ส่วนของประเทศไทยหากฝ่ายบริหารไม่เหลืออยู่แม้สักคน พระราชอำนาจหรือมาตรา 7 นั้นก็ยังสามารถใช้ได้เช่นกัน ทำให้เห็นชัดเจนว่าเมื่อเกิดวิกฤตแล้วยังมีที่แหล่งรวมศูนย์รวมใจในยามเกิดวิกฤต”

ขณะเดียวกัน นักวิชาการคนเดิม ยังกล่าวถึงรัฐธรรมนูญปี 2560 ว่า ถ้าหากมีเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้วอำนาจจะอยู่ที่ประชาชน แต่สมาชิกวุฒิสภา หรือสว. มาจากการแต่งตั้งไม่มาจากการเลือกตั้ง จึงแสดงให้เห็นว่าประชาธิปไตยของไทยระบบศูนย์ให้อำนาจอยู่ที่คณะบุคคลที่ไม่ยึดโยงโดยตรงกับการเลือกตั้ง เพราะอาจมีประสบการณ์ที่ให้ สว.ไม่ผ่านการเลือกตั้ง ได้วุฒิสภาผัว-เมียสภา ทำให้การทุ่มน้ำหนักเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว.ต้องปรับตัวให้มีส่วนผสมที่ถ่วงดุลกันได้ และควรเลิกพูดเรื่องประชาธิปไตยแบบสมบูรณ์ เนื่องจากไม่มีที่ไหนในโลกใบนี้ที่มีประชาธิปไตยแบบสมบูรณ์ แต่เป็นประชาธิปไตยแบบผสม

ทั้งนี้ ไชยยันต์ ยังแสดงความเห็นว่า หากการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้วมีปัญหาไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ไม่ว่าจะนายกคนนอกหรือนายกคนใน ขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่กำหนดระยะเวลาให้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี ดังนั้นเมื่อปล่อยเวลาผ่านไปนานเกินไป อาจกลับไปใช้ประเพณีการปกครองคือการยุบสภาก็ได้

จึงเกิดคำถามว่า ใครจะยุบสภา หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จะประกาศยุบสภาที่มาโดยการเลือกตั้งจะทำได้หรือไม่ หรืออาจใช้กรณีที่ว่า ใช้คนที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด แต่ไม่ถึง 376 เสียง หรือเกินครึ่งของเสียงในรัฐสภา ทูลเกล้าฯ ทำให้เราจะได้นายกรัฐมนตรี เสียงข้างน้อย

“ถ้าหากเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจะต้องอ้างการวินิจฉัยตามประเพณีการปกครอง ซึ่งจะนำไปสู่การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ หรือเราจะยอมรับให้ นายกรัฐมนตรีที่ไม่มาจากการเลือกตั้งมีสิทธิ์ยุบสภาได้ ส่วนตัวผมมองว่า ถ้านายกฯจะยุบสภาได้ต่อไปหรืออนาคตควรแก้ไขกฎหมายเขียนระบุเลยว่า การยุบสภาได้ต้องมีเงื่อนไขอะไรที่ยุบได้ไม่ได้ดีหรือไม่ ที่สำคัญถ้าไม่จำเป็นอย่าไปอ้างประเพณีการปกครองเลย ควรอยู่ในกฎหมายกติกามากกว่า”

ทั้งนี้ อาจารย์ไชยันต์ วาดหวังไว้ว่า อยากให้มีการเข้าไปพูดคุยเรื่องประเพณีการปกครองฯไปสู่ประชาชน เพื่อไม่เกิดการกระจุกตัวอยู่แค่นักวิชาการ นักกฎหมายเท่านั้น เพราะถ้าคนหมู่มากไม่ยอมรับประเพณีนั้นก็ถือไม่มีความหมายอะไร

นักวิชาการวิพากษ์มาตรา7 ประเพณีการปกครอง กับการผ่าตันของการเมืองไทย

เช่นเดียวกับ นรนิติ เศรษฐบุตร สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550  ตีความมาตรา 7 ว่า ความขัดแย้งถกเถียงเรื่องการใช้อำนาจมาตรา 7 นั้น ส่วนตัวมองว่า ถ้าเรื่องความขัดแย้งใดเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญควรให้ศาลธรรมนูญเป็นผู้พิจารณา คดีต้องสิ้นสุดยุติที่ศาลธรรมนูญ แม้ใครจะวิพากษ์วิจารณ์อย่างไรก็ตาม แต่เรื่องควรจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ

“ทุกอย่างถ้าถึงทางตัน ตีความแล้วตัน ตีทำไม เพราะต้องการให้เดินหน้าต่อไปได้ ทุกคนมีสิทธิ์ตีความหมด แต่ยังไงก็ควรไปสิ้นสุดที่ศาลรัฐธรรมนูญ ราชประเพณีถ้ามันไม่ยุติธรรมก็ควรให้ศาลรัฐธรรมนูญ” นรนิติ ให้แง่คิด

นอกจากนี้ นรนิติ ยังมองมาตรา7 เป็นยารักษาทั่วไป ถ้าไม่มีทางออกก็ต้องใช้ วันหนึ่งไม่มีนายกรัฐมนตรียังไงก็ต้องใช้มาตรา 7 แต่สิ่งที่คนเราไปเน้นคือการขอนายกฯพระราชทาน ซึ่งเชื่อว่ามาตราดังกล่าวนี้จะช่วยเปิดทางตันแก้วิกฤติทางการเมืองได้ และรวมถึงวิกฤตปัญหาต่างๆอีกมากมาย ซึ่งไม่ใช่คำตอบประเด็นการยุบสภาเท่านั้น

“มาตราดังกล่าวสามารถอธิบายการเมืองไทยในภาวะคับขันได้ มีทางออกแน่นอน และต้องยอมรับทางออกที่เกิดขึ้น ถามว่าจะตันเพื่ออะไร เพื่อให้เกิดกลียุคหรือไม่”นักวิชาการทิ้งคำถาม

ขณะที่ วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ระบุที่ผ่านมาว่า เชื่อว่าข้อมูลข้อเสนอทั้งหมดอาจใช้กับเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น การมีหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาจะไม่ใช่เอกสารทางวาทกรรม แต่เป็นมุมมองทางรัฐศาสตร์ที่ใช้ในตอนที่เกิดปัญหาขึ้นทางการเมือง นี่คือเจตนาในการทำหนังสือเพื่อให้เกิดความกระจ่างชัดมากยิ่ง

สอดรับกับ สมบูรณ์  สุขสำราญ อุปนายกราชบัณฑิตยสภา ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า ต้นทุนการเมืองการปกครองมีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งเรื่องดังกล่าวผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างยิ่ง ถ้ามีความจำเป็นจริงๆพระมหากษัตริย์สามารถตัดสินใจใช้มาตรา 7 ได้ สิ่งหนึ่งที่คิดว่าน่าจะเป็นตัวอย่างสำคัญเพื่อใช้ในการศึกษาทางการเมืองการปกครองต่อไป

“หนังสือเล่มนี้ให้ความสำคัญต่อการเมืองประเพณีการปกครองฯซึ่งมีความสำคัญมาก การปกครองที่ลอยจากพื้นที่ต้นทุนทางการเมืองและสังคมจะมีปัญหา สิ่งที่เข้าใจประเพณีการปกครองสำหรับประเทศไทยคิดว่ามีลักษณะ “กษัตราประชาธิปไตย” ถ้าไม่มีสถาบันกษัตริย์ พระมหากษัตริย์ เราจะดำรงอยู่ได้อย่างไร” สมบูรณ์ระบุ

อย่างไรก็ตาม สถาบันพระมหากษัตริย์ จะยังคงอยู่คู่ไปอีกนาน เพราะเราได้ผ่านพ้นวิกฤตมาแล้วหลายครั้ง โดยไม่ต้องใช้มาตรา7 อันด้วยพระบารมีของสถาบันพระมหากษัตริย์ และต้นทุนทางสังคมวัฒนธรรมที่เรายึดถือกันมานาน และส่วนตัวเห็นว่าความจงภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ของประชาชนมีสูงมาก